...

วัดบูรพาราม
วัดบูรพาราม อยู่ที่ถนนเขื่อนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จากประวัติ วัดบูรพาราม ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เดิมเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์สายวิปัสสนา ภายหลังกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ได้บริจาคทรัพย์และที่ดินสร้างวัดบูรพาราม เพื่อถวายพระสีทา ชยฺเสโน เจ้าอาวาสลำดับที่ ๑ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินทางจากวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร มาเรียนวิปัสสนาที่วัดบูรพาราม จากประวัติวัดและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม สร้างขึ้นไม่เก่าไปกว่า พ.ศ. ๒๔๓๖ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถ (สิม) และหอไตร วัดบูรพาราม
. อุโบสถ (สิม) เป็นสิมโปร่งแบบพื้นถิ่นอีสาน คือ สิมที่ไม่ก่อผนังปิดมิดชิด ยกเว้นเฉพาะผนังด้านหลังพระประธาน เป็นอาคารขนาด ๓ ห้อง หันหน้าลงทางทิศใต้ ส่วนชุดฐานบัว (เอวขัน) ก่ออิฐถือปูน ผนังเป็นโครงไม้ขึ้นรูปด้วยดินเหนียวผสมฟางข้าวสับละเอียดและแกลบข้าว ฉาบผิวด้วยน้ำปูน มีเสาไม้รองรับเครื่องหลังทรงจั่ว ในอดีตน่าจะมุงด้วยแป้นเกล็ดไม้หรือกระเบื้องดินเผา ด้านหน้ามีพาไลและบันไดทางขึ้น ใน พ.ศ. ๒๕๖๒ กรมศิลปากรร่วมกับวัดบูรพาราม ดำเนินการบูรณะอุโบสถ (สิม) หลังนี้ด้วยการทำหลังคาใหม่ครอบอาคารเดิมไว้ เพื่อประโยชน์การใช้งานตามความต้องการของทางวัดและชุมชน และแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๖๓
. หอไตร สร้างด้วยไม้ยกพื้นสูง ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี ๒ หลัง ตั้งเรียงกัน เดิมมีชานพักเชื่อมอาคารทั้งสองหลัง โครงสร้างหอไตรแต่ละหลังใช้เสาไม้กลม ๘ ต้น รับน้ำหนักหลังคาทรงจั่ว ตีฝาทึบด้วยไม้ระแนงเป็นลายก้างปลา ด้านข้างมีช่องหน้าต่าง ๓ ช่อง เฉพาะด้านที่เคยมีชานพักเชื่อมไม่มีหน้าต่าง ด้านหน้าและหลังมีช่องหน้าต่าง ๑ ช่อง บันไดทางขึ้นอยู่ใต้อาคาร โดยใช้วิธีเปิดบานประตูขึ้นด้านบน หอไตรได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และ พ.ศ. ๒๕๖๓ มีการซ่อมบำรุงในส่วนที่ชำรุดตามสภาพ
. กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานวัดบูรพาราม ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๑๒๔ง หน้า ๗ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ พื้นที่ประมาณ ๒ งาน ๗๖ ตารางวา
------------------------------------------
+++อ้างอิงจาก+++
. กองพุทธศาสนสถาน, กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๔. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,
๒๕๓๘. หน้า ๒๑๘
. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์
และภูมิปัญญาจังหวัดอุบลราชธานี. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, ๒๕๔๔.หน้า ๑๓๖-๑๓๗
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

(จำนวนผู้เข้าชม 1706 ครั้ง)


Messenger