...

วัดนรวราราม
วัดนรวราราม หมู่ ๘ บ้านหนองโอ ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มีสิ่งสำคัญ คือ อุโบสถ (สิม) วัดนรวราราม เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอิทธิพลญวน (เวียดนาม) กำหนดอายุการก่อสร้างจากศักราชที่ระบุไว้ที่หน้าบันด้านหน้าอุโบสถ (สิม) ว่า พ.ศ. ๒๔๗๑
. อุโบสถ (สิม) ตัวอาคารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๔ เมตร มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าผายออก ราวบันไดทำเป็นพญานาคศิลปกรรมแบบอีสานพื้นถิ่น ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด ๓ ห้อง มีมุขโถงด้านหน้าและราวโดยรอบมุขโถงทำเป็นเสาหลอกประดับวงโค้ง เหนือวงโค้งประดับกระจกเป็นลายริ้วสีเหลือง แดง เขียว และกระจกเงาทรงกลมในกรอบขนาดเล็ก ส่วนหน้าบันด้านหน้าเขียนสีรูปพญาครุฑในกรอบวงโค้งประดับเสาหลอก สองฝากข้างเขียนลายต้นไม้ บานประตูอุโบสถเป็นไม้แกะสลักนูนต่ำลายพันธุ์พฤกษา เหนือประตูเป็นซุ้มโค้งเขียนลายเส้นรูปดอกบัวและดอกไม้ประดับกระจกเงาเป็นวงกลมขนาดเล็ก ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๑ ช่อง ฝ้าเพดานทำด้วยไม้ หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนกัน ๓ ชั้น มุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ครอบหลังคาทำด้วยไม้แกะสลักไว้กึ่งกลางสันหลังคา โหง่ว (ช่อฟ้า) เป็นรูปหัวหงส์ ใบระกา และหางหงส์ทำเป็นรูปนาค แผงปิดคอสองแกะสลักเป็นรูปพญานาค รูปบุคคล รูปดอกไม้ กลางดอกไม้ประดับกระจกเงาวงกลมและทาสี เชิงชายแกะสลักเป็นรูปนาคเกี้ยวและทาสี ภายในอุโบสถมีพระประธานปูนปั้นฝีมือช่างท้องถิ่น
. กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี (สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ได้จัดสรรงบประมาณมาดำเนินการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ และอุโบสถ(สิม) วัดนรวราราม ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๑๒๖ง วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ขอบเขตพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ ๘๕ ตารางวา
-------------------------------------------------------------------
+++อ้างอิงจาก+++
. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดมุกดาหาร. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔. หน้า ๑๔๖.
. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จังหวัดมุกดาหาร. เอกสารอัดสำเนา
, ๒๕๕๒.
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

(จำนวนผู้เข้าชม 1276 ครั้ง)


Messenger