วัดมโนภิรมย์
วัดมโนภิรมย์ หมู่ ๑ บ้านชะโนด ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร วัดมโนภิรมย์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยท้าวคำสิงห์และญาติพี่น้องรวมทั้งบริวารที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งลาว พร้อมกับการตั้งบ้านชะโนด เดิมชื่อวัดใช้ชื่อเดียวกับชื่อหมู่บ้านและชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่านพื้นที่ทางทิศเหนือลงสู่แม่น้ำโขงทางทิศตะวันออก แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมโนภิรมย์ ส่วนวิหารสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ นับเป็นแม่แบบของงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมท้องถิ่นที่สำคัญสำหรับใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ศิลปะท้องถิ่นอีสาน สิ่งสำคัญที่ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ได้แก่ วิหาร
. วิหาร ตามประวัติระบุว่า สร้างขึ้นราว พ.ศ.๒๒๙๖ โดยอาจารย์โชติ อาจารย์ขะ และอาจารย์โมข ช่างจากเวียงจันทร์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๙.๔๕ เมตร ยาว ๑๖.๓๕ เมตร สูงประมาณ ๙.๖๓ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานเป็นชุดฐานบัวงอนลูกแก้วอกไก่เตี้ย ๆ ตัวอาคารแบ่งออกเป็น ๕ ช่วงเสา โดยช่วงเสาแรกเป็นมุขโถงด้านหน้า มีบันไดทางขึ้น ๓ ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านข้าง ๒ ข้าง ราวบันไดประดับปูนปั้นรูปสัตว์ศิลปกรรมท้องถิ่น ห้องวิหารมีขนาด ๔ ช่วงเสา ประตูทางเข้าเป็นบานไม้ เหนือกรอบประตูประดับลายปูนปั้นสวยงาม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นนาคปรกปางมารวิชัยเป็นประธานบนฐานชุกชี
ส่วนภายนอก หน้าบันด้านหน้าประดับไม้สลักลวดลาย เสาวิหารทาสี หัวเสาประดับบัวปูนปั้น ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผา กลางสันหลังคาประดับเจดีย์จำลอง มีโหง่ว(ช่อฟ้า)รูปหัวหงส์ ใบระกาและหางหงส์ม้วนงอนประดับ ทุกช่วงเสาทั้ง ๒ ด้าน ประดับคันทวยหูช้างเป็นไม้สลักลายรองรับชายหลังคา ผนังด้านข้างทำช่องแสงลูกมะหวด ๓ ช่วงเสา ส่วนช่วงเสาท้ายวิหารทำเป็นประตูทางเข้า-ออกด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ผนังด้านหลังวิหารก่อปิดทึบ ส่วนหน้าบันด้านหลังทำช่องแสงรูปสี่เหลี่ยมไม่ประดับลวดลายปูนปั้น
. กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี (สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ในปัจจุบัน) ได้ดำเนินการบูรณะวิหารและศาลาการเปรียญวัดมโนภิรมย์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔ และกรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดมโนภิรมย์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๓๐ วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๕ ระวางแนวเขตโบราณประมาณ ๑ ไร่ ๓๔ ตารางวา
--------------------------------------------------
++++อ้างอิงจาก++++
. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดมุกดาหาร. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔. หน้า ๑๔๓.
. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จังหวัดมุกดาหาร. เอกสารอัดสำเนา
, ๒๕๕๒.
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
(จำนวนผู้เข้าชม 3455 ครั้ง)