บ้านตาดทอง ชุมชนโบราณมีคูน้ำคันดิน
-----ชุมชนบ้านตาดทอง หมู่ ๑ ตั้งอยู่ใน ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๕ กิโลเมตร ทิศเหนือติดกับตำบลสิงห์ ทิศตะวันออกติดกับตำบลหนองคู ทิศตะวันตกติดกับตำบลในเมือง และ ตำบลเขื่องคำ ทิศใต้ติดกับตำบลขุมเงิน เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีบ้านเรือนไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ หลังคาเรือน (หมู่ ๑) พื้นที่ในบริเวณทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นพื้นที่นา ตัวหมู่บ้านห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำชี ห่างจากหมู่บ้านไปทางตะวันตกประมาณ ๖ กิโลเมตร ลำน้ำกว้าง ห่างจากหมูบ้านไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร และ ห้วยถ่มห่างจากหมูบ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร
-----ชุมชนบ้านตาดทอง ตั้งอยู่บนเนินดินซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ ปรากฏร่องรอยของคูน้ำคันดิน ล้อมรอบ ๒ ชั้นอย่างชัดเจน โดยที่ลักษณะของคูน้ำทั้ง ๒ ชั้น มีลักษณะเป็นร่องน้ำอยู่ตรงกลางและมีคันดินขนาบข้าง ดังนี้
------ชั้นใน มีลักษณะแผนผังรูปวงรี ล้อมรอบเนินดินของหมู่บ้าน มีขนาดกว้างที่สุดประมาณ ๔๘๐ เมตร และยาวที่สุดประมาณ ๕๓๐ เมตร
-----ชั้นนอก มีลักษณะแผนผังคล้ายรูปสี่เหลี่ยมมุมมน วางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือ – ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขนาดกว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๙๔๐ เมตร สันนิษฐานว่าเป็นแนวคูน้ำที่สร้างมาในระยะหลัง และขยายตัวออกจากคูน้ำชั้นใน โดยการขุดคูน้ำและสร้างคันดินต่อเนื่องออกมาในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
-----คูน้ำ ที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน คือ คูน้ำด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ กว้างประมาณ ๒๐ - ๔๐ เมตร
-----คันดิน จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ ยังคงปรากฎร่องรอยของคันดินที่ทางด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันตกเท่านั้นและมีสภาพไม่สมบูรณ์
ปัจจุบันชุมชนโบราณบ้านตาดทองถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน เนื่องจากมีทางหลวงหมายเลข ๒๓ ตัดผ่านกลางเมือง
-----จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศ และการศึกษาทางโบราณคดี ทำให้พบหลักฐานชุมชนโบราณมีคูน้ำ คันดินล้อมรอบ จำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งลักษณะชุมชนที่มีคูน้ำคันดินชั้นเดียว และชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบหลายชั้น
-----ชุมชนโบราณบ้านตาดทองถือเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบหลายชั้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ลักษณะของชุมชนประเภทนี้พบได้น้อยมากมักพบว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ห่างไกลกัน เป็นชุมชนที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและเจนละ (อายุประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว) ชุมชนโบราณประเภทนี้ ได้แก่ เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น
-----ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชุมชนโบราณบ้านตาดทองเป็นแหล่งโบราณคดีที่นักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้ความสนใจ จะขอกล่าวถึงในรายละเอียดในตอนต่อไป (ติดตามต่อไปในเรื่อง บ้านตาดทอง ประวัติการทำงานที่ผ่านมา)
+++นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ ผู้เรียบเรียง+++
-----ข้อมูลจาก ๑. สุรพล ดำริห์กุล.(๒๕๔๙). แผ่นดินอีสาน. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.
๒. ชินณวุฒิ วิลยาลัย.(ไม่ระบุปีพ.ศ.) ชุมชนโบราณบ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร(เอกสารอัดสำเนา).
๓. นายพงษ์พิศิษฏ์ กรมขันธ์, นายสาริศ วัฒนากาล.(๒๕๖๒) รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีโบราณสถานธาตุตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร(เอกสารอัดสำเนา). สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
(จำนวนผู้เข้าชม 1894 ครั้ง)