...

อาคารเก่าริมฝั่งโขงเมืองนครพนม (ตอนที่ ๒)

อาคารเก่าริมฝั่งโขงเมืองนครพนม (ตอนที่ ๒)

ในครั้งนี้ขอนำเสนออาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเลียบถนนชยางกูร เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับคนที่เดินทางมายังจังหวัดนครพนมต้องมาเชคอิน โดยอาคารหลังนี้ก็มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับจังหวัดนครพนมที่น่าสนใจ ดังนี้

จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) นี้ สร้างขึ้นในสมัยของพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรภ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ซึ่งนับเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกตามประกาศกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๕๙ ที่เปลี่ยนคำว่า “เมือง เป็น “จังหวัด” ทั่วราชอาณาจักร โดยว่าจ้างช่างชาวญวนชื่อ นายกูบา เจริญ เป็นผู้ก่อสร้างในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๘ และต่อมาเมื่อท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาอดุลย์เดชเดชาสยามเมศวรภัคดีพิริยพาหนะ ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร จึงได้ขายอาคารหลังนี้ให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้เป็นที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ตามเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฉบับที่ ๕๓๑๗ ออกโดยกรมที่ดิน เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ กำหนดเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๔๒.๔๐ ตารางวา ระบุว่าได้ซื้อมาจากพระยาอดุลย์เดชาฯ ตามหนังสือซื้อขายลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย ๑) อาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงจั่ว ๒ ชั้น (จวนผู้ว่าราชการจังหวัด) ๑หลัง ๒) อาคารไม้ชั้นเดียวเรือน แถว ทรงจั่ว (บ้านพักเจ้าหน้าที่) ๑ หลัง และ ๓) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ทรงเพิง (โรงครัว) ๑ หลัง

ลักษณะของอาคารหลังนี้อาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องว่าว ออกแบบโดยใช้ผนังรับน้ำหนักแทนการใช้เสา ตัวอาคารทาด้วยสีเหลือง ประตูและหน้าต่างทาด้วยสีเขียว พื้นชั้นล่างปูกระเบื้องซีเมนต์ลาย ชั้นบนปูไม้กระดานเข้าลิ้น การตกแต่งประดับพบที่การสร้างประตูโค้งครึ่งวงกลมและหน้าต่างโค้ง เหนือประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้นรูปซุ้มโค้งระยะเวลาก่อสร้างอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๖๘

ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมหลังเก่า” พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๔ ไร่ ๔๒.๔ ตารางวา ในกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๖๙ ง หน้า ๑ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๘

ปัจจุบันอาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) แห่งนี้ ได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) แบ่งเป็น ๕ ส่วน อยู่ในบริเวณชั้นล่าง ๓ ส่วน และชั้นบนอีก ๒ ส่วน ท่านใดที่เดินทางมาจังหวัดนครพนม สามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้นะคะ นอกจากจะสามารถถ่ายรูปกับสถาปัตยกรรมสวยๆแล้ว รับรองว่าจะได้รับสาระความรู้ดีๆกลับบ้านไปอย่างแน่นอนค่ะ

ข้อมูล : นางสาวเมริกา สงวนวงษ์

อ้างอิง :

- คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.๒๕๔๒.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.กรุงเทพฯ:คุรุสภาลาดพร้าว.

- สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี.โบราณสถานขึ้นทะเบียนแล้วในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี (เล่มที่ ๒).อุบลราชธานี:อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์.

 

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 740 ครั้ง)


Messenger