จากเสมาใบใหญ่สู่พระเจ้าใหญ่ในอีสาน
: พลังสืบเนื่องแห่งพุทธศรัทธา
พลังแห่งความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตและโลกหน้า แปรเปลี่ยนเป็นความเชื่อและความศรัทธา ก่อให้เกิดแรงคิดและแรงปฏิบัติร่วมกันของคนในสังคมเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่วิจิตรสวยงาม มีขนาดใหญ่เกินกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้เพียงลำพัง ดังจะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่พบได้นับตั้งแต่ช่วงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เป็นต้นมา
เฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทยจะพบเสมาใบใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดีที่ทำขึ้นจากหินทรายหรือศิลาแลงเป็นจำนวนมาก หลายใบมีความสูงกว่า ๒ เมตร หลายแหล่งพบว่ามีจำนวนหลายสิบใบ เช่น ใบเสมาหินทรายที่พบบริเวณเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ใบเสมาหินทรายที่วัดโนนศิลาอาสน์ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ใบเสมาหินทรายในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ใบเสมาที่วัดโพธิ์ศิลา อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ
ใบเสมาขนาดใหญ่และมีจำนวนมาก รวมทั้งการแกะสลักเรื่องราวในตำนานทางพุทธศาสนาหรือพุทธประวัติ ตลอดจนลวดลายเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้อง สะท้อนความเชื่อ ความศรัทธา ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต ทรัพยากรของสังคม จำนวนของผู้คนในชุมชนที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ประกอบรวมกันเป็นวิถีวัฒนธรรมของสังคมได้เป็นอย่างดี
วิถีวัฒนธรรมดังกล่าวยังคงสืบเนื่องมาอย่างยาวนานในรูปแบบประติมากรรมทางพุทธศาสนา จากเสมาใบใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดี สืบกลายมาสู่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในวัฒนธรรมอีสาน-ล้านช้าง แก่นของพลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ยังคงสะท้อนออกมาในรูปแบบประติมากรรมที่มีขนาดใหญ่ของชุมชนร่วมกัน เช่น พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง วัดมหาวนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ วัดปากแซง อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี และอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย
ประติมากรรมทางศาสนาขนาดใหญ่จะยังคงเกิดขึ้นและมีให้เห็นต่อไป ตราบเท่าที่คนและสังคมยังคงมีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตและโลกหน้า และเชื่อว่าการมีศรัทธาด้วยการร่วมสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในศาสนาจะเป็นวิถีทางหนึ่งในการประสบความสำเร็จดังที่หวังไว้
ข้อมูล: วสันต์ เทพสุริยานนท์
อ้างอิง: สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี. เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๕๗
จังหวัดกาฬสินธุ์. ผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๔
(จำนวนผู้เข้าชม 630 ครั้ง)