+++ ธรรมาสน์เสาเดียว : การผสมผสานความเชื่อพุทธและผี +++
----- ธรรมาสน์ คือ ที่นั่งแสดงธรรมสำหรับพระสงฆ์ ในภาคอีสานสามารถพบเห็นได้ทั้งธรรมาสน์ไม้และธรรมาสน์ปูน ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะธรรมาสน์ไม้อีสาน ที่จำแนกออกได้เป็น ๓ ประเภทหลักๆ ได้แก่
๑) หอธรรมาสน์ ลักษณะเป็นธรรมาสน์ที่มีฐานสูงและมียอดเป็นชั้น
๒) ธรรมาสน์ตั่ง ลักษณะคล้ายเก้าอี้ทรงสี่เหลี่ยม มีพนักพิงด้านหลัง ไม่มีหลังคา
๓) ธรรมาสน์เตียง ลักษณะคล้ายเก้าอี้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีพนักพิง ไม่มีหลังคา
----- ธรรมาสน์เสาเดียว จัดอยู่ในกลุ่มของหอธรรมาสน์ มีลักษณะเด่น คือ ส่วนฐานของธรรมาสน์จะมีเสาเดียว และมีคันทวยหรือแขนนาง รองรับน้ำหนักจากตัวเรือนธรรมาสน์ลงสู่เสา ส่วนตัวเรือนและส่วนยอดของธรรมาสน์ จะมีความคล้ายคลึงกับหอธรรมาสน์ที่พบได้ทั่วไปในภาคอีสาน เช่น ส่วนตัวเรือนมักนิยมสร้างในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส และได้รับการประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยการทาสี เขียนภาพจิตรกรรม ที่ส่วนใหญ่สะท้อนความเชื่อทางพุทธศาสนา วิถีชีวิต และนิทานพื้นบ้าน ผสมผสานงานแกะสลักหรืองานฉลุไม้ โดยนิยมสลักรูปดอกไม้ ใบไม้ และลวดลายตามธรรมชาติ นอกจากความสวยงามแล้ว เจตนาก็เพื่อทำช่องให้อากาศถ่ายเท และเป็นการอำพรางอิริยาบทของพระสงฆ์ขณะนั่งเทศน์บนธรรมาสน์ ตัวเรือนมีทั้งแบบผนังโปร่งและผนังทึบ ส่วนยอดพบทั้งหลังคาทรงจั่ว หลังคาทรงจัตุรมุข (ทรงจั่วซ้อนชั้น) และหลังคาทรงมณฑป (ทรงปราสาท) ซึ่งจำนวนชั้นหลังคาที่ซ้อนก็ขึ้นอยู่กับช่างฝีมือผู้สร้าง ธรรมาสน์เสาเดียวถือเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่พบเฉพาะในกลุ่มผู้ไท เช่นที่วัดโพธิ์ชัย บ้านหนองห้าง วัดศรีภูขันธ์ บ้านโคกโก่ง วัดหอคำ บ้านคำกั้ง วัดจุมจังเหนือ บ้านจุมจัง วัดบ้านหนองบัวทอง บ้านหนองบัวทอง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และ วัดพิจิตรสังฆาราม อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
----- การสร้างธรรมาสน์นอกจากความเชื่อทั่วไปเรื่องบุญกุศลที่ทำให้ผู้สร้างได้รับอานิสงส์ เกิดในชาติหน้าจะพบแต่ความสุขความเจริญ เมื่อตายไปก็ได้เสวยทิพยสมบัติเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า ชาวผู้ไทยังมีความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของการสร้างธรรมาสน์เสาเดียว ว่าจะส่งผลให้ในชาตินี้ผู้คนจะให้ความเคารพนับถือ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความเชื่อเรื่อง “หลักบ้าน” ที่ในภาคอีสานนิยมตั้งไว้กลางหมู่บ้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของการยึดเหนียวจิตใจ และทำให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ตามคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
----- ธรรมาสน์เสาเดียวมักสร้างไว้ในหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับให้คนในชุมชนมารวมตัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การฟังเทศน์ในงานบุญเดือนสี่ (บุญผะเหวด หรือ บุญพระเวส) หรืองานบุญกฐินที่องค์มหากฐินจะถูกตั้งอยู่บนธรรมาสน์ ทำให้ธรรมาสน์กลายเป็นสิ่งที่สื่อถึงการรวมตัวกันอย่างสงบสุขของคนในชุมชน
----- จากความเลื่อมใสศรัทธาของชาวผู้ไทที่มีต่อพุทธศาสนา ทำให้เกิดการผสมผสานทางคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเรื่อง “หลักบ้าน” ผนวกรวมกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ก่อให้เกิดสัญลักษณ์ทางคติความเชื่อเรื่องศูนย์รวมจิตใจ ที่คลี่คลายกลายมาเป็น “ธรรมมาสน์เสาเดียว” สะท้อนให้เห็นถึงการรวมทั้งพุทธและผีเข้าไว้ด้วยกันของชาวผู้ไท
-----------------------------------------------------------------------
++ อ้างอิงจาก ++
--- คำพันธ์ ยะปะตัง. ธรรมาสน์เสาเดียว : รูปแบบโครงสร้างและคติความเชื่อของชาวผู้ไท อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ๒๕๕๕.
--- ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์, “ธรรมาสน์ไม้อีสาน” ใน เอกสารประกอบการนำเสนอผลงานทางวิชาการของ กรมศิลปากร ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ วิจัย วิจักขณ์, วันที่ ๒๒ - ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒, ณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร, หน้า ๑๗๐ - ๑๗๕.
ข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ
(จำนวนผู้เข้าชม 1203 ครั้ง)