...

ก่อนจะมาเป็นอุตรดิตถ์

ก่อนจะมาเป็นอุตรดิตถ์

ภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยประกอบด้วยทิวเขาสูง โดยมีทิวเขาที่สำคัญ คือ ทิวเขาแดนลาวอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิวเขาหลวงพระบางอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิวเขาผีปันน้ำอยู่ทางตอนกลาง และมีทิวเขาถนนธงชัยอยู่ทางทิศตะวันตก จึงทำให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญหลายสายได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปาย แม่น้ำยวม แม่น้ำเมย แม่น้ำฝาง แม่น้ำกก แม่น้ำลาว และแม่น้ำอิง โดยแม่น้ำสายสำคัญเหล่านี้จะไหลจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลางและลงสู่อ่าวไทย นอกจากนี้ยังไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ทางตะวันตกและไหลลงสู่แม่น้ำโขงทางตอนเหนือขึ้นไป

ภาคเหนือตอนบน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ประกอบด้วย พื้นที่ราบระหว่างหุบเขาที่มีลักษณะเป็นที่ราบแคบๆและยาวไปตามแนวเหนือ-ใต้ มีแม่น้ำไหลผ่าน โดยครอบคลุมพื้นที่ ๙ จังหวัดคือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูนและอุตรดิตถ์ จากการศึกษาทางด้านโบราณคดีพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ภายในถ้ำบนภูเขาต่างๆ และบริเวณที่เป็นแอ่งที่ราบที่มีแม่น้ำไหลผ่าน เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำโขงและแม่น้ำปิงตอนบน รวมทั้งชุมชนโบราณที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบที่สำคัญบริเวณภาคเหนือตอนบนได้แก่ แอ่งเชียงใหม่ - ลำพูน แอ่งเชียงราย – พะเยา และแอ่งแม่แจ่ม เป็นต้น

ภาคเหนือตอนล่าง ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบลูกฟูกซึ่งเกิดจากการกระทำของแม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน แล้วไหลผ่านพื้นที่ในเขตจังหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตรและนครสวรรค์ (นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์,๒๕๓๔ : ๒๒ – ๒๖)  จากหลักฐานทางโบราณคดีพบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุประมาณ ๑๒,๐๐๐ – ๕๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว และมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว (กรมศิลปากร,๒๕๔๓ : ๗) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้นิยมตั้งถิ่นฐานตามแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตทั้งด้านอุปโภค บริโภค และการคมนาคม อันเป็นเส้นทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำน่านนั้นอยู่ระหว่างทิวเขาผีปันน้ำตะวันออกและทิวเขาหลวงพระบาง มีต้นกำเนิดจากดอยภูแว อำเภอปัว จังหวัดน่าน ไหลขึ้นไปทางเหนือใกล้กับพรมแดนประเทศไทยกับลาว แล้วไหลวกกลับมาทางตะวันตกเข้าเขตอำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอท่าวังผา อำเภอเมืองน่าน อำเภอสา เข้าเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ผ่านอำเภอท่าปลาผ่านตัวเมืองอุตรดิตถ์แล้วลงมาทางใต้ผ่านอำเภอตรอน อำเภอพิชัยแล้วเข้าเขตจังหวัดพิษณุโลก ลงไปบรรจบกับแม่น้ำยมที่บ้านเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วจึงไปรวมกับแม่น้ำปิงที่ปากน้ำโพ (นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์, ๒๕๓๔ : ๓๐)  

จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งอยู่ระหว่างละจิจูดที่ ๑๗ องศา ๓๗ ลิปดาเหนือ กับ ๑๙ องศา ๓๐ ลิปดาเหนือ และลองจิจูดที่ ๑๐๐ องศา ๕ ลิปดาตะวันออกกับ ๑๐๑ องศา ๑๑ ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ ๗,๘๓๙ ตารางกิโลเมตร  

พื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงทางเหนือและเป็นที่ราบลุ่มทางตอนล่าง เทือกเขาทางตอนเหนือที่ติดกับจังหวัดแพร่ คือ เทือกเขาผีปันน้ำตะวันออก มีดอยพญาฝ่อเป็นยอดดอยที่สูงที่สุด ส่วนเทือกเขาที่อยู่ติดกับจังหวัดน่านและเทือกเขาทางด้านตะวันออกเป็นเทือกเขาหลวงพระบาง มียอดที่สูงที่สุดคือ ภูลูกคราดและรองลงมาคือ ภูสอยดาว ทางตอนใต้ของอำเภอลับแลและอำเภอเมืองเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำต่อเนื่องมาจากภาคกลาง และบริเวณลุ่มน้ำขนาดใหญ่จะมีภูมิประเทศเป็นที่ราบหุบเขา ได้แก่ ที่ราบหุบเขาลุ่มน้ำปาดเป็นที่ราบหุบเขาที่กว้างขวางที่สุด ที่ราบหุบเขาบริเวณคลองตรอนและที่ราบหุบเขาบริเวณคลองแม่พร่อง (วัฒนธรรม  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์  เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดอุตรดิตถ์, ๒๕๔๒ : ๑) ซึ่งภูมิประเทศเหล่านี้มีผลต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในสมัยโบราณของจังหวัดอุตรดิตถ์ (ภาพที่ ๑)

ภาพที่ ๑

เครื่องมือหินขัด และเศษภาชนะดินเผาที่พบภายในจังหวัดอุตรดิตถ์

 

การสำรวจแหล่งโบราณคดี 

จากรายงานการสำรวจของกรมศิลปากรได้พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยโบราณในหลายสถานที่ด้วยกัน แต่ละแหล่งมีรายละเอียดดังนี้    

๑. แหล่งโบราณคดีบ้านบุ่งวังงิ้ว แหล่งโบราณคดีเป็นเนินดินเตี้ยๆ พื้นที่บางส่วนเป็นที่ราบขั้นบันไดของแม่น้ำน่าน หลักฐานทางโบราณคดีที่สำรวจพบ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์เป็นเศษชิ้นส่วนกระดูกแขนขา กระดูกซี่โครง ชิ้นส่วนกรามบนและฟัน และชิ้นส่วนของกะโหลกศีรษะมนุษย์ที่มีอายุประมาณ ๒๐ – ๒๗ ปี จำนวน ๒๑ ชิ้น กระดูกสัตว์และเปลือกหอย ขวานหินขัด ชิ้นส่วนกำไลหินสีขาว เศษภาชนะดินเผา หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่อยู่ในสังคมกสิกรรม รวมทั้งล่าสัตว์เป็นอาหาร อาจจะมีประเพณีการฝังศพ และใส่เครื่องประดับให้กับศพอีกด้วย (พิสิฐ เจริญวงศ์และคณะ,๒๕๓๔ /๒๕๒๕ : ๑๖ – ๑๗)  

ภาพที่ ๒ แผนที่ทหารแสดงที่ตั้งแหล่งโบราณคดีบ้านบุ่งวังงิ้ว

 

๒. แหล่งโบราณคดีถ้ำกระดูก เขาหน้าผาตั้ง ลักษณะของแหล่งเป็นเขาหินปูน และมีหินดินดานแทรก เป็นถ้ำที่อยู่ในลักษณะสูง บริเวณยอดเขาประกอบด้วยถ้ำ ๒ ชั้น คือ ถ้ำล่างและถ้ำบน ปากถ้ำอยู่สูงกว่าพื้นระดับถ้ำล่าง ประมาณ ๕ – ๖ เมตร หลักฐานทางโบราณคดีที่สำรวจพบ ได้แก่ ใบหอกสำริด (ชำรุด) เป็นใบหอกข้าวใช้เทคนิคการหล่อจำนวน ๓ ชิ้น กำไลหินทำจากหินสีขาวเนื้อแกร่ง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕.๕ ซม. จำนวน ๑ วง เศษภาชนะดินเผา เป็นส่วนปากภาชนะ ส่วนคอ ส่วนลำตัว วิธีการเผาสุกไม่สม่ำเสมอกัน สุกเฉพาะผิว ส่วนเนื้อดินไม่สุก สันนิษฐานว่า ถ้ำกระดูกนี้คงจะใช้เป็นที่ฝังศพ ซึ่งแยกจากแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยโบราณที่รู้จักเครื่องมือสำริดแล้ว จัดอยู่ในยุคสังคมกสิกรรมสมัยหลังๆ (พิสิฐ เจริญวงศ์และคณะ,๒๕๓๔ /๒๕๒๕ : ๒๐ – ๒๑)  

ภาพที่ ๓ แผนที่ทหารแสดงที่ตั้งแหล่งโบราณคดีถ้ำกระดูก เขาหน้าผาตั้ง

 

๓. แหล่งโบราณคดีปางต้นผึ้ง อยู่เหนือสถานีรถไปปางต้นผึ้ง พบเนื่องจากสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ตัดถนนผ่านแหล่งโบราณคดีจึงพบโบราณวัตถุ หลักฐานทางโบราณคดีที่สำรวจพบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเป็นส่วนปากแบบเรียบและมีลายเส้นนูน ๒ ชิ้น เป็นชิ้นส่วนลำตัวแบบเรียบ แบบลายประทับ ลายโค้งขนาน ลายคล้ายก้างปลา ลายประทับรูปตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆและลายขีดรวม ๘ ชิ้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (พิสิฐ เจริญวงศ์และคณะ,๒๕๓๔ /๒๕๒๕ : ๒๒ – ๒๓)   

ภาพที่ ๔ แผนที่ทหารแสดงที่ตั้งแหล่งโบราณคดีปางต้นผึ้ง

 

๔. แหล่งโบราณคดีบ้านวังแพวน ลักษณะของแหล่งเป็นลานตะพักน้ำ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๙๕ – ๑๐๐ เมตร  พื้นที่ทั่วๆไปเป็นที่ลาดมากกว่าที่เนิน ผิวดินเป็นดินทรายปนฮิวมัส ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ประเภทอ้อย ข้าวโพด หลักฐานทางโบราณคดีที่สำรวจพบ ได้แก่เครื่องมือหินกะเทาะ ทำจากหินกรวดแม่น้ำ จำนวน ๔ ชิ้น เครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียว แบบ Chopper ๓ ชิ้น เครื่องมือหินกะเทาะไม่เสร็จ ๑ ชิ้น เศษภาชนะดินเผา ๒ ชิ้น เศษภาชนะดินเผาแบบไม่เคลือบ เนื้อแกร่งและไม่แกร่ง จำนวน ๔ ชิ้น เศษเครื่องถ้วยจีน ๔ ชิ้น เศษไหเคลือบสีน้ำตาล ๑ ชิ้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในระบบสังคมแบบเร่ร่อน จับสัตว์ และหาปลา เนื่องจากพบเครื่องมือหินก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงกลุ่มชนสมัยประวัติศาสตร์ที่ใช้ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง และน่าจะเคยเป็นแหล่งพักแรมของพ่อค้าชาวจีน เพราะพบหลักฐานเศษเครื่องถ้วยของจีนด้วย (บวรเวท รุ่งรุจีและคณะ , ๒๕๓๔/๒๕๒๕ : ๒๔ – ๒๕) 

ภาพที่ ๕ แผนที่ทหารแสดงที่ตั้งแหล่งโบราณคดีบ้านวังแพวน

 

๕. แหล่งโบราณคดีแก่งตาน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๙๐ เมตร ทางทิศเหนือเป็นลำน้ำน่าน ทิศใต้เป็นเนินเขาดินผสมลูกรัง ทิศตะวันออกมีลำห้วยไหลจากเมือกเขาลงสู่แม่น้ำน่าน จากการสำรวจพบเศษภาชนะดินเผา ผิวขัดมันและผิวเรียบ เนื้อดินหยาบมาก มีลายเชือกทาบเส้นเล็กและเส้นใหญ่ ลายประทับตาข่าย และไม่มีลาย ผิวกร่อนและผิวขัดมัน จำนวน ๘๘ ชิ้น ชิ้นส่วนเครื่องมือหินขัด เนื้อละเอียดจำนวน ๑ ชิ้น แหล่งโบราณคดีแก่งตานอยู่ใกล้แหล่งโบราณคดีวังแพวนเป็นบริเวณที่มีเกาะแก่งขนาดใหญ่ในลำน้ำน่านซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะสมสำหรับการพักอาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (บวรเวท รุ่งรุจีและคณะ , ๒๕๓๔/๒๕๒๕ : ๒๖ – ๒๗) 

ภาพที่ ๖ แผนที่ทหารแสดงที่ตั้งแหล่งโบราณคดีแก่งตาน

 

๖. แหล่งภาพเขียนสีเขาตาพรม เป็นแหล่งภาพเขียนอยู่บนเทือกเขาตาพรมมียอดเขาสูงสุดประมาณ ๒๙๙ เมตร เป็นเทือกเขาหินทราย วางตัวอยู่ตามแนวเหนือ - ใต้ ยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร บริเวณที่พบภาพเขียนสี มีลักษณะเป็นเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร และอยู่สูงจากระดับเชิงเขา ๖ เมตร พื้นผนังหินที่วาดรูปมีลักษณะเรียบ และไม่พบร่องรอยของการเตรียมผนังหินเพื่อวาดรูป ภาพทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง วาดภาพเป็นลายเส้น เขียนเป็นรูปสัญลักษณ์ 

ภาพที่ ๗ แผนที่ทหารแสดงที่ตั้งแหล่งภาพเขียนสีเขาตาพรม

 

ภาพที่ปรากฏอยู่บนหน้าผานี้ แยกออกได้เป็นสองกลุ่ม โดยวาดภาพห่างกันประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ภาพแรกอยู่ทางด้านซ้ายของผู้ดู กลุ่มที่ ๒ อยู่ทางด้านขวา ใช้พื้นที่ในการเขียนภาพทั้ง ๒ กลุ่ม ขนาด ๑๑๐ x ๖๐ เซนติเมตร 

ภาพที่ ๘ 

ภาพเขียนสีกลุ่มที่ ๑ เขาตาพรม ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์

 

กลุ่มที่ ๑ เป็นภาพลายเส้นคู่เขียนอยู่ในแนวตั้ง ๒ ภาพ ภาพบนเป็นภาพคล้ายคนตัดทอน ส่วนลำตัว แขนและขาเป็นเส้นคู่ ส่วนศีรษะโค้งกลมที่มือข้างซ้ายของรูปมีลายเส้นโค้งและหยัก ค้ลายกับถือสิ่งของอะไรบางอย่าง ข้างซ้ายเห็นมีเพียงครึ่งแขน ต่ำลงจากภาพคนเป็นภาพลายเส้นคู่ ปลายทั้ง ๒ ข้างเป็นแฉก ภาพคนและเส้นคู่ดังกล่าวใช้เป็นแกนหลักของกลุ่มนี้ โดยมีภาพที่เขียนขึ้นอีกอยู่ทั้งซ้ายและขวา เริ่มตั้งแต่ข้างบนจนถึงข้างล่างมีภาพเป็นวงรีทึบเล็กๆ คล้ายรูปของเมล็ดข้าวต่อเรียงกันไปคล้ายรวงข้าว ต่ำลงมาก็เป็นภาพลายเส้น ๓ เส้นขนานกันในแนวตั้ง โดยมีเส้นนอนเป็นฐาน ต่ำลงมาอีกเป็นเส้นคดงอปลายข้างหนึ่งกลม รูปร่างคล้ายถั่วงอก มีเส้นคล้ายวงเล็บปีกกา ขนาบอยู่กับวงกลมนี้ด้วย ต่ำลงมาอีกเป็นลายเส้นรูปไข่ ส่วนอีกด้านหนึ่งบริเวณปลายขาของภาพคนกับส่วนที่เป็นแฉกของรูปแกนหลัก เขียนเป็นรูปวงกลมมีจุดตรงกลาง ๒ รูปห่างกันเล็กน้อย แล้วเขียนเส้นตรงเชื่อมต่อวงกลมทั้งสองเข้าด้วยกัน ถัดออกไปจากภาพนี้เล็กน้อยมีลายเส้นหยักไปหยักมา ๓ เส้นเรียงกันเป็นแถว กับลายเส้นไข่ปลา (broken line) ต่ำลงมาเป็นลายเส้นรูปร่างคล้ายกิ่งไม้ที่เขียนแยกออกมาจากเส้นคู่ขนานในแนวตั้ง ปลายของรูปกิ่งไม้ข้างหนึ่งมีภาพคนไม่มีหัวห้อยอยู่ในลักษณะทิ้งแขนลงมาขนานกับลำตัว ถัดจากภาพคนมาทางซ้ายมีภาพวงกลม ๒ วง มีจุดตรงกลาง แล้วเขียนเส้นตรงเชื่อมรูปวงกลม ๒ รูป ให้เป็นภาพเดียวกัน เช่นเดียวกับภาพที่อยู่ข้างบน   ข้างวงกลมทั้งสองมีลายเส้นรูปไข่เหมือนด้านตรงข้าม  

กลุ่มที่ ๒ เป็นภาพลายเส้นโค้งคู่ขนานผสมลายเส้นคด และรูปสีทึบหารูปร่างไม่ได้ คล้ายกับภาพเขียนที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี (กรมศิลปากร , ๒๕๓๙ : ๖๐ – ๖๓) (ภาพที่ ๙)

ภาพที่ ๙ ภาพเขียนสีกลุ่มที่ ๒ 

เขาตาพรม ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์

 

นอกจากแหล่งโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่กรมศิลปากรได้สำรวจและทำรายงานไว้แล้วนั้น จังหวัดอุตรดิตถ์มีการขุดพบกลองมโหระทึก ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๔ รายการ ซึ่งจากทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ระบุว่า นายแจ้ง  เลิศวิลัย ชาวตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์มอบให้กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ (กรมศิลปากร, ๒๕๔๖ : ๔๔ – ๖๔) โดยมีรายละเอียดดังนี้

กลองมโหระทึกใบที่ ๑ (หมายเลขทะเบียน กป.๑) จากทะเบียนระบุว่า กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป.๑ นี้ เป็นกลองมโหระทึกที่นายเลิศ แจ้งวิลัย ชาวตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มอบให้กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ พร้อมกับกลองมโหระทึกอื่น ๆ รวม ๔ รายการ ได้แก่

๑. กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป.๑

๒. กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป.๒

๓. กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป.๔

๔. กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป.๕ (๖๔๒/๒๕๒๖)

แต่จากการสำรวจของนักศึกษาคณะโบราณคดี ชมรมศึกษาวัฒนธรรมและโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ พบว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีราษฎรขุดพบกลองมโหระทึกกลุ่มนี้ พร้อมกับเครื่องใช้สำริด อาทิ กาน้ำ ฆ้องกระแต และพร้า บริเวณที่ขุดพบนั้น ปัจจุบันอยู่นอกโรงพยาบาลจังหวัดอุตรดิตถ์ด้านหน้าที่เป็นวัดเกษมจิตตราราม ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

เมื่อขุดพบโบราณวัตถุดังกล่าวแล้ว ได้นำออกแสดงในงานประจำปีวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลท่าเสา อำเภอทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ (ปัจจุบัน คือ เขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์) เมื่อทางราชการไปพบเข้าเห็นว่าเป็นของสำคัญจึงยึดเข้าเป็นของแผ่นดิน และส่งลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร

 

กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป. ๑

ลักษณะ หล่อด้วยสำริด กรรมวิธีแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง (Lost Wax or Cire Perdue) จากพิมพ์ประกบ ๒ ชิ้นขึ้นไป ส่วนหูกลองเชื่อมติดหลังการหล่อกลองทั้งใบแล้ว

ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง ๖๕ เซนติเมตร สูง ๕๓ เซนติเมตร

สภาพ ชำรุด ด้านข้างกลองตอนบนบุบ

รูปทรงกลองมโหระทึก ส่วนหน้ากลองบานออก และสอบลงตรงส่วนตัวกลองที่เป็นทรงกระบอก ต่อเนื่องกับส่วนฐานที่บานออกไป

ลักษณะลวดลายบนหน้ากลอง ตรงกลางของหน้ากลองมีลายดาวหรือดวงอาทิตย์ ๑๐ แฉก ล้อมรอบด้วยวงกลม ถัดออกมาเป็นแถวลายวงกลมมีเส้นเชื่อมต่อ ลายบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนกในลักษณะดัดแปลงเป็นรูปคล้ายธง ลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา ลายแถววงกลมมีเส้นเชื่อมต่อ ลายซี่หวี

บนขอบหน้ากลองมีประติมากรรมลอยตัวเป็นหอยจำนวน ๔ ตัว ซึ่งเป็นส่วนตกแต่งที่พิเศษ อาจมีความหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องของธรรมชาติวิทยาและนิเวศน์วิทยาของกลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของกลองมโหระทึกนี้ เนื่องจากลักษณะของหอยเป็นสัตว์ที่อยู่ในน้ำและบนบก บางประเภทใช้เป็นอาหารของมนุษย์นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ด้านข้างของกลองตอนบนตกแต่งด้วยแถวลายซี่หวี ลายแถววงกลมมีเส้นเชื่อมต่อในแนวขวาง หูกลองตกแต่งลายรวงข้าว เป็นหูคู่ เรียงใน ๔ จุดบนขอบด้านข้างกลองตอนบน

ถัดลงมาเป็นตัวกลองซึ่งเป็นทรงกระบอก ตกแต่งด้วยแถวลายเส้นเฉียง ลายแถววงกลมมีเส้นเชื่อมต่อในแนวตั้ง สลับเป็นช่วงคั่นกับพื้นที่ว่างบนตัวกลอง

ส่วนฐานกลองไม่ตกแต่งลวดลาย

การกำหนดอายุ กลองมโหระทึกนี้มีลักษณะรูปทรงและลวดลาย จัดอยู่ในประเภทกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I) ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ ๗ – ๓ ก่อนคริสต์ศักราช (๒๐๐ ปีก่อนพุทธกาล – ราวพุทธศตวรรษที่ ๒) ตามการกำหนดอายุในวัฒนธรรมดองซอน

ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 

ภาพที่ ๑๐ แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งแหล่งโบราณคดีที่พบกลองมโหระทึก

 

ภาพที่ ๑๑ หอยที่ประดับอยู่บนกลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป.๑

 

ภาพที่ ๑๒ กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป.๑ พบที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง 

จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  

 

กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป. ๒

ลักษณะ หล่อด้วยสำริด กรรมวิธีแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง (Lost Wax or Cire Perdue) จากพิมพ์ประกบ ๒ ชิ้นขึ้นไป ส่วนหูกลองเชื่อมติดหลังการหล่อกลองทั้งใบแล้ว

ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง ๖๙.๕ เซนติเมตร สูง ๕๓.๕ เซนติเมตร ตัวกลองหนา ๐.๒ เซนติเมตร

สภาพ ชำรุด ด้านข้างตอนบนและล่างแตกทะลุ หูกลองหักหายไป ๒ หู รูปทรงของกลองคล้ายกับกลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป.๑ ลักษณะลวดลายที่ตกแต่งบนกลอง แบ่งเป็นตอนกลางของหน้ากลองมีลายดาวหรือดวงอาทิตย์ ๑๒ แฉก ล้อมรอบด้วยลายซี่หวี ลายวงกลม ลายซี่หวี ลายบุคคลนั่งสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนกสลับกับบุคคลยืนสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนก ลักษณะเดียวกันเรียงในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ลายนกกระสาบินทวนเข็มนาฬิกา แถวลายซี่หวี ลายวงกลม และลายซี่หวี

สำหรับลายบุคคลนั่งสวมเครื่องประดับศีรษะตกแต่งด้วยขนนกสลับกับบุคคลยืนสวมเครื่องประดับศีรษะลักษณะเดียวกันบนหน้ากลองมโหระทึกหมายเลขทะเบียน กป.๒ ลวดลายดังกล่าวมีนักวิชาการ อาทิ Louis Finot , Henri Parmentier และ Victor Goloubew สันนิษฐานว่า อาจแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องการบูชาสัตว์ นอกจากนี้ ในสมัยหลังนักวิชาการหลายรายยังเชื่อว่า ภาพสัตว์ประเภทต่างๆบนกลองมโหระทึก เช่น นก กวาง วัว กบ อาจหมายถึงสัตว์ของพระเจ้าในความเชื่อครั้งอดีต

ด้านข้างตอนบนของกลองตกแต่งด้วยแถวลายซี่หวี ลายแถววงกลมมีเส้นเชื่อมต่อ และลายซี่หวีเรียงกันในแนวขวาง มีหูกลองลายรวงข้าวติดอยู่บริเวณนี้ ๔ แห่ง ลักษณะของหูกลองทำเป็นหูคู่ ตัวกลองมีแถวลายซี่หวีและลายแถววงกลมมีเส้นเชื่อมต่อในแนวตั้ง สลับเป็นช่วงคั่นกับพื้นที่ว่างของตัวกลอง

ส่วนฐานกลองไม่ตกแต่งลวดลาย

การกำหนดอายุ กลองมโหระทึกนี้มีลักษณะรูปทรงและลวดลาย จัดอยู่ในประเภทกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I) ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ ๗ – ๓ ก่อนคริสต์ศักราช (๒๐๐ ปีก่อนพุทธกาล – ราวพุทธศตวรรษที่ ๒) ตามการกำหนดอายุในวัฒนธรรมดองซอน

ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป. ๔

ลักษณะ หล่อด้วยสำริด กรรมวิธีแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง (Lost Wax or Cire Perdue) จากพิมพ์ประกบ ๒ ชิ้นขึ้นไป ส่วนหูกลองเชื่อมติดหลังการหล่อกลองทั้งใบแล้ว

ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง ๖๑.๕ เซนติเมตร สูง ๔๒ เซนติเมตร ตัวกลองหนา ๐.๑ เซนติเมตร

สภาพ ชำรุด ข้างกลองแตกทะลุ ส่วนหูกลองเหลือเพียงสองหู

ลักษณะลวดลายที่ตกแต่งบนกลอง แบ่งเป็นหน้ากลองตรงกลางมีลายดาวหรือดวงอาทิตย์ ๑๒ แฉก ล้อมรอบด้วยแถวลายซี่หวี ลายแถววงกลมมีจุดตรงกลาง แถวลายซี่หวี ลายนกกระสาบินเรียงทวนเข็มนาฬิกา แถวลายซี่หวี ลายแถววงกลมเชื่อมด้วยเส้นทแยง และแถวลายซี่หวี

ด้านข้างตอนบนของกลองมีลายซี่หวี ลายวงกลมเรียงในแนวขวาง บริเวณนี้มีหูกลองติดอยู่ โดยทำเป็นหูคู่ติดเรียงกัน ๔ แห่งบนด้านข้างตอนบนของตัวกลอง หูกลองเหล่านี้ตกแต่งลายก้างปลา ตัวกลองตกแต่งลายซี่หวี ลายวงกลมเรียงในแนวตั้ง สลับเป็นช่วงคั่นกับพื้นที่ว่างของตัวกลอง

ส่วนฐานกลองไม่ตกแต่งลาย แต่ปรากฏรูสี่เหลี่ยมขนาดเล็กเรียงกัน ๕ จุด ซึ่งสันนิษฐานว่า รูดังกล่าวเกิดจากวิธีการในการหล่อด้วยวิธีแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้งซึ่งจะต้องใช้ ตะปูทอย คือ ส่วนที่ค้ำระหว่างแม่พิมพ์ชั้นนอกกับแม่พิมพ์ชั้นในมิให้เคลื่อนมาติดกัน ในขณะที่เทสำริดหลอมเหลวลงในช่องแม่พิมพ์ทั้งสอง เมื่อสำริดเย็นตัวและมีการถอดพิมพ์ออก จึงปรากฏรูเป็นระยะตามตำแหน่งของการติดตะปูทอย ซึ่งตามปกติในขั้นตอนการหล่อโลหะเป็นชิ้นงานต่างๆจะต้องอุดรูตะปูทอยเหล่านี้ด้วยเศษสำริดที่เหลือจากการหล่อครั้งเดียวกัน เพื่อให้มีเนื้อโลหะเหมือนกัน เม็ดโลหะที่นำไปอุดรูตะปูทอยนี้ ปัจจุบันเรียกว่า เม็ดไข่ปลา เมื่ออุดรูตะปูทอยแล้ว จึงขัดผิดโลหะให้เรียบเสมอจนไม่เห็นร่องรอยการอุด

การกำหนดอายุ กลองมโหระทึกนี้มีลักษณะรูปทรงและลวดลาย จัดอยู่ในประเภทกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I) ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ ๗ – ๓ ก่อนคริสต์ศักราช (๒๐๐ ปีก่อนพุทธกาล – ราวพุทธศตวรรษที่ ๒) ตามการกำหนดอายุในวัฒนธรรมดองซอน

ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

กลองมโหระทึก หมายเลขทะเบียน กป. ๕

ลักษณะ หล่อด้วยสำริด กรรมวิธีแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง (Lost Wax or Cire Perdue) จากพิมพ์ประกบ ๒ ชิ้นขึ้นไป ส่วนหูกลองเชื่อมติดหลังการหล่อกลองทั้งใบแล้ว

ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางหน้ากลอง ๖๕ เซนติเมตร สูง ๕๓ เซนติเมตร

สภาพ ชำรุด หน้ากลอง ตัวกลองมีรอยแตกทะลุหลายแห่ง หูกลองหักหายไป ๑ หู นอกจากนี้ ลวดลายของกลองยังอยู่ในสภาพลบเลือนเป็นส่วนใหญ่

รูปทรงของกลองช่วงบนมีลักษณะคล้ายกลองรำมะนา ตอนกลางตัวกลองเป็นทรงกระบอก ต่อกับส่วนล่างของกลองที่โค้งบานออก

ลวดลายบนหน้ากลอง กลางหน้ากลองตกแต่งลายดาวหรือดวงอาทิตย์ ๑๐ แฉก ถัดออกมามีร่องรอยของวงกลมคู่ขนานซ้อนกันเป็นช่วง จำนวน ๖ วง

ด้านข้างตอนบนของตัวกลอง ปรากฏร่องรอยของลายเส้นคู่ขนานในแนวนอน จำนวน ๗ เส้น บริเวณนี้มีหูกลองลายเกลียวหล่อติดอยู่ ๔ ช่วง เป็นหูคู่

ส่วนตัวกลองตกแต่งลายคู่ขนานในแนวตั้ง ๗ เส้นต่อเนื่องกับลายเส้นคู่ขนานในแนวนอน ๖ เส้นที่อยู่ตรงส่วนล่างของฐานกลอง

ส่วนฐานกลองไม่ตกแต่งลวดลาย

การกำหนดอายุ กลองมโหระทึกนี้มีลักษณะรูปทรงและลวดลาย จัดอยู่ในประเภทกลองมโหระทึกแบบเฮเกอร์ ๑ (Heger I) ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ ๗ – ๓ ก่อนคริสต์ศักราช (๒๐๐ ปีก่อนพุทธกาล – ราวพุทธศตวรรษที่ ๒) ตามการกำหนดอายุในวัฒนธรรมดองซอน

ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี

 

การวิเคราะห์ด้านโลหะกรรม

ฝ่ายวิเคราะห์โลหะกรรม กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการวิเคราะห์หาส่วนประกอบของโลหะที่ใช้ทำกลองมโหระทึกนี้ พบว่า ประกอบด้วย ทองแดง ร้อยละ ๗๙.๓๔ ตะกั่ว ร้อยละ ๑.๗๙ ดีบุก ร้อยละ ๑๒.๙๘ และทองแดง ร้อยละ ๐.๐๑๗

ภาพที่ ๑๓ กลองมโหระทึกที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  

ภาพที่ ๑๔ กลองมโหระทึกที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  

 

๗. แหล่งโบราณคดีที่พักสงฆ์ม่อนอารักษ์สำนักศิลปากรที่๖สุโขทัยสำรวจไว้เมื่อวันที่๖พฤษภาคม๒๕๕๑จากการสำรวจพบโบราณวัตถุเช่นขวานสำริดจำนวน๖ชิ้นชิ้นส่วนใบหอกสำริด๓ชิ้นขวานหินขัดจำนวน๒ชิ้นชิ้นส่วนกำไลหินจำนวน๑ชิ้นทำเป็นรูปหกเหลี่ยมในแต่ละเหลี่ยมจะเว้าเข้าด้านในเล็กน้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง๑๓.๔เซนติเมตรหนาประมาณ๑เซนติเมตรด้านหน้ามีลักษณะนูนออกมาส่วนด้านหลังมีลักษณะแบนเรียบมีการเจาะรูตรงกลางกว้างประมาณ๖เซนติเมตรชิ้นส่วนโกลนกำไลหิน(?) จำนวน ๒ ชิ้น ชิ้นที่ ๑ เป็นรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๗ เซนติเมตร หนาประมาณ ๑ เซนติเมตร ด้านหน้ามีลักษณะนูนออกมา ส่วนด้านหลังมีลักษณะแบนเรียบ มีการเจาะรูตรงกลาง ชิ้นที่ ๒ เป็นรูปหกเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๖.๕ เซนติเมตร หนาประมาณ ๑ เซนติเมตร ด้านหน้ามีลักษณะนูนออกมา ส่วนด้านหลังมีลักษณะแบนเรียบ มีการเจาะรูตรงกลาง นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนแท่นหินบด เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อไม่แกร่งและเนื้อแกร่งอีกด้วย สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีแหล่งนี้น่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์โดยกำหนดอายุจากโบราณวัตถุที่พบประมาณ ๑,๒๐๐ – ๒,๕๐๐ ปี ถึง ๔๐๐ ปีมาแล้ว โดยเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีบ้านบุ่งวังงิ้ว ตำบลป่าเซ่า อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ และถ้ำกระดูก เขาผาตั้ง บ้านถ้ำดิน ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งพบโบราณวัตถุแบบเดียวกัน เช่น กำไลหิน ขวานหินขัด เป็นต้น แหล่งโบราณคดีมีลักษณะเป็นเนินเขาไม่สูงมากนัก และมีคลองแม่ผ่องไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกของเนินเขา ทำให้เนินเขาแห่งนี้อาจจะถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ น่าจะยังมีสภาพสังคมแบบเร่ร่อน หาของป่า ล่าสัตว์ และระยะต่อมาน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนในสมัยประวัติศาสตร์ซึ่งมีการใช้ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแล้ว (สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย , ๒๕๕๑ : ๑ – ๔ )

ภาพที่ ๑๕ แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งที่ตั้งแหล่งโบราณคดีม่อนอารักษ์

 

ภาพที่ ๑๖ ขวานสำริดแบบมีบ้อง  

 

ภาพที่ ๑๗ ขวานหินขัด  

ภาพที่ ๑๘ (๑ – ๒) กำไลหินแบบหกเหลี่ยมด้านหน้าและด้านหลัง 

 

ภาพที่ ๑๙ โกลนกำไลหินแบบเหลี่ยม (?)

 

ภาพที่ ๒๐ โกลนกำไลหินแบบกลม (?)

 

ภาพที่ ๒๑ ชิ้นส่วนแท่นหินบดยา

 

บทสรุปพัฒนาการก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดอุตรดิตถ์

จะเห็นได้ว่า ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยนั้น เราสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีในเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหลักฐานที่กระจัดกระจายต้องอาศัยการวิเคราะห์ตีความเข้าช่วย แต่หลักฐานเหล่านั้นก็แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะตามพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่สภาพภูมิประเทศเหมาะสมและมนุษย์มักเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้

ที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่ปรากฏหลักฐานการเข้ามาอยู่ของมนุษย์ หลักฐานจากการสำรวจพบโดยกรมศิลปากร พบว่า ตามเส้นทางลำน้ำน่านบริเวณตอนใต้เขื่อนสิริกิติ์ลงมาที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังแพวน แหล่งโบราณคดีแก่งตาน ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา แหล่งโบราณคดีปางต้นผึ้ง และแหล่งโบราณคดีม่อนอารักษ์ อำเภอลับแล ได้พบหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการใช้เครื่องมือหินขัด คือ ประมาณ ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว แต่หลักฐานที่พบมีน้อยมาก สันนิษฐานได้เพียงว่า น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในสังคมระบบเร่ร่อน จับสัตว์ หาปลา (Hunting and Gathering Society) ซึ่งยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานที่แน่นอน อาศัยความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิต

ส่วนแหล่งโบราณคดีถ้ำกระดูก จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่า คงจะใช้เป็นที่ฝังศพ ซึ่งน่าจะแยกจากแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยโบราณที่รู้จักการใช้เครื่องมือสำริดแล้ว จัดอยู่ในยุคสังคมกสิกรรมเช่นกัน

แหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่ง คือ แหล่งภาพเขียนสีเขาตาพรม ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์แบบเดียวกับที่พบที่บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สันนิษฐานว่า น่าจะภาพเขียนสีของกลุ่มชนที่รู้จักทำการกสิกรรมแล้ว และภาพเขียนสีเหล่านี้อาจจะเป็นภาพเขียนสีที่แสดงออกถึงการประกอบพิธีกรรมนั้น

การขุดพบกลองมโหระทึก กาน้ำ และพร้าสำริด ที่บริเวณวัดเกษมจิตตาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้น น่าจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมดองซอนของเวียดนาม (Dong Son Culture) เนื่องจากกลองมโหระทึกนั้นเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของกลุ่มชนในสมัยโบราณ

เมื่อประมวลหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ค้นพบแล้ว ทำให้ทราบในขั้นต้นว่า ในเขตพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ได้เคยมีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และน่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของหลักฐานทางโบราณคดีระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แสดงว่า ชุมชนเหล่านี้น่าจะมีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ในท้องถิ่น จนเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา และมีความสัมพันธ์ไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ ดินแดนทางภาคอีสานเหนือของไทย แขวงไชยบุรีของลาว และอาจจะเลยไปถึงแหล่งวัฒนธรรมดองซอนในเวียดนามด้วย

การพบหลักฐานทางโบราณคดีในยุคโลหะ พบโบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธ รวมทั้งเครื่องประดับ เช่น กำไล ตุ้มหู ที่ทำจากเหล็กและสำริด อาจจะกล่าวได้ว่า ยุคโลหะนี้เป็นช่วงสมัยที่บางชุมชนได้พัฒนาเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่ประดิษฐ์อักษรสื่อสารกันได้ บางชุมชนก็ยังคงเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่แต่คงมีการพัฒนาวิถีชีวิตให้ดีขึ้น มีการอยู่รวมเป็นชุมชน มีระบบการปกครอง มีผู้นำเป็นหัวหน้า มีการแบ่งชนชั้นในสังคม  มีการติดต่อกับชุมชนอื่นที่อยู่ห่างไกลและมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ดังที่ได้พบหลักฐานคือ กลองมโหระทึกสำริด ซึ่งใช้ในพิธีกรรมขอฝนหรือพิธีศพ เรียกวัฒนธรรมนี้ว่า “วัฒนธรรมดองซอน” (Dong Son Culture) ตามแหล่งที่พบครั้งแรกที่เวียดนาม แต่ก็ยังมีข้อสันนิษฐานบางประการในการขุดพบกลองมโหระทึกว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่อาจจะมีการเคลื่อนย้ายกลองมโหระทึกเหล่านี้เข้ามาพร้อมกับกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ เนื่องจากบริเวณที่ขุดพบกลองมโหระทึกนี้ ไม่พบเศษชิ้นส่วนของแม่พิมพ์ดินเผา , เศษตะกรัน (Slag) ที่เกิดจากการหลอมโลหะ หรือชิ้นส่วนเบ้าหลอมโลหะดินเผาภายในบริเวณนี้ ซึ่งในอนาคตควรที่จะดำเนินการศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ส่วนการตั้งถิ่นฐานของสมัยโลหะในระยะแรกคงเป็นการรวมตัวเป็นชุมชนเล็กๆ มีเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะ  ต่อมาเมื่อสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น จึงเริ่มมีการแลกเปลี่ยนค้าขายกับดินแดนทั้งใกล้เคียงและห่างไกลเพิ่มขึ้นด้วยเป็นผลให้ชุมชนขยายเติบโตขึ้น เกิดการขยายอำนาจไปยังชุมชนใกล้เคียง มีการรวมตัวกันสร้างคันดิน ขุดคูน้ำ เพื่อป้องกันการรุกรานจากชุมชนอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงระบบของการควบคุมกำลังคน จนบางชุมชนสามารถขยายตัวกลายเป็นบ้านเมืองได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การเขียนบทความในครั้งนี้เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสารที่กล่าวถึงแหล่งโบราณคดีซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และ พ.ศ. ๒๕๕๑ เท่านั้น และในปัจจุบันแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ยังไม่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการศึกษาเก็บข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นระบบ หากในอนาคตได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำมาดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดี ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นจะช่วยให้เราเข้าใจและมองเห็นภาพรวมของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มากยิ่งขึ้น และสามารถนำเรื่องราวเหล่านั้นไปเผยแพร่ให้กับประชาชนและผู้สนใจได้ต่อไป  

 

บทความโดย รัตติยา ไชยวงศ์

นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย

 


 

บรรณานุกรม

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒. วัฒนธรรม  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์  เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดอุตรดิตถ์. ๒๕๔๒.

นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์, ภูมิศาสตร์กายภาพภาคเหนือของประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๓ เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,๒๕๓๔.

ศิลปากร, กรม. กลองมโหระทึกในประเทศไทย, บริษัท อาทิตย์ โปรดักส์กรุ๊ป จำกัด,๒๕๔๖, 

ศิลปากร, กรม. แผนแม่บทเมืองพิษณุโลก , กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, ๒๕๔๓.

ศิลปากร, กรม. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม ๖ (ภาคเหนือ) ,กรุงเทพฯ : หจก.ไอเดียสแควร์,๒๕๓๔.

ศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย, สำนัก. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีม่อนอารักษ์ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ , ๒๕๕๑.

(จำนวนผู้เข้าชม 10113 ครั้ง)


Messenger