ที่ตั้งและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์
เมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ ๖ ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๗๐ ๒๕́ ๓๐˝ - ๑๗๐ ๒๖́ ๐๐˝ เหนือ และเส้นแวงที่ ๙๙๐ ๔๗́ ๐๐˝ -๙๙๐ ๔๗́ ๔๐˝ ตะวันออก (แผนที่ทหารระวางที่ ๔๙๔๓I พิมพ์ครั้งที่ ๑-RTSD ลำดับชุด L๗๐๑๗ มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ )
ตัวเมืองตั้งอยู่บนพื้นที่ราบริมแม่น้ำยมเชิงเทือกเขาพระศรี ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมือง ประกอบไปด้วยเขาพระศรีและเขารังแร้งเทือกเขาพนมเพลิงวางตัวอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยเขาแก้วและเขาใหญ่อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก เขาสุวรรณคีรีและเขาพนมเพลิงตั้งอยู่กลางเมือง จากนั้นเป็นไหล่เขาลาดลงไปยังแม่น้ำยม ช่วงที่พาดผ่านแม่น้ำยมทำให้เกิดแก่งน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า“แก่งหลวง”
ลักษณะธรณีสัณฐานกลุ่มเทือกเขาด้านทิศตะวันตกเป็นกลุ่มหินราชบุรี (Ratburi Group) จัดอยู่ในยุคCarboniferousและPermianที่เกิดขึ้นเมื่อ ๓๔๕ ล้านปีมาแล้ว ประกอบด้วยหินหมวดราชบุรี (Ratburi Formation) หินกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นหินปูนผลึกสีเทาอ่อน บางบริเวณเป็นเขาโดด แต่บางบริเวณเป็นเทือกเขาใหญ่ หินมีการโค้งงอและมีการเกิดผลึกใหม่ ส่วนหินที่อยู่ด้านล่างของกลุ่มนี้เป็นหินกลุ่มตะนาวศรีซึ่งพบกว้างกว่า พบมากที่ราชบุรีซึ่งมีซากดึกดำบรรพ์ของยุคเพอร์เมียน โดยวางตัวในลักษณะไม่ต่อเนื่องทางธรณีวิทยาบนหินแก่งกระจานและมีหินชั้นสีแดงของหมู่หินยุคเพอร์เมียนวางตัวอยู่บนร่องรายการเซาะพังของหินปูนกลุ่มเทือกเขาด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นกลุ่มหินตะนาวศรี(Tanaosi Group) จัดอยู่ในยุคSilurian-DevonianและCarboniferousที่เกิดขึ้นเมื่อ ๔๒๕ล้านปีมาแล้ว ประกอบด้วยหินหมวดกาญจนบุรี(Kanchanaburi Formation) เป็นชุดที่มีการแปรสภาพและมีซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ในยุคไซลูเรียนและดีโวเนียน ส่วนมากเป็นหินที่มีการตกตะกอนซึ่งได้แปรสภาพไปเป็นหินชนวน หินฟิลไลท์และหินควอทไซท์หินมีการโค้งงอมาก
ลักษณะปฐพีสัณฐานมีวัตถุต้นกำเนิดดินที่สามารถแยกได้เป็น ๒ ชนิดคือ
- วัตถุตกค้างและหินลาดเชิงเขา(Residium and Colluvium) เกิดจากการผุพังสลายตัวของพวกหินดินดาน ส่วนหินชนิดอื่นๆ มีบ้างเล็กน้อย เช่น หินกรวดมน หินควอทไซท์ เนื้อดินบริเวณนี้เป็นดินละเอียด แต่บางครั้งจะมีพวกเศษหินดังกล่าวปะปนอยู่ในเนื้อดินด้วย
- ตะกอนของลำน้ำ(Alluvium) ดินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ เกิดขึ้นตามลำห้วยหรือที่ราบระหว่างหุบเขาที่เป็นบริเวณแคบๆ มีเนื้อดินที่ไม่แน่นอน เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง ดินตะกอนของลำน้ำบริเวณนี้มี ๓ ชนิด คือ ดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำใหม่(Recent Alluvium) ดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำค่อนข้างใหม่(Semi – Recent Alluvium) และดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำเก่า(Old Alluvium) เนื้อดินบริเวณนี้เป็นดินเนื้อละเอียดปานกลางถึงหยาบ และบางแห่งจะมีพวกก้อนกรวดปะปนอยู่ในเนื้อดิน มีอายุประมาณ ๗๕ ล้านปีถึงปัจจุบัน
สภาพพื้นที่บริเวณเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยค่อนข้างราบเรียบถึงสภาพพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อยและสภาพพื้นที่เนินเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดเทจากด้านทิศตะวันตกไปสู่ตะวันออกและสามารถจำแนกประเภทของดินได้ดังนี้
1. Red-Yellow Podzolic Soils เป็นประเภทของดินที่พบอยู่บริเวณที่ตั้งเมืองศรีสัชนาลัยดินประเภทนี้เกิดทั่วไปจากหินหลายประเภทตลอดจนบนที่ราบขั้นบันไดต่างระดับกัน เป็นดินส่วนใหญ่ที่พบในบริเวณป่าไม้และเชิงเขาโดยทั่วๆ ไป
2. Low Humic Grey Soils เป็นประเภทของดินที่พบอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองศรีสัชนาลัย ลักษณะของดินเป็นดินที่เกิดในที่ต่ำ มีการระบายน้ำเลว ลักษณะที่สำคัญ คือ ระดับน้ำใต้ดินจะตื้นและแช่ขังเป็นครั้งคราว เกิดในที่ราบขั้นบันไดเป็นส่วนใหญ่และใช้ในการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก
3. Grey Podzolic Soils เป็นประเภทของดินที่พบทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองศรีสัชนาลัย เกิดบนที่ราบขั้นบันไดที่มีอายุ สภาพพื้นที่มักเป็นที่ราบลุ่มๆ ดอนๆ และมีภูมิอากาศที่มีระยะเปียกและแห้งสลับกัน เป็นดินที่ถูกชะล้างมาก หน้าดินจะมีสีเทาจัดเมื่อแห้ง”(ธาดา สุทธิเนตรและนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์ : ๒๕๔๐)
ภาพที่ ๑ ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมบริเวณเมืองเชลียง
เมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยในศิลาจารึกและเอกสารทางประวัติศาสตร์
เรื่องราวก่อนสมัยสุโขทัย(หรือก่อนการสถาปนาราชวงศ์สุโขทัยของพ่อขุนบางกลางหาวในปลายพุทธศตวรรษที่๑๘)ของเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยนั้นไม่ชัดเจนนัก มีเพียงเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่าชุมชนแห่งนี้มีการตั้งถิ่นฐานมาแล้วตั้งแต่ในราวพุทธศตวรรษที่๑๖เป็นอย่างน้อย โดยปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่งภาคเหนือ(พ.ศ.๑๕๐๓-๑๖๖๙)ฉบับหอหลวง เล่มที่๔๘๙ บทที่๒๔๘ ว่า “ประเทศตันเหมยหลิวเบื้องตะวันออกไปยังจ้านล่าระยะทาง ๕๐ เฉิง เบื้องใต้ไปหลิงเย่โดยทางน้ำ ๑๕ เฉิง เบื้องตะวันตกไปสีเทียนระยะทาง ๓๕ เฉิง เบื้องเหนือไปเฉิงเหลียงระยะทาง ๖๐ เฉิง เบื้องตะวันออกเฉียงใต้ไปเฉิงเย่อระยะทาง ๑๕ เฉิง เบื้องตะวันตกเฉียงเหนือไปลั่วหัวระยะทาง ๒๕ เฉิง”(วินัย พงศ์ศรีเพียร : ๒๕๓๑)
นอกจากนี้แล้วยังปรากฏในจารึกวัดศรีชุม ซึ่งเป็นจารึกสมัยสุโขทัยที่กล่าวถึงการมีตัวตนของเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยในลักษณะของการบอกเล่าเรื่องราวย้อนหลังในรัชสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถุม ด้านที่๑ บรรทัดที่๑๑-๑๒ ความว่า ”เป็นขุนยี่ขุนนางนักหนาแ.........เป็นขุนในเมืองเชลียง.........เมืองใต้ออกพ่อขุนนำถุม” (กรมศิลปากร :๒๕๔๗) และกล่าวถึงความวุ่นวายทางการเมืองในแคว้นสุโขทัยภายหลังการสวรรคตของพ่อขุนศรีนาวนำถุม อันเป็นเหตุให้พ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลาวหาวร่วมมือกันทำสงครามยึดอำนาจทางการเมืองกลับคืนมาจากขอมสบาดโขลญลำพง โดยเริ่มจากการที่พ่อขุนบางกลางหาวตีเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยได้ จากนั้นจึงยกทัพลงมารวมพลกับพ่อขุนผาเมืองที่เมืองบางขลัง ก่อนจะบุกเข้าตีเมืองสุโขทัยได้สำเร็จ และพ่อขุนบางกลาวหาวได้สถาปนาราชวงศ์สุโขทัยขึ้นในเวลาต่อมา ในด้านที่ ๑ บรรทัดที่๒๐-๓๕ ความว่า ” สิริพลพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดพาพ่อขุนผาเมืองผดาจกันแลกัน พ่อขุนบางกลางหาวได้เมืองศรีเสชนาไล......พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดเอาพลมาตบกันที่บางขลง”(กรมศิลปากร :๒๕๔๗)
เมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยในมิติการดำเนินงานทางโบราณคดี
กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจ-ขุดค้นทางโบราณคดีในเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยและในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่นและวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงก่อนสมัยสุโขทัยเป็นจำนวนมาก และยังช่วยให้สามารถแบ่งพัฒนาการทางสังคมภายในเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยก่อนสมัยสุโขทัยได้ดังนี้ (ธาดา สุทธิเนตรและสถาพร เที่ยงธรรม : ๒๕๔๐)
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่๙ เป็นยุคแรกที่มนุษย์เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยบริเวณเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัย หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ(earthenware)เนื้อดินหยาบสีน้ำตาลและสีเทามีเม็ดทรายปนในปริมาณมาก ตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ จึงทำให้เนื้อด้านในของภาชนะยังคงเป็นสีดำ
สันนิษฐานว่าลักษณะทางสังคมมนุษย์ที่อาศัยบริเวณเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยในขณะนั้นเป็นสังคมแบบเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกผสมผสานกับการล่าสัตว์หาของป่า มีการใช้ภาชนะที่ทำจากดินเผาแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการนับถือศาสนาและการใช้ภาษา-ตัวอักษร
ภาพที่ ๒ เศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่พบจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น
สมัยหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมทวารวดี
กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่๑๑-๑๖ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่บริเวณวัดชมชื่น กล่าวคือปรับเปลี่ยนจากแหล่งที่อยู่อาศัยไปเป็นสุสานหรือหลุมฝังศพ จากการขุดค้นได้พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 18 โครงที่ถูกฝังลงไปในชั้นดินธรรมชาติที่ว่างเปล่าใต้ชั้นวัฒนธรรมที่พวกเขาอยู่อาศัยราว ๕๐-๑๐๐ เซนติเมตร โครงกระดูกเหล่านี้หันศีรษะค่อนไปทางทิศตะวันตก ไม่มีแบบแผนการจัดเรียงศพที่ชัดเจนตายตัว มีทั้งนอนหงายเหยียดยาว,นอนตะแคงและนอนขุดคู้ โดยเกือบทั้งหมดมีการมัดตราสังข์ที่ข้อเท้าและหัวเข่า พบทั้งเพศหญิงและเพศชาย มีอายุขณะเสียชีวิตตั้งแต่ ๕-๓๕ปี ความสูงโดยเฉลี่ยของเพศชาย ๑๖๘.๐๓ เซนติเมตร(สมการไทยจีน) เพศหญิง ๑๖๐.๐๕ เซนติเมตร(สมการไทยจีน) เป็นกลุ่มคนที่มีสุขภาพอนามัยดี เนื่องจากไม่พบร่องรอยของโรคที่มีผลกระทบต่อกระดูกโดยตรงและโรคฟันผุ อีกทั้งยังมีการดูแลสุขภาพในช่องปากด้วยการขัดและฝนฟันทั้งด้านตัดและด้านหน้าที่ติดกับริมฝีปากอีกด้วย(ประพิศ ชูศิริ : ๒๕๔๐)
ภาพที่ ๓ โครงกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบร่วมกับโครงกระดูกเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุอุทิศที่ฝังร่วมกับศพผู้ตายที่แสดงให้เห็นถึงการรับวัฒนธรรมทวารวดีมาประยุกต์ใช้ ได้แก่ แท่งดินเผาทรงกระบอกตกแต่งผิวด้วยการขูดขีดเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน โบราณวัตถุชนิดนี้พบได้ทั่วไปตามแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมทวารวดี เช่น เมืองพระรถ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น โดยศ.ดร.ผาสุก อินทราวุธ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้สันนิษฐานว่าเป็นวัตถุที่ใช้ขัดถูผิวกาย เนื่องจากในปัจจุบันยังมีกลุ่มคนในประเทศอินเดียที่ยังใช้แท่งดินเผาในลักษณะนี้ขัดผิวเวลาอาบน้ำ(ธาดา สุทธิเนตรและสถาพร เที่ยงธรรม : ๒๕๔๐)
ภาพที่ ๔ แท่งดินเผาจากแหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น
นอกจากนี้แล้วยังพบลูกปัดหินคาร์เนเลียนสีส้มที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนที่เรียกว่าการหุงลูกปัด ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษของช่างอินเดีย อันแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนที่เมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยกับอินเดีย โดยอาจเป็นการติดต่อผ่านชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดีที่เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลในขณะนั้น เช่น เมืองอู่ทองหรือเมืองคูบัวก็เป็นได้
ภาพที่ ๕ ลูกปัดหินคาร์เนเลียนจากแหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น
วัฒนธรรมร่วมแบบเขมร-ต้นสุโขทัย
ในพุทธศตวรรษที่๑๘ อาณาจักรเขมรในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่๗ได้แผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมเข้ามายังดินแดนไทยเป็นอย่างมาก ดังที่ได้ปรากฏโบราณสถานและโบราณวัตถุในศิลปะแบบบายนมากมาย ในขณะนั้นชายขอบวัฒนธรรมเขมรด้านทิศใต้ได้แก่วัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ทิศตะวันตกได้แก่ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนชายขอบทางวัฒนธรรมด้านทิศเหนือนั้นก็คือเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยนั่นเอง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง
โบราณสถานในเมืองเชลียง-ศรีสัชนาลัยที่สร้างขึ้นในยุคนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายนอย่างเด่นชัด ได้แก่ ยอดซุ้มประตูทางเข้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง ที่ก่อเป็นยอดคล้ายปราสาทเขมร โกลนในเป็นศิลลาแลงประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนบนสุดทำเป็นรูปใบหน้าบุคคลยิ้มแบบมีเลศนัยทั้งสี่ด้าน สันนิษฐานว่าอาจเป็นใบหน้าของประโพธิสัตว์ ถัดลงมาเป็นรูปเทวดาประทับนั่งและรูปนางอัปสรร่ายรำ
ภาพที่ ๖ ซุ้มประตูทางเข้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง
ส่วนโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งคือปราสาทวัดเจ้าจันทร์ ซึ่งเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ ด้านหน้าเป็นห้องที่มีกรอบประตูโค้งสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ แต่ต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาแบบหินยาน นอกจากนี้ที่โบราณสถานวัดชมชื่นยังพบหลักฐานว่ามีการก่อสร้างเจดีย์ประธานครอบสิ่งก่อสร้างคล้ายปราสาทเขมรเอาไว้ภายใน(กรมศิลปากร : ๒๕๓๖)
ภาพที่ ๗ วัดเจ้าจันทร์
จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียงและวัดชมชื่นได้พบซากอาคารก่อด้วยอิฐจำนวน ๓ หลังด้วยกัน โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญที่พบร่วมกับซากอาคารอิฐที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง คือ ชิ้นส่วนกระเบื้องเชิงชายทำด้วยดินเผาสีน้ำตาลเข้มปนดำ ตกแต่งเป็นรูปใบหน้าบุคคลสวมเทริด มีลวดลายค่อนข้างละเอียดและมีจุดวงกลมประดับอยู่ที่หน้าผาก(กรมศิลปากร : ๒๕๓๖) และการขุดแต่งด้านนอกกำแพงวัดยังได้พบเครื่องถ้วยจีนเคลือบขาวสมัยราชวงศ์ซ่งภาคใต้จากแหล่งเตาเต๋อฮั่ว มณฑลฝูเจี้ยน ที่กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่๑๘ด้วยเช่นกัน
ชุมชนดังกล่าวนี้ได้มีพัฒนาการทางสังคมอย่างต่อเนื่องมาจนเป็นเมืองศรีสัชนาลัยในสมัยสุโขทัยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่๑๙ และเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองสวรรคโลกในเวลาต่อมา
ภาพที่ ๘ ซากอาคารก่ออิฐภายในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดชมชื่น
ภาพที่ ๙ กระเบื้องเชิงชายรูปบุคคลพบจากการขุดค้นที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง
ภาพที่ ๑๐ เครื่องถ้วยจีนเคลือบขาวสมัยราชวงศ์ซ่งภาคใต้จากแหล่งเตาเต๋อฮั่ว มณฑลฝูเจี้ยน กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่๑๘
ที่พบจากการขุดแต่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง
บทความโดย บัณฑิต ทองอร่าม นักโบราณคดีชำนาญการ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย
บรรณานุกรม
นอร์ทเทิร์นซัน(๑๙๓๕) ,บริษัทจำกัด.รายงานเบื้องต้น : การขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดี โครงการปรับปรุงอาคารหลุมขุดค้นวัดชมชื่น,เอกสารอัดสำเนา,๒๕๔๙.
----------.รายงานการขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดี :โครงการขุดแต่งและออกแบบภูมิทัศน์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง(ต.๑) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย,เอกสารอัดสำเนา,๒๕๕๑.
ปุราณรักษ์ , ห้างหุ้นส่วนจำกัด.รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย,เอกสารอัดสำเนา,๒๕๓๗.
สุรเดช วิชิตจารุกุล.พัฒนาการเมืองเชลียง : การศึกษาจากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์และข้อมูลใหม่ทางโบราณคดี,สารนิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๓๗.
ศิลปากร,กรม.เมืองเชลียง เชียงชื่น ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก,สำนักพิมพ์สมาพันธ์,๒๕๓๖.
----------.รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเมืองเชลียง แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น,เอกสารอัดสำเนา,๒๕๓๗.
----------. วัดชมชื่น, ส.ไพบูลย์การพิมพ์ , ๒๕๔๐.
----------. ประชุมจารึกภาคที่๘ จารึกสุโขทัย, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ,๒๕๔๗.
วินัย พงศ์ศรีเพียร.ศรีสัชนาลัย:ปัญหาในประวัติศาสตร์ไทย,แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี ฉบับพิเศษ ปีที่๒๒ มกราคม-ธันวาคม,๒๕๓๒.
วันวิสาข์ ธรรมานนท์.ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย,วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๔๓.
หฤทัย ดีรุ่งโรจน์.การกำหนดอายุและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย,สารนิพนธ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๓๗.
เหมลักษณ์ก่อสร้าง , ห้างหุ้นส่วนจำกัด. รายงานเบื้องต้นการขุดค้นทางโบราณคดี โครงการขุดค้นชั้นดินทางโบราณคดี ขุดแต่งกำแพงเมืองด้านตะวันออกริมแม่น้ำยม กำแพงเมืองด้านทิศเหนือและวัดร้างต.๓๒.เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๔๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 7937 ครั้ง)