...

วัฒนธรรมการทำกล่องหินที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบและนายเสียน หนึ่งในปริศนาที่ต้องช่วยกันขบคิด

วัตถุประสงค์ของบทความนี้มีความสอดคล้องกับชื่อเรื่อง คือต้องการให้ช่วยกันคบคิดกับปริศนาเกี่ยวกับ “กล่องหิน” (Slab stone box) ซึ่งคำว่ากล่องหินเป็นคำที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดของรูปทรงของกล่องหินที่มีรูปร่างคล้ายกับโลงศพอย่างมาก เพราะปัญหาหนึ่งในตอนนี้คือผลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีนายเสียนซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยไขปริศนาที่ผู้เขียนคาใจมานานกว่า 5 ปี หลังจากการขุดค้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2550 ที่พบกล่องหินจำนวน 7 กล่องเพราะจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนจำนวน 2 หลุมขุดค้น ได้พบกล่องหินเป็นจำนวนมากถึง 12 กล่อง แต่ขุดเปิดภายในกล่องหินจำนวน 3 กล่องเท่านั้น กลับไม่พบโครงกระดูกตามที่เคยตั้งสมมติฐานไว้บ้างว่ากล่องหินอาจจะเป็นโลงศพ เพราะหลักฐานบางอย่างชวนให้คิดว่ากล่องหินคงจะเป็นที่ฝังศพครั้งแรก (primary burial) ก็ตาม ซึ่งก็น่าจะหลงเหลือเศษกระดูกมนุษย์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่พบ ดังนั้นจึงจำต้องใช้คำว่า “กล่องหิน” เช่นเดิมต่อไป จนกว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ เพิ่มเติม เพราะในทัศนะของผู้เขียน การจะตีความทางโบราณคดี (Interpretative archaeology) ก็ควรอิงกับหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) มากกว่าเป็นข้อสันนิษฐานแบบคาดคิดตามประสบการณ์1แต่ถ้าผู้ใดจะตีความกล่องหินแล้วเรียกว่าโลงศพ ผู้เขียนก็ไม่ขัดเพราะบทความนี้ถือเป็นพื้นที่เปิดทางความคิดให้กับทุกท่านในการตีความหลักฐานทางโบราณคดี

บทความนี้นำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการสำรวจและขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีในเขตตำบลวังประจบทั้งหมด เพื่อเข้าใจการกระจายตัวและรูปแบบการใช้พื้นที่ (settlement pattern) ของกลุ่มคนในวัฒนธรรมนี้ จากนั้นจะนำเสนอผลการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่พบกล่องหินเป็นหลัก อายุสมัย และการตีความเกี่ยวกับหลักฐานที่ค้นพบทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งได้จากการทำงานภายใต้โครงการวิจัยของผู้เขียนคือ โครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีวัฒนธรรมวังประจบในเขตลุ่มน้ำแม่ระกา อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งสนับสนุนทุนวิจัยโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท หลักฐานที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนครั้งใหม่นี้นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะจากการสำรวจบนพื้นผิวดินทำให้พบกล่องหินมากกว่า 30 กล่อง และยังพบร่องรอยของแผ่นหินตั้ง (standing stone) หลายจุด และจากการขุดค้นจำนวน 2 หลุมยังพบกล่องหินกับกลุ่มของหินตั้งควบคู่กัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของระบบความเชื่อของคนในกลุ่มวัฒนธรรมนี้ การตีความหลักฐานที่ค้นพบใหม่นี้ ผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ ที่คิดว่ามีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การอธิบายแนวคิดและระบบความเชื่อของกลุ่มคนในวัฒนธรรมนี้

ภูมิศาสตร์กับการตั้งถิ่นฐานอดีต-ปัจจุบัน

แหล่งโบราณคดีที่อยู่ในเขตตำบลวังประจบทั้งหมดตั้งอยู่ในลุ่มน้ำแม่ระกาทางฝั่งตะวันตก ซึ่งสะท้อนถึงรูปแบบการตั้งถิ่นฐานที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้านในปัจจุบันพอสมควร กล่าวคือ แหล่งโบราณคดีทั้งหมดพบว่าตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของลำห้วยแม่ระกา ซึ่งพื้นที่บริเวณทางฝั่งตะวันตกของลำห้วยแม่ระกาจะมีภูเขาขนาดเล็กอยู่หลายลูกเรียงกันจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้วิ่งขนานไปกับลำห้วย ทำให้พื้นที่ฝั่งตะวันตกชุ่มชื้นกว่าเมื่อเทียบกับทางฝั่งตะวันออก เพราะไม่มีน้ำซับ พื้นที่ส่วนใหญ่จึงค่อนข้างแห้งแล้ง

แผนที่ 1 แสดงตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ บ้านแก่งหิน นายเสียน และบ้านหนองร่ม

 

ในปัจจุบันหมู่บ้านต่างๆ ในเขตตำบลวังประจบจึงมักตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลำห้วยแม่ระกา ซึ่งชาวบ้านแถบนี้เรียกว่า “คลองใหญ่” ต้นน้ำแม่ระกาไหลมาจากภูเขาทางเหนือของตำบลวังประจบแถบเขตบ้านเด่นไม้ซุง เขตบ้านโป่งแดง ซึ่งที่บ้านโป่งแดง ต.โป่งแดง อ.เมือง จ.ตาก เคยมีรายงานว่าได้พบแหล่งโบราณคดีสมัยเหล็กแต่ได้ถูกทำลายไปแล้ว ส่วนปลายน้ำไหลไปลงแม่น้ำปิงที่บ้านเกาะน้ำโจน เขตอำเภอโกสัมพี จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงของอำเภอโกสัมพีก็มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีสมัยเหล็กเช่นกัน (สัมภาษณ์, นายวีระศักดิ์ แสนสะอาด 2556) ถ้าเปรียบเทียบสภาพภูมิประเทศตลอดแนวลำน้ำแม่ระกาจะพบว่าในเขตบ้านโป่งแดง-ตำบลวังประจบ-บ้านหนองร่มจัดเป็นเขตแห้งแล้งคือในฤดูแล้งอากาศจะร้อนและแล้งจัด การกักเก็บน้ำในเขตนี้ไม่ดีมากนัก แต่เมื่อข้ามมาในเขตบ้านป่าไม้ของอำเภอโกสัมพีแล้วจะเป็นพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นมากกว่า

ในอดีตเมื่อถึงในฤดูแล้ง คลองใหญ่แทบจะไม่มีน้ำ ยกเว้นบางจุดที่เป็นวังน้ำ (เช่นบ้านแก่งหิน) จะมีน้ำอยู่บ้าง แต่หลักๆ แล้วชาวบ้านจะใช้วิธีการขุดบ่อน้ำลึกลงไปประมาณ 3-4 เมตรจากพื้นดินก็จะพบน้ำใต้ดินอยู่ น้ำใต้ดินนี้จะมีเฉพาะทางทิศตะวันตกของลำห้วย ส่วนทางทิศตะวันออกต้องขุดลงไปลึกมากอาจเกิน 10 เมตร อาจด้วยเหตุผลเรื่องน้ำซับนี้เองทำให้แหล่งโบราณคดีทั้งหมดตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาเช่น แหล่งโบราณคดีนายเสียน และบ้านแก่งหินตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขาน้อย แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาป่าควงใกล้กับห้วยแม่ระกา สุดท้ายคือแหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่มตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเตี้ยๆ ใกล้กับหนองน้ำและทางน้ำเก่า

แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ในเขตบ้านวังประจบน้ำมักท่วมรอบๆ หมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านแก่งหิน บ้านสะแกเครือ บ้านหนองร่ม เพราะน้ำจะหลากค่อนข้างรวดเร็วและเอ่อล้นลำห้วยแม่ระกา น้ำจะขุ่นมากและไหลค่อนข้างเร็วๆ แต่การที่น้ำท่วมเอ่อล้นตลิ่งช่วยทำให้ที่ราบมีความอุดมสมบูรณ์จากดินตะกอนจึงเหมาะกับการทำนา โดยเฉพาะบางหมู่บ้านจะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ด้วยเช่นบ้านหนองร่ม เป็นต้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะทำนาปีและปลูกข้าวเจ้าเป็นหลัก มีการปลูกข้าวเหนียวอยู่บ้าง

มีเรื่องที่ต้องกล่าวด้วยว่า บ้านวังประจบเริ่มตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อราว 100 กว่าปีมาแล้ว สภาพของบ้านวังประจบสมัยก่อนเป็นป่าดง ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย มีเพียงทางเกวียนตัดผ่านจากสุโขทัยไปตาก ตรงจุดที่ตั้งบ้านวังประจบในปัจจุบันนั้นจุดที่ชาวบ้านจะข้ามน้ำแม่ระกากัน จึงเรียกว่าท่าข้าม เมื่อผ่านไปตรงที่เป็นที่ตั้งวัดแก่งหินปัจจุบันเส้นทางนี้แยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งตรงไปจังหวัดสุโขทัย ส่วนอีกเส้นหนึ่งแยกลงไปทางใต้ไปจังหวัดกำแพงเพชร ตรงจุดที่ทางแยกนี้อยู่ใกล้กับห้วยแม่ระกา ซึ่งน้ำไหลวกลงไปทางใต้ และที่ตรงนี้มีวังน้ำลึก น้ำขังตลอดปี ผู้คนที่เดินทางสัญจรไปมามักจะมาพักที่นี้ เพราะได้อาศัยน้ำในวังนี้ จึงเรียกวังน้ำนี้ว่า “วังประจบ”

สำหรับคนที่มาอยู่อาศัยที่บ้านวังประจบนั้น ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อบ้านน้ำรึมเป็นหมู่บ้านใหญ่มีผู้คนเป็นจำนวนมากพอเสร็จหน้าทำนามักจะพากันเข้าป่า และบุคคลเหล่านั้นส่วนหนึ่งจะมาที่วังประจบ จุดมุ่งหมายที่มาคือ มาล่าสัตว์บ้าง หาของป่าบ้าง และพาควายมาพักแรกบ้าง เพราะคลองแม่ระกามีวังน้ำเป็นช่วงๆ ตลอดปี บุคคลที่มาเหล่านี้มาพบที่ป่ามีลักษณะที่เหมาะแก่การทำไร่ทำนา จึงได้พากันมาจับจองไว้เป็นของตนเอง จึงเกิดกลุ่มหมู่บ้านเล็กๆ กลุ่มละ 4 – 5 หลังคาเรือนต่อมามีผู้คนอพยพเข้ามามากขึ้นและได้ตั้งเป็นหมู่บ้านวังกอบง (ปัจจุบันอยู่หลังโรงเรียนวังประจบวิทยาคม) บ้านท่าข้าม (อยู่ตรงกรมทางหลวงในปัจจุบัน) บ้านวังประจบ (ตรงบ้านวังประจบเก่า) บ้านหนองจิก (คือบ้านแก่งหินในปัจจุบัน) และบ้านหาคลองสัก (คือบ้านสะแกเครือในปัจจุบัน) ไม่นานนักคือเมื่อราวๆ 50-60 ปีได้มีคนอพยพเข้ามามากขึ้นและได้ตั้งบ้านลานเต็ง บ้านลานยาง บ้านหนองร่ม บ้านลานสอ บ้านโป่งแดง เป็นต้น

การกระจายตัวของแหล่งโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีที่พบในเขตตำบลวังประจบทั้ง 4 แหล่งคือ คือ บ้านวังประจบ นายเสียน บ้านแก่งหิน และหนองร่ม แหล่งโบราณคดีข้างต้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ แหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งพิธีกรรม แต่สาเหตุที่สามารถจัดให้แหล่งโบราณคดีทั้งหมดอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน เพราะพบชุดของหลักฐานเช่น ขวานหินขัด กำไลหิน ที่มีรูปแบบเหมือนกัน การแบ่งแยกพื้นที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่พิธีกรรมเช่นนี้ย่อมสะท้อนถึงความซับซ้อนพอควรของคนในวัฒนธรรมวังประจบ

แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบและแหล่งโบราณคดีนายเสียน เป็นแหล่งพิธีกรรมที่อยู่ไม่ห่างกันมากคือประมาณ 2 กิโลเมตร (ดูแผนที่ประกอบ) แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบขุดค้นพื้นที่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นพื้นที่ขุดค้น 72 ตารางเมตร พบกล่องหินจำนวน 6 กล่อง แต่ขุดค้นได้เพียง 5 กล่อง และยังได้พบรูปแบบพิธีกรรมย่อยคือการเรียงแผ่นหินตั้ง (Slab lined) อีกด้วย สภาพของแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบในปัจจุบันนับว่าเสียดายเป็นอย่างมาก เพราะได้ถูกทำลายไปแล้วภายหลังจากการขุดค้น เนื่องจากไม่มีแนวทางในการอนุรักษ์ใดที่ชัดเจนของหน่วยงานต่างๆ ส่วนแหล่งโบราณคดีนายเสียน อยู่ในพื้นที่ป่าชุมชนพบกล่องหินหลายกล่อง เมื่อปี พ.ศ.2550 ได้ขุดค้นไปจำนวน 2 กล่องด้วยกัน โดยขุดค้นเฉพาะตัวกล่องหินเท่านั้นพบหลักฐานไม่ต่างจากบ้านวังประจบจึงจัดอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบและนายเสียนมีความคล้ายคลึงกันคือตั้งอยู่ใกล้กับที่ลาดเชิงเขา โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีนายเสียนตั้งอยู่บนเนินเขาน้อยชัดเจน สภาพปัจจุบันของแหล่งโบราณคดีนายเสียนกำลังน่าเป็นห่วงเพราะไร่มันสำปะหลังอยู่ไม่ห่างจากตัวแหล่งโบราณคดีมากนัก

สำหรับแหล่งโบราณคดีอีก 2 แหล่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เพราะไม่พบกล่องหิน แหล่งโบราณคดีแห่งแรกคือบ้านแก่งหินจากการสำรวจพบขวานหินขัดทั้งที่ทำเสร็จแล้วและเป็นโกลน ภาชนะดินเผา และกำไลหิน เป็นต้น สภาพปัจจุบันมีการทำไร่มันสำปะหลังทำให้แหล่งโบราณคดีถูกทำลายหนักมาก แหล่งโบราณคดีบ้านแก่งหินคงเป็นหมู่บ้านที่สัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีนายเสียนเพราะตั้งอยู่ห่างกันเพียง 1.5 กิโลเมตร ส่วนอีกแหล่งหนึ่งคือบ้านหนองร่มพบหลักฐานเหมือนกับที่บ้านแก่งหิน ได้รับการขุดค้นจำนวน 5 หลุม ส่วนใหญ่หลุมลึกประมาณ 1.5 เมตร หลักฐานที่พบมีเศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกำไลหิน เครื่องประดับรูปวงกลม ขวานหินขัด หินลับ และลูกปัดดินเผา ไม่พบเครื่องมือโลหะจากการเดินสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ไม่พบแหล่งพิธีกรรมกล่องหิน แต่พื้นที่ในเขตบ้านหนองร่มคงเป็นชุมชนหรือแหล่งสกัดหินฟิลไลท์ (phyllite) เพราะสัณฐานของภูเขาเป็นหินชนิดนี้ ในขณะที่เขตบ้านแก่งหินและบ้านวังประจบเป็นหินตระกูลอัคนี ระยะทางจากแหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่มถึงบ้านวังประจบมีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร สมัยก่อนชาวบ้านเดินทางติดต่อกันด้วยเส้นทางเกวียนเลาะจากบ้านหนองร่มผ่านเขาใหญ่-เขาน้อยและบ้านวังประจบ ชาวบ้านไม่ได้ใช้เรือในการเดินทางในลำห้วยแม่ระกา

นอกจากแหล่งโบราณคดีทั้ง 4 แห่งนั้นแล้ว ผู้เขียนยังไม่พบแหล่งโบราณคดีอื่นในกลุ่มวัฒนธรรมนี้อีกในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ในที่นี้ผู้เขียนขอเรียกรวมกลุ่มแหล่งโบราณคดีนี้ในเบื้องต้นว่า “วัฒนธรรมวังประจบ” เพราะแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบได้ขุดพบกล่องหินเป็นที่แรกและมีความโดดเด่นของลักษณะทางวัฒนธรรม อนึ่ง จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน เล่ากันว่าในสมัยช่วงที่มีการสร้างถนนสายบ้านน้ำดิบ-วังประจบ-อำเภอเมืองเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว รถแทรกเตอร์ที่ใช้สำหรับการสร้างถนนได้เคยไถพบกล่องหินแบบนี้บริเวณใกล้กับบ้านวังประจบเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้สนใจว่าคืออะไร แต่ล่าสุดมีชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่าเคยพบแนวคล้ายกล่องหินนี้เช่นกันในเขตเขาดงปู๋และเขาวังน้ำดิบลึกเข้าไปในป่าเขตบ้านหนองร่ม ซึ่งห่างไปจากแหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่มราว 10 กิโลเมตร ในอนาคตควรจะต้องมีการสำรวจพื้นที่บริเวณนี้อย่างจริงจังต่อไป

การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านวังประจบและนายเสียน

1) การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ

แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบสำรวจและค้นพบโดยบังเอิญในช่วงเดียวกับที่มีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่มเมื่อปี พ.ศ.2549 โดยพบเป็นแนวขอบหินของกล่องเหนือผิวดิน หลังจากนั้นจึงได้เริ่มต้นขุดค้นในปี พ.ศ.2550 โดยขุดค้นทั้งหมด 12 หลุมคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 66.5 ตร.เมตร เลือกขุนค้นในพื้นที่กึ่งกลางของแหล่งโบราณคดีเท่าที่สามารถจะขุดค้นได้ หลุมขุดค้นค่อนข้างตื้นมีความลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเคยนำรถไถมาปรับพื้นที่ให้ราบเพื่อสร้างบ้านแต่ก็ทำเพียงบางๆ เท่านั้น

ภาพที่ 1 แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ

ภาพที่ 2 แหล่งโบราณคดีนายเสียน

ภาพที่ 3 ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีนายเสียน (Nai Sien)

 

ชั้นดินของแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้นดินหลักคือ ชั้นดินตอนบนมีความหนาเพียง 5-10 เซนติเมตร ชั้นดินที่สองเป็นชั้นกิจกรรมของวัฒนธรรมวังประจบ มีความหนาตั้งแต่ 20-40 เซนติเมตรขึ้นอยู่กับพื้นที่ และชั้นดินที่สามเป็นชั้นดินธรรมชาติมีลักษณะเป็นดินลูกรังและมีเม็ดแลงวางตัวอยู่เหนือชั้นหินภูเขา

แผนผังที่ 1 แสดงการกระจายตัวของหลักฐานในแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ

 

ในแง่ของการกระจายตัวของหลักฐานจากขอบเขตของพื้นที่ขุดค้นพบว่า ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นเฉียงใต้เป็นพื้นที่สำหรับการตั้งกล่องหิน กล่องหินวางตัวแนวยาวไปในทิศทางเดียวกันคือตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้มีทั้งหมด 5 กล่อง แต่ขุดค้นได้เพียง 4 กล่อง เพราะอีก 1 กล่องอยู่ใต้บ้านชาวบ้าน นอกจากนี้ ในพื้นที่กึ่งกลางของหลุมขุดค้นยังพบแนวแผ่นหินตั้ง (Slab lined) จำนวน 3 จุด เรียงเป็นแนวในระยะห่างๆ กันประมาณ 1.5 เมตร ใต้แนวแผ่นหินตั้งพบภาชนะดินเผาอยู่ด้วย

ภาพที่ 4 ภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นที่บ้านวังประจบ

ภาพที่ 5 ภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นที่บ้านวังประจบ

ภาพที่ 6 ขวานหินขัดที่พบจากการขุดค้นที่บ้านวังประจบภาพที่ 7 กำไลหินบ้านวังประจบ

 

ส่วนพื้นที่บริเวณตรงกลางของหลุมขุดค้นพบภาชนะดินเผากระจายเป็นกลุ่มๆ แบ่งได้ 15 กลุ่ม ภาชนะดินเผาค่อนข้างมีสภาพสมบูรณ์มักวางตัวหงายขึ้นแบบปกติ เดิมคงจะมีการนำอาหารใส่ไว้ภายใน เพื่ออุทิศบูชาให้กับกล่องหิน ที่กลุ่มของภาชนะดินเผามักพบชิ้นส่วนกำไลหินอยู่ด้วย ซึ่งมักประกอบเป็นวงได้ หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ขวานหินขัด พบจำนวน 4 ชิ้น ตำแหน่งที่พบคือพื้นที่กึ่งกลางของหลุมขุดค้น รูปแบบของขวานหินและเนื้อหินมีลักษณะไม่ต่างจากที่พบที่บ้านหนองร่มกับบ้านแก่งหิน จึงจัดว่าแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ และยังรวมถึงนายเสียนควรเป็นกลุ่มคนที่ใช้เครื่องมือหินขัดหรือตรงกับสมัยหินใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้คงต้องมีการถกเถียงกันต่อไปว่าความจริงอาจมีการใช้เครื่องเหล็กเพื่อทำกล่องหินก็ได้ เพราะร่องรอยที่ตัวกล่องหินมีลักษณะเหมือนถูกของมีคมและแข็งมาสกัดออกมากกว่าจะเป็นการใช้ขวานหินขัด

2) การขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีนายเสียน

นายเสียน สุขจิตร เป็นผู้พาผู้เขียนไปยังแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2550 และครั้งที่สองเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ผู้เขียนจึงตั้งชื่อแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ว่า “นายเสียน” เพื่อเป็นเกียรติกับผู้พามาค้นพบแหล่งโบราณคดี ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีนายเสียนตั้งอยู่ในเขตป่าชุมชนของบ้านแก่งหิน ไม่มีผู้ใดมีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองอย่างถูกกฎหมาย

ก่อนการขุดค้นได้ทำการสำรวจสภาพพื้นผิวดิน พบแนวของกล่องหินและหินตั้งกระจายตัวหลายจุด สำหรับกล่องหินนับได้ 19 จุด ส่วนแนวหินตั้งนับรวมได้ 7 จุด ขอบเขตของแหล่งโบราณคดีเมื่อประเมินจากหลักฐานบนพื้นผิวดินพบคาดว่ามีขนาดกว้างประมาณ 40 เมตร ยาว 75 เมตร แนวกล่องหินเรียงขนาดกัน 2 แนว ระหว่างแนวของกล่องหินมีแนวหินเรียงเป็นแนวยาวไม่ต่อเนื่องกัน 2 แนวเรียงไปในทางทิศตะวันตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ หินที่ใช้เรียงเป็นแนวยาวนี้เป็นหินหลากหลายประเภทเป็นหินที่นำมาจากที่อื่น เพราะหินภูเขาบริเวณนี้เป็นหินกลุ่มหินอัคนี หินต่างถิ่นที่พบเช่น หินเชล (shale) หินแกรนิต (granite) หินชนวน (slate) เป็นต้น

การขุดค้นเริ่มต้นขุดค้นจากพื้นที่กลุ่มกล่องหินทางด้านทิศเหนือของตัวแหล่งคือด้านขอบสุดของแหล่ง เพราะตั้งอยู่ใกล้กับถนน (ทางดิน) ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการทำงาน การขุดค้นกำหนดหลุมขุดค้นจำนวน 2 หลุม หลุมแรกอยู่ทางด้านทิศเหนือมีขนาดหลุม 5x6 เมตร พบแนวกล่องหินชัดเจนจำนวน 4 แนว หลุมที่ 2 อยู่ถัดมาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ห่างจากหลุมที่ 1 ระยะ 2 เมตรไม่พบแนวกล่องหินแต่พบก้อนหินตั้งขึ้นโผล่พ้นผิวดินประมาณ 30 เซนติเมตร จึงคิดว่ามีความน่าสนใจ เพราะอาจสัมพันธ์กับพิธีกรรมการทำกล่องหิน

ภาพที่ 8 กล่องหินในหลุมขุดค้นที่ 1 แหล่งโบราณคดีนายเสียน

ผลจากการขุดค้นหลุมขุดค้นที่ 1 พบจำนวน 7 กล่องหิน โดยมากมักวางกันเป็นคู่ๆ ใกล้ๆ กัน เช่น กล่องหินหมายเลข 2 กับกล่องหินหมายเลข 32วางห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ทิศทางการวางตัวของกล่องหินไม่เหมือนกับที่บ้านวังประจบคือที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนนั้นกล่องหินวางตัวแนวยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ (ส่วนที่บ้านวังประจบนั้นกล่องหินจะวางแนวยาวของกล่องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้) และรอบๆ กล่องหินไม่พบภาชนะดินเผามากมายเหมือนกับที่บ้านวังประจบ พบเพียงภาชนะดินเผาเนื้อหยาบและเปราะมากจำนวน 2 ใบเป็นถ้วยอยู่ทางทิศใต้สุดของหลุมใกล้กับกล่องหิน หมายเลข24 และชิ้นส่วนกำไล 2 ชิ้นวางอยู่ข้างๆ กล่องหินหมายเลข 3 และ 24

ผู้เขียนได้ขุดค้นเปิดภายในกล่องหินจำนวน 2 กล่อง (คือหมายเลข 2, 24) ไม่ได้ขุดหมด เพราะควรต้องมีแนวทางในการอนุรักษ์ในอนาคต ดังนั้น ผู้เขียนได้รื้อหินฟิลไลท์ขนาดเล็กที่ปกคลุมกล่องหินออก ผลจากการขุดค้นภายในกล่องหินหมายเลข 2 ทางด้านทิศตะวันออกพบชิ้นส่วนกำไลหิน 1 ชิ้น ทางทิศตะวันตกพบภาชนะดินเผาจำนวน 2 ใบ และกึ่งกลางของกล่องหิน 1 ใบ สภาพของภาชนะแตกหักอาจเกิดจากหินฟิลไลท์ที่ใช้ปิดกล่องหินทับหรือแรงกดจากดิน แต่สภาพโดยรวมคล้ายกับชำรุดมาก่อนหน้านั้นคือคล้ายแตกหักจากการรื้อกล่องหินในสมัยโบราณ เพราะชิ้นส่วนของภาชนะอยู่ไม่เต็มใบ การวิเคราะห์ภาชนะดินเผาที่พบเป็นไปได้ยาก เพราะสภาพของภาชนะดินเผาเปราะมากไม่ต่างจากดินแข็งๆ ดังนั้นในตอนนี้จึงได้จัดเก็บเบื้องต้นด้วยการใช้พลาสติกห่อไว้ก่อนจนกว่าจะมีแนวทางในการอนุรักษ์

สำหรับภายในกล่องหินหมายเลข 24 พบภาชนะดินเผาสภาพชำรุดมากเช่นกันวางอยู่ที่ส่วนเกือบปลายสุดของกล่องหินทางด้านทิศตะวันออกจำนวน 1 ใบ และทางด้านทิศตะวันตกจำนวน 1 ใบ ด้านนอกของกล่องหินพบชิ้นส่วนกำไล 1ชิ้นวางอยู่ทางทิศตะวันออก แต่ที่กล่องหินหมายเลข 24 นี้ได้ทำการงัดแผ่นหินพื้นทางด้านทิศตะวันตกขึ้นมาและขุดลงไปข้างใต้แผ่นหินพื้น ดินมีลักษณะอ่อน ไม่พบโบราณวัตถุใดๆ

ผลจากการขุดค้นหลุมขุดค้นที่ 2 พบหลักฐานที่น่าสนใจมาก อย่างแรกคือ เดิมไม่คาดว่าเมื่อขุดลงไปแล้วจะพบกล่องหิน เพราะไม่เห็นแนวกล่องหินบนพื้นผิวดิน แต่เมื่อขุดลึกลงไปที่ระดับความลึกประมาณ 35-40 เซนติเมตรพบแนวกล่องหิน 5 กล่อง โดยขุดค้นได้เห็นเต็มกล่องหินจำนวน 3 กล่องหิน ส่วนอีก 2 กล่องอยู่ที่ขอบของหลุม อย่างที่สองคือ การค้นพบหินตั้ง (standing stones)คือทางด้านทิศตะวันตกของกล่องหินหมายเลข 28 และ 36 พบกลุ่มของหินที่ตั้งขึ้นจำนวนหลายก้อน (นับได้ 39 ก้อน) บางก้อนเป็นหินเชล บางก้อนเป็นหินอัคนี หินแผ่นที่ใหญ่ที่สุดมีความสูง 103 เซนติเมตร กว้าง 55 เซนติเมตร หนา 16 เซนติเมตร รูปร่างคล้ายกับใบเสมา (แต่ยังไม่ควรตีความว่าเป็นต้นกำเนิดใบเสมา) กลุ่มหินที่พบมีรูปแบบการเรียงหรือตั้งหินคือ เป็นการตั้งหินล้อมหินที่อยู่ตรงจุดศูนย์กลาง ซึ่งเป็นหินรูปทรงกระบอกปลายแหลม ใกล้กันมีแผ่นหินฟิลไลท์อยู่ด้วยจำนวน 2 แผ่นเรียงไปในทิศทางเดียวกับแนวส่วนหัว/ท้ายของกล่องหิน

กลุ่มหินตั้งกับกล่องหินควรทำขึ้นพร้อมกัน เพราะชั้นดินร่วมสมัย และมีหินตั้งบางก้อนที่ทำจากหินฟิลไลท์ จากการพบหลักฐานคู่กัน จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าตลอดแนวหินที่ทอดตัวเป็นแนวยาวจำนวน 2 แนวเรียงไปตามทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้พบหินตั้งเป็นระยะๆ นั้นคงจะใช้เป็นเครื่องหมายบางอย่าง (เช่น ตำแหน่งที่ฝังกล่องหิน/โลงศพ?) หรือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของพิธีกรรมบูชากล่องหิน

ภาพที่ 9 กล่องหินและหินตั้งในหลุมขุดค้นที่ 2 แหล่งโบราณคดีนายเสียน

 

ในหลุมขุดค้นที่ 2 นี้ผู้เขียนตัดสินใจขุดค้นเฉพาะกล่องหินหมายเลข 28 และ 36 เท่านั้น เพราะตั้งอยู่ประชิดกับกลุ่มของหินตั้ง และมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ผลจากการขุดค้นพบว่า กล่องหินหมายเลข 28 พบชิ้นส่วนกำไลหินจำนวน 2 ชิ้น และพบภาชนะดินเผาจำนวน 3 ใบ สภาพชำรุดเสียหายและไม่เต็มใบ ใบแรกวางอยู่ทางด้านหัวสุด (ทิศตะวันตก) ของกล่องหิน ใบที่สองวางอยู่ด้านข้าง (ทิศใต้) ติดกับแผ่นหินด้านข้างของกล่องหิน ใบที่สามอยู่ทางทิศตะวันออกสุด ภาชนะทั้งสามใบวางตัวอยู่ สภาพของกล่องหินคล้ายกับเคยโดนรื้อออกมาครั้งหนึ่ง สำหรับกล่องหินหมายเลข 36 ไม่ได้ขุดค้นจนถึงพื้นของกล่องหินทั้งหมด เพราะมีจุดที่น่าสนใจคือสภาพของกล่องหินหมายเลข 36 ทางด้านทิศตะวันออกไม่ปรากฏแนวแผ่นหินตั้งที่เป็นผนังด้านข้างของกล่องหินและไม่พบพื้นของกล่องหิน แต่ปรากฏร่องรอยของแนวดินที่สันนิษฐานได้ว่าเคยเป็นรอยของกล่องหิน (feature)จากร่องรอยขอบแนวกล่องหินข้างต้น อาจเป็นไปได้ว่าหินไม่พอแล้วทำไม่เสร็จ แต่น่าเชื่อในประเด็นหลังมากกว่าคือถูกรื้อออกไป ทำให้สภาพของกล่องหินชำรุด ในกล่องหินนี้ไม่พบหลักฐานโบราณวัตถุใดๆ และปล่อยสภาพของกล่องหินค้างไว้เช่นนั้น

รูปแบบของกล่องหินที่บ้านวังประจบและนายเสียน

กล่องหินที่พบทั้งแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบและนายเสียนพบฝังอยู่ใต้ดินตื้นๆ สามารถมองเห็นขอบของแนวหินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยทำขึ้นจากแผ่นหินฟิลไลท์ นำมาประกอบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายโลงศพ ส่วนหัวและท้ายของกล่องหินใช้แผ่นหินขนาดใหญ่ด้านละ 1 แผ่นตั้งขึ้น ด้านข้างของกล่องหิน/โลงหินประกอบด้วยแผ่นหินจำนวนหลายแผ่นขนาดแตกต่างกันตั้งขึ้นเรียงต่อกันเป็นแนวยาวตลอดด้านยาวของกล่องหินระบบการเรียงเป็นการเรียงสลับฟันปลาทับกันไปมาโดยแผ่นเล็กทับแผ่นใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านใน คล้ายกับว่าป้องกันไม่ให้ดินไหลเข้าหรือของด้านในไหลออกมา

สำหรับเทคนิคการตกแต่งแผ่นหินนั้น แผ่นหินด้านข้างทั้งหมดใช้เทคนิคการกะเทาะอย่าง่ายๆ ความหนาของแผ่นหินประมาณ 3-5 เซนติเมตรพื้นทำมาจากแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมหลายแผ่นมีการขัดฝนจนเรียบแล้วจึงนำมาเรียงต่อกัน ส่วนด้านบนใช้แผ่นหินฟิลไลท์ชิ้นเล็กๆ โรยปกคลุม ซึ่งคงเป็นส่วนที่เหลือจากการกะเทาะ

ขนาดของกล่องหิน/โลงหินจำนวน 14 กล่องโดยเฉลี่ยมีขนาดยาวเฉลี่ย219 เซนติเมตรกล่องหิน/โลงหินที่ยาวที่สุดถึง 243 เซนติเมตรขุดพบที่แหล่งโบราณคดีนายเสียน กว้างเฉลี่ย 62.2 เซนติเมตร และมีความสูงวัดจากพื้นของกล่องหินเฉลี่ย 41 เซนติเมตร (ดูรายละเอียดจากตารางที่ 1) แผ่นหินที่ใช้บางแผ่นก็มีขนาดใหญ่มาก ชิ้นที่ใหญ่ที่สุดยาว 72.5 เซนติเมตร แผ่นหินขนาดใหญ่จะใช้สำหรับทำเป็นแผ่นหินพื้นและตั้งขึ้นเป็นผนังด้านข้าง เท่าที่ประเมินน้ำหนักของกล่องหิน 1 กล่อง อาจมีน้ำหนักมากถึง 300-400 กิโลกรัม(ดูตารางที่ 1 ประกอบ)

ตารางที่ 1 แสดงขนาดของกล่องหินและจำนวนแผ่นหินที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบและนายเสียน

แหล่ง

จำนวน

หมายเลขกล่องหิน

ยาว (ซม.)

กว้าง (ซม.)

สูง (ซม.)

จำนวนแผ่นหินขนาดใหญ่*

วังประจบ

1

1

190

70

58

22

 

2

2

236

65

30

25

 

3

3

231

70

52

11

 

4

5

213

84

50

15

นายเสียน

5

1(1)

243

53

38

26

 

6

2(1)

212

46

36

24

 

7

1

219

60

40

38

 

8

2

228

58

40

35

 

9

3

253

60

48

35

 

10

20

220

50

25

34

 

11

24

208

61

42

32

 

12

28

202

70

42

28

 

13

36

200

70

33

23

 

14

37

210

54

41

35

ค่าเฉลี่ย

 

-

219

62.2

41

27

หมายเหตุ กล่องหินหมายเลข 4 ของแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบไม่ได้ขุดค้น, *จำนวนแผ่นหินขนาดใหญ่หมายถึงแผ่นหินที่ใช้ประกอบด้านข้างและเป็นแผ่นหินที่เป็นพื้นด้านล่างของกล่องหิน, 1(1)และ 2(1)หมายถึง กล่องหินที่เคยขุดครั้งแรกที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนเมื่อ พ.ศ.2550

ภาพที่ 10 กล่องหิน/โลงหิน# 5 หลังจากนำดินชั้นบนที่ปกคลุมออก

ภาพที่ 11 กล่องหิน/โลงหิน# 5 หลังจากขุดค้นพื้นที่ภายใน

ภาพที่ 12 ภาพด้านข้างของกล่องหิน/โลงหิน# 5
 

ประเด็นที่น่าสนใจด้วยคือ ถึงแม้ว่าคนในวัฒนธรรมนี้จะมีแบบแผนการกระทำร่วมกันคือการทำกล่องหิน ซึ่งสะท้อนระบบความเชื่อที่มีแบบแผน แต่กลับปรากฏว่าในส่วนรายละเอียดปีกย่อยที่สำคัญบางประการคือ การกำหนดทิศทางของการวางแนวกล่องหินกลับมีความแตกต่างกันคือ แหล่งโบราณคดีนายเสียนวางตัวแนวยาวของกล่องหินไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนที่บ้านวังประจบวางตัวแนวยาวของกล่องหินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเข้าใจว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากการกำหนดทิศของคนโบราณผิดพลาด เพราะกล่องหินทุกกล่องในแหล่งโบราณคดีเดียวกันมีทิศทางการวางที่เหมือนกันทั้งหมด เรื่องนี้ผู้เขียนไม่สามารถอธิบายได้ เท่าที่คิดได้ตอนนี้คืออาจเป็นเพราะต้องการวางแนวของกล่องหินให้ขนานไปกับแนวของภูเขา คือต้องให้ปลายด้านใดด้านหนึ่งของกล่องหินหันไปหาภูเขา เช่น กล่องหินที่บ้านวังประจบปลายด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้จะหันไปหาเขาป่าควง ส่วนกล่องหินที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนจะหันปลายด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปที่เขาน้อย-เขาใหญ่ เรื่องนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่อ่อนมาก เพราะการหันทิศทางของกล่องหินอาจเกี่ยวข้องกับอย่างอื่นได้เช่น ดวงดาว ทิศทางของดวงตะวัน เป็นต้น ซึ่งคงต้องศึกษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานข้างต้นทั้งหมดนี้สะท้อนว่าการทำกล่องหินเป็นเรื่องระดับชุมชน (community) หรือกลุ่มตระกูล (clan)เพราะต้องมีการขนย้ายหินจำนวนมากมายังพื้นที่พิธีกรรม (ritual)อีกทั้งยังต้องมีช่างผู้ชำนาญการทางด้านคัดเลือกหิน การกะเทาะหิน การสกัดหิน และการขัดหิน จากหลักฐานการขุดค้นไม่พบเครื่องมือโลหะเลย แต่พบเครื่องมือขวานหินขัดเท่านั้น ซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดเดียวที่พบในแหล่งโบราณคดีทุกแห่ง

มีข้อสังเกตประการหนึ่งด้วยคือ ที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบมีกล่องหินกล่องหนึ่งคือ กล่องหินหมายเลข 3 ที่พบว่ามีร่องรอยการขุดพื้นกล่องหินจนทะลุเสียหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง โดยก่อนที่จะขุดถึงพื้นหินนี้ ด้านบนของกล่องหินโรยด้วยแผ่นหินฟิลไลท์จำนวนมากเช่นเดียวกับทุกกล่องหิน โดยลักษณะไม่ใช่ร่องรอยของการขุดรื้อเพื่อเอาสมบัติ สภาพของกล่องหินแบบเดียวกันนี้ยังพบที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนคือกล่องหินหมายเลข 36 ซึ่งพบร่องรอยของการขุดรื้อในอดีต จากหลักฐานข้างต้น จึงเป็นไปได้ว่าคงมีการประกอบพิธีกรรมบางอย่างที่มีการขุดของที่เคยอยู่ในกล่องหินแล้วนำออกไป แต่ก็ไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่หนึ่ง (primary burial) หรือครั้งที่สอง (secondary burial)ได้หรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขุดเก็บโครงกระดูกทุกชิ้นส่วนออกไปจนทำให้ไม่พบชิ้นส่วนของโครงกระดูกเลย

 

โบราณวัตถุที่พบภายในกล่องหิน

โดยทั่วไปแล้ว ของที่ฝังร่วมกับศพ (goods grave) มักถูกตีความเชื่อมโยงว่าเป็นสิ่งของที่คนเป็นอุทิศให้กับคนตายเพื่อนำไปใช้ในโลกหน้า แต่สำหรับกรณีของที่ฝังอยู่ภายในกล่องหินก็อาจเชื่อมโยงกับแนวคิดดังกล่าวอยู่บ้างคือการอุทิศให้กับสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น วิญญาณ เป็นต้น

สำหรับโบราณวัตถุที่พบภายในกล่องหินบ้านวังประจบ (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) มีอยู่ 2 ประเภทหลักคือ ภาชนะดินเผา และกำไลหิน ส่วนใหญ่แล้วภาชนะดินเผาพบทั้งที่มีสภาพสมบูรณ์ และไม่สมบูรณ์ รูปทรงของภาชนะที่สมบูรณ์เป็นชามและหม้อ ที่น่าสังเกตคือใบที่มีสภาพไม่สมบูรณ์จะมีชิ้นส่วนไม่ครบใบ เช่น เหลือเฉพาะส่วนก้นบ้าง หรือก้น-ลำตัว คล้ายกับชำรุดและพังมาตั้งแต่เดิม ในส่วนของกำไลหินขัดไม่พบชิ้นที่สมบูรณ์เต็มวง คงตั้งใจทำให้แตกก่อนจะฝังลงไป เพราะบางกล่องหินเช่นกล่องหินหมายเลข 3 พบมากถึง 27 ชิ้นแต่ก็พบว่าหลายชิ้นไม่ใช่กำไลวงเดียวกัน

สำหรับที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนพบมีหลักฐานอื่นที่พบเพิ่มเติมด้วยคือ แวดินเผา และลูกปัดหินด้วย ซึ่งลูกปัดที่พบจากแร่ควอทซ์สีขาวขุ่น มีรูปทรงกระบอกยาว ปลายตัดเฉียง อาจเป็นของที่ผลิตขึ้นเองหรือเป็นของต่างถิ่นรูปทรงของลูกปัดแบบเดียวกันนี้พบจากการขุดค้นที่บ้านวังประจบเช่นกัน แต่ทำจากดินเผาเคลือบน้ำดินสีน้ำตาลแดงและทำจากหินสีน้ำตาลเข้ม และพบนอกกล่องหิน สำหรับภาชนะดินเผาพบว่ามีลักษณะเบื้องต้นคล้ายกับที่บ้านวังประจบ แต่มีสภาพเปราะและอ่อนกว่ามาก อาจเป็นเพราะใช้ดินเนื้อหยาบและเผาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำ

ตารางที่ 2 แสดงประเภทและปริมาณของโบราณวัตถุที่พบภายในกล่องหิน

แหล่ง

หมายเลขกล่องหิน

ภาชนะดินเผา (ใบ)

ชิ้นส่วนกำไลหิน

แวดินเผา

ลูกปัดหิน

เครื่องประดับรูปวงกลม

วังประจบ

1

4

1

-

-

-

 

2

5

2

-

-

-

 

3

2

27

-

-

-

 

5

2

-

-

-

-

นายเสียน

1(1)

10

1

-

4

1

 

2(1)

2

-

1

-

-

 

2

7

1

-

-

-

 

24

4

2

-

-

-

 

28

3

2

-

-

-

รวม

-

39

36

1

4

1

หมายเหตุ 1(1) และ 2(1) หมายถึง กล่องหินที่เคยขุดครั้งแรกที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนเมื่อ พ.ศ.2550

ความแตกต่างด้านปริมาณของโบราณวัตถุที่พบภายในกล่องหินน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสถานภาพทางสังคม (social status) ของผู้สร้างกล่องหินอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น กล่องหินหมายเลข 3 ที่บ้านวังประจบพบกำไลมากถึง 27 ชิ้น และเป็นกล่องหินขนาดใหญ่อีกด้วย ในขณะที่กล่องหินหมายเลข 2 ที่บ้านนายเสียนเป็นกล่องหินขนาดเล็กพบของเพียงภาชนะดินเผา 2 ใบ และแวดินเผา 1 ชิ้น (spindle whorl)(ดูตารางที่ 2)ซึ่งแวดินเผาอาจบ่งบอกว่ากล่องหินนี้สัมพันธ์กับเพศหญิง เพราะโดยมากแล้วจะมีหน้าที่ทอผ้า

อนึ่ง จากการขุดค้นในพื้นที่ภายในกล่องหินอย่างละเอียดทั้งที่บ้านวังประจบและนายเสียน ผู้เขียนยังคงไม่พบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์เลย ถึงแม้ว่าจะมีการร่อนดินที่ได้จากการขุดค้นด้วยก็ตาม หรือนำดินบางส่วนมัดใส่ผ้าไปร่อนในน้ำ และยังทดสอบดินด้วยน้ำยาทดสอบความเป็นกรด-ด่าง (pH test) เพื่อหาขี้เถ้า ผลคือดินที่ทดสอบมีค่าเป็นกรดอ่อนเสมอ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าไม่มีโครงกระดูกของมนุษย์ มีเฉพาะสิ่งของที่ฝังลงไปเท่านั้น

 

แนวแผ่นหินตั้ง(slab lined) ที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ

นอกจากกล่องหินแล้วที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบยังขุดพบแนวแผ่นหินตั้งจำนวน 3 แนว แนวยาวของแนวแผ่นหินตั้งหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขนานไปกับแนวกล่องหิน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบแรกคือ แนวแผ่นหินตั้งเรียงเป็นแนวยาวขนานไปกับแนวกล่องหิน พบจำนวน 2 แนว เป็นแผ่นหิน 2-3 แผ่นตั้งเรียงกัน ใต้แผ่นหินตั้งแนวแรกพบแผ่นหินกะเทาะรูปวงกลม (slab disc)แนวที่สองพบภาชนะดินเผาทรงชาม

ภาพที่ 13 แผ่นหินตั้งรูปแบบที่หนึ่งภาพที่ 14 แผ่นหินตั้งรูปแบบที่สอง

 

รูปแบบที่สองพบเพียงจุดเดียว เป็นการตั้งแผ่นหินจำนวน 2 แผ่นตั้งห่างกัน 1.80 เมตร วิธีการจัดวางคล้ายแผ่นดินด้านกว้างของกล่องหิน ใต้แผ่นหินมีการฝังภาชนะดินเผาไว้ และพื้นที่ระหว่างกลางของพบว่ามีการฝังกำไลหินสภาพสมบูรณ์จำนวน 4 วง วางซ้อนกันอย่างจงใจ

ตำแหน่งที่ตั้งของแนวแผ่นหินตั้งนี้พบอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่ขุดค้น โดยวางตัวอยู่ห่างกันในระยะใกล้เคียงกันคือประมาณ 250 เซนติเมตร การทำแนวแผ่นหินตั้งนี้สามารถตีความได้ 2อย่างคือ อย่างแรกอาจเป็นรูปแบบของพิธีกรรมย่อย อย่างที่สองอาจเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ที่สร้างเช่น คนรวย คนจน หรือเพศ

หินตั้งที่แหล่งโบราณคดีนายเสียน

แหล่งโบราณคดีนายเสียนมีความแตกต่างจากบ้านวังประจบตรงที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบพบพิธีกรรมการทำกล่องหินคู่กับพิธีกรรมทำแนวแผ่นหินตั้ง แต่ที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนได้พบการทำกล่องหิน แผ่นหินตั้ง และหินตั้ง (Standing stones)

ในหลุมขุดค้นที่ 2 ของแหล่งโบราณคดีนายเสียน พบกลุ่มของหินตั้ง เรียงปักกันไว้เป็นกลุ่ม นับรวมหินทั้งหมดได้ประมาณ 39 ก้อน หินก้อนกลางคงเป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มหิน หินก้อนนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางและสูงที่สุดในบรรดาก้อนหินทั้งหมด มีรูปทรงกระบอกปลายแหลม มีขนาด สูง 80 เซนติเมตร หนา32-22 เซนติเมตร ทำจากหินอัคนี รอบหินก้อนนี้จะมีหินก้อนเล็กใหญ่ตั้งล้อมรอบอีกที หินก้อนนี้ตั้งอยู่ชิดกับแนวแผ่นหินตั้ง (Slab lined) จำนวน 2 แผ่นทำจากหินฟิลไลท์ ขนาดกว้าง 63 เซนติเมตร สูง 43 เซนติเมตร หนา 2 เซนติเมตร และขนาดกว้าง 74 เซนติเมตร สูง 36 เซนติเมตร หนา 6 เซนติเมตร การทำแนวแผ่นหินตั้งนี้คงสัมพันธ์กับการทำแนวแผ่นหินตั้งที่บ้านวังประจบ

ผู้เขียนได้ทดลองขุดค้นข้างๆ แนวแผ่นหินตั้งบริเวณใกล้กับแนวแผ่นหินตั้งและใกล้กับกล่องหินหมายเลข 28 ลึกลงไปประมาณ 30 เซนติเมตร ดินมีลักษณะแน่นพอควร ไม่พบโบราณวัตถุใดๆ หลายท่านคงคิดว่าควรรื้อกลุ่มหินเพื่อจะขุดด้านใต้ของกลุ่มหินตั้ง ผู้เขียนเห็นด้วยหากมีแนวทางในการอนุรักษ์และเป็นการทำงานระยะยาว เพราะมีโอกาสที่จะนำมาประกอบกับที่เดิมได้ (แค่ใกล้เคียง) แต่ในกรณีนี้เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่างจึงขุดเฉพาะด้านข้างก็พอจะตอบคำถามได้ว่าอาจไม่มีอะไรอยู่ด้านใต้ก็ได้ แต่ความจริงแล้วคงต้องมีอะไรบางอย่างฝังอยู่ด้วยเหมือนกับกรณีของแนวแผ่นหินตั้งที่บ้านวังประจบที่พบการฝังชามไว้ด้านใต้แนวแผ่นหินตั้ง

แนวหินตั้งที่พบที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนมีความน่าสนใจมาก เพราะทำเป็นแนวต่อเนื่องกันไป ยาวร่วม 50 เมตร มี 2 แนว ห่างกันประมาณ 5 เมตร ยังคงหินที่ตั้งโผล่พ้นดินประมาณ 5-6 จุด และยังมีหินก้อนยาวๆ ที่ล้มนอนอยู่ด้วยบางก้อนมีความยาวของหินมากกว่า 2 เมตร ที่สำคัญที่แนวหินทั้งสองแนวนี้ยังพบกล่องหินอยู่ด้วย ซึ่งคงใช้เป็นเครื่องหมายบางอย่างของการทำพิธีกรรม

การที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนทำหินตั้ง ส่วนที่บ้านวังประจบไม่ทำนั้น ยังคงเป็นปริศนาถึงสาเหตุที่ชุมชนของแหล่งโบราณคดีนายเสียนเลือกที่จะทำหินตั้ง คงเป็นเพราะมีความแตกต่างกันในเรื่องระบบความเชื่อบางประการ แต่เหมือนกับความเชื่อที่เป็นแกนหลักจะอยู่ที่การทำกล่องหิน ดังนั้น จึงอาจจัดได้ว่าวัฒนธรรมนี้คงอยู่ในกลุ่มของวัฒนธรรมหินตั้ง (Standing stone) ที่มีระบบความเชื่อในการทำกล่องหิน

สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่ามุมมองความเชื่อเกี่ยวกับหินตั้งว่า ในนิทานไทลาวเรียกหินตั้งว่า ดิน(หิน) 7 ก้อน, หลักหิน, ก้อนหินก่ายฟ้า, หินก้อนเส้าฯ เป็นต้น ก้อนหินเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องหมายของหลักเขตหรือการสร้างเมือง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2555)แต่โดยมากนักโบราณคดีที่ศึกษาเกี่ยวกับหินตั้งมักตีความว่าวัตถุประสงค์ของการทำหินตั้งเกี่ยวข้องกับการทำเครื่องหมายกำหนดขอบเขตของเขตแดน เพื่อระลึกความทรงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต และเป็นความเชื่อของสังคมนั้นๆ เช่น ความเชื่อเรื่องวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เทพ และบรรพบุรุษ เป็นต้น (Kim,1982)

อายุสมัย

ในบรรดาแหล่งโบราณคดีทั้งหมดมีเพียงแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบเท่านั้น3โดยทำการกำหนดอายุด้วยเทคนิคเรดิโอคาร์บอนแบบมาตรฐาน (Standard radio carbon-14)โดยการกำหนดอายุจากถ่านที่พบจำนวน 2 ตัวอย่าง โดยส่งตัวอย่างไปที่สำนึกงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ (เมื่อปี 2550) (พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2550) ผลการกำหนดอายุตัวอย่างที่ 1 (OAP2446) ได้อายุ 2350±260 ปีมาแล้ว(BP) หรือ 1,100 ก่อนค.ศ.ถึง ค.ศ. 400 ด้วยการคำนวณจากค่า 2 sigma ซึ่งหมายความว่าค่าอายุมีโอกาสถูกต้อง 95% โดยตัวอย่างถ่านนี้พบลึกลงไปจากผิวดิน 20 เซนติเมตร และพบร่วมกับภาชนะดินเผา กำไลหิน และขวานหินขัด

ตัวอย่างที่ 2 (OAP2447) ได้อายุ 2520±260 ปีมาแล้ว หรือ 1,200 ก่อน ค.ศ.ถึงค.ศ. 300 (2 sigma) โดยตัวอย่างถ่านนี้พบในหลุมเสาซึ่งอยู่ลึกลงไปจากผิวดิน 26-36 เซนติเมตร หลุมเสานี้พบในชั้นดินของวัฒนธรรมนี้

สังเกตได้ว่าตัวอย่างถ่านทั้งสองพบนอกกล่องหิน ทั้งนี้เพราะภายในกล่องหินไม่พบอินทรียวัตถุใดๆ ยกเว้นเพียงภาชนะดินเผา แต่ไม่ได้ส่งไปกำหนดอายุ เพราะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ส่วนพื้นที่ภายนอกกล่องหิน ตัวอย่างถ่านพบ 4 ตัวอย่างเท่านั้น เลือกส่งเพียง 2 ตัวอย่างเพราะดีที่สุดและเป็นก้อนถ่านขนาดใหญ่

จากค่าอายุข้างต้นจึงเป็นไปได้ว่าวัฒนธรรมวังประจบคงมีอายุประมาณ 2,500-2,300 ปีมาแล้ว ซึ่งปัญหาคือช่วงเวลาประมาณ 2,500 ปีในภาพรวมของประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคโลหะแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่ากล่องหินนี้ผลิตขึ้นโดยกลุ่มคนในวัฒนธรรมที่ใช้โลหะแล้วหรือไม่

วัฒนธรรมการทำกล่องหินและโลงศพแผ่นหินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-เอเชียตะวันออก

ประเด็นสำคัญของการเปรียบเทียบกล่องหินและหินตั้งที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบและนายเสียนมีสาระสำคัญอยู่ 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก เพื่อเข้าใจหน้าที่การใช้งานและความหมายทางวัฒนธรรมของการทำกล่องหินกับหินตั้งโดยอาศัยหลักการเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม ประเด็นที่สองคือ ปีเตอร์ เบลล์วูด (Peter Bellwood) ได้ตั้งสมมติฐานว่าโลงศพหินแบบที่เรียกว่า โลงศพหินแผ่น (Slab graved) เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเชียน (Austronesian) จากเกาะไต้หวันไปสู่อินโดนีเซีย และมาเลเซีย(Bellwood,1997: 215-217) ดังนั้น ในหัวข้อนี้จะเป็นการเปรียบเทียบหลักฐานที่พบในที่ต่างๆ เท่าที่สามารถหาข้อมูลได้ เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงและถกเถียงประเด็นทั้งสองเรื่อง

วัฒนธรรมไป่หนาน (Peinan culture) พบทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไต้หวัน เป็นวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ กำหนดอายุอยู่ในช่วงราว 5,000-795ปีก่อน ค.ศ.ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมนี้คือการทำโลงศพจากแผ่นหินชนวน(slate) ภายในโลงมีการบรรจุโครงกระดูกโดยเป็นการฝังศพครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง บางโลงพบโครงกระดูกเต็มโครง บางโลงพบเพียงฟันซี่เดียวก็มีในโลงศพมีการบรรจุข้าวของเครื่องใช้ (Grave goods) ไว้หลายอย่าง ได้แก่ ขวานหินขัด กำไลหิน ลูกปัด จี้รูปคน ภาชนะดินเผา และตุ้มหูหินแบบลิงลิงโอ(Ling-ling O) ไว้เป็นของอุทิศให้ผู้ล่วงลับ(Bellwood, 1997: 215-217; Chin-yung, 2000; Tsang, 2000; Scarre, 2005: 286-287; Yeh, 2006) และบางครั้งก็พบมีการฝังไว้นอกกล่องหินด้วยเช่นกัน

โลงศพหินแผ่นที่พบมีมากกว่า 1,500 โลง ทิศทางการฝังโลงมีทิศใต้-ตะวันตกเฉียงใต้ หรือทิศเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ โลงศพประมาณ 895 โลงใช้สำหรับการฝังศพคนตายเพียงหนึ่งคน โลงศพที่เหลืออีกราว 20% เป็นโลงสำหรับฝังศพมากกว่า 1 คนในโลงเดียวกัน บางโลงมีขนาดใหญ่มากและใช้ฝังศพมาหลายช่วงเวลาด้วยกัน โลงศพนี้จึงเป็นโลงศพประจำครอบครัว แนวคิดในการฝังศพลักษณะนี้ยังคงพบได้ในกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของไต้หวันคือชาวรูไก (Rukai) และชาวไปวัน (Paiwan)ซึ่งอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของไต้หวัน โลงศพของคนในวัฒนธรรมไป่หนานมีทั้งที่อยู่ในบ้านและนอกพื้นที่บ้าน ลักษณะการเก็บศพเช่นนี้สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มชนดั้งเดิมในไต้หวันเช่นกัน (Sung Wen-Hsun, 1992: 282) นอกจากนี้แล้ว กลุ่มคนในวัฒนธรรมไป่หนานยังมีพิธีกรรมการทำหินตั้ง (Standing stone) เป็นแผ่นหินขนาดใหญ่มักตั้งไว้กลางบ้าน

หลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผลจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีไป่หนานนั้นยังได้พบพิธีกรรมถอนฟันหน้า (tooth extraction) ซึ่ง Chao-mei Lien นักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้นกล่าวว่าพิธีกรรมนี้พบทางตอนใต้ของจีนกับญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยพบที่บ้านเก่าจ.กาญจนบุรี และโนนนกทาจ.ขอนแก่น (Lien, 1990: 345)ในขณะที่ Sung Wen-Hsunได้อธิบายว่าพิธีกรรมนี้พบในกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมตอนเหนือและภาคกลางของไต้หวันเช่นกัน (Sung Wen-Hsun, 1992: 282)ถ้าคิดว่าความเหมือนกันของพิธีกรรมสะท้อนถึงความสัมพันธ์กัน หลักฐานอย่างหลังนี้อาจเป็นหลักฐานทางอ้อมที่แสดงให้เห็นได้ว่าคงมีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนในอดีตระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียตะวันออกในสมัยโบราณ

สำหรับในประเทศอินโดนีเซีย พบโลงศพหินแผ่นที่เกาะชวาภาคตะวันออก เกาะบาหลีไปจนถึงเกาะซุมบาวา (Sumbawa) และเกาะซุมบา (Sumba) ทั้งหมดเป็นโลงหินที่ทำขึ้นในสมัยเหล็ก ยกเว้นเพียงแหล่งโบราณคดีคุนินกาน (Kuningan) ทางภาคตะวันตกของชวาที่ไม่ปรากฏเครื่องมือโลหะคู่กับโลงศพหิน ซึ่งยังถกเถียงกันอยู่ว่าสรุปแล้วควรจัดอยู่ในสมัยใดกันแน่ เพราะไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดว่าพบโลหะจากการขุดค้นด้วยหรือไม่ (Bellwood, 1997: 290)

ในประเทศมาเลเซีย พิธีกรรมการทำโลงศพหินแผ่นนี้พบบนภูเขาทางภาคใต้ของรัฐเปรักใกล้กับแม่น้ำเบอร์นัม (Bernam) แม่น้ำซุงไก (Sungkai) และแม่น้ำสลิม (Slim)หรือในเขตชังกัตเมนเตรี (Changkat Menteri) ขุดค้นพบโลงศพทำจากหินแกรนิต (granite coffins)ด้วยการใช้แผ่นหินหลายแผ่น ขนาดยาวประมาณ2 เมตร (Heng, 2000: 65-72) อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจด้วยคือเจชูรัน และบูลเบก ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเรียกว่า “โลงศพหินแผ่น” (slab graved) นี้ค่อนข้างทำให้เกิดความสับสน เพราะการขุดค้นในปี 1936 หรือหลังจากนั้นไม่เคยพบชิ้นส่วนมนุษย์หรือสัตว์ในสิ่งที่เรียกว่าโลงศพเลย (Jeshurun, 1982: 102; Bulbeck, 2004: 321)โดยภายในกล่องหินพบลูกปัดแก้วและคาร์เนเลียน ชามสำริด เครื่องมือเหล็ก ภาชนะดินเผาที่ปั้นด้วยแป้นหมุน เป็นต้นทำให้จัดอยู่ในสมัยเหล็ก มีอายุระหว่าง 400 ปีก่อน ค.ศ. –กลางคริสต์ศตวรรษที่ 7จากหลักฐานเช่นลูกปัดแก้วและคาร์เนเลียนจึงบ่งบอกว่าชุมชนแห่งนี้มีการติดต่อการค้าทางไกลกับอินเดีย และการที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการสร้างจึงสะท้อนว่าเป็นของชนชั้นสูงในสังคมนี้ (Heng, 2000: 65-72)

อภิปราย

เรื่องที่คิดว่าควรมีการถกเถียงและช่วยกันขบคิดมีอยู่ 3 ประการหลัก ดังนี้

ประการแรกคือ ปัญหาเรื่องอายุสมัยของวัฒนธรรมวังประจบหรือวัฒนธรรมกล่องหิน จากค่าอายุที่ได้วัฒนธรรมวังประจบมีอายุประมาณ 2,500-2,300 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ได้ก้าวเข้าสู่สมัยโลหะแล้ว แต่ปรากฏว่าหลักฐานที่พบในแหล่งโบราณคดีทั้ง4 แห่งยังคงใช้ขวานหินขัดเป็นเครื่องมือสามัญ โดยไม่พบเครื่องมือโลหะเลย ซึ่งถ้าเชื่อตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) แล้วควรจัดวัฒนธรรมวังประจบอยู่ในสมัยหินใหม่หรือวัฒนธรรมหินใหม่ แต่จากร่องรอยของหลักฐานบางประการได้แก่ ร่องรอยของการสกัดแผ่นหิน ลูกปัดหินควอทซ์ รวมถึงค่าอายุจากแหล่งโบราณคดีวังประจบ ทำให้ชวนคิดว่าวัฒนธรรมวังประจบอาจจัดอยู่ในสมัยโลหะแล้วก็เป็นไปได้ เพราะไม่ห่างกันมากก็มีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่น บ้านโป่งแดง นี้ตั้งอยู่ห่างจากบ้านวังประจบไปราว 18 กิโลเมตร และยังมีชุมชนสมัยเหล็กที่เขตอำเภอโกสัมพีที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 20-25 กิโลเมตรถ้าวัดจากบ้านหนองร่ม เพราะฉะนั้นการที่กลุ่มวัฒนธรรมวังประจบจะเป็นชุมชนหินใหม่ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวคงเป็นเรื่องยากสักหน่อย อาจเป็นไปได้ว่าเครื่องมือโลหะอาจเป็นของหายากจึงไม่ได้ทิ้งไว้ภายในแหล่งโบราณคดี

ถ้าพิจาณาจากระยะทางที่พบกล่องหินหรือโลงศพหินแผ่นที่อยู่ใกล้กับกล่องหินที่วังประจบแล้ว วัฒนธรรมวังประจบตั้งอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากวัฒนธรรมโลงหินและกล่องหินในที่อื่นๆ อย่างมาก แต่ที่ใกล้ที่สุดคือแหล่งโบราณคดีในเขตภาคใต้ของรัฐเปรัก (Perak) ต่อกับทางตอนเหนือของรัฐเซลันงอร์ (Selangor)ประเทศมาเลเซีย ที่น่าสนใจคือกล่องหินที่แหล่งโบราณคดีเหล่านี้ไม่พบการฝังศพไว้ภายในกล่องหินเช่นกัน แต่อายุอยู่ในสมัยหลังว่าคือราว 2,000 ปีมาแล้ว และจัดอยู่ในสมัยเหล็ก (Jeshurun, 1982: 102; Heng, 2000: 67; Bullbeck, 2004: 322) อาจเป็นไปได้หรืออาจเป็นไปไม่ได้ที่วัฒนธรรมของทั้งสองแห่งจะสัมพันธ์กัน

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องทำให้ต่อไปในอนาคตคือการกำหนดอายุให้มากขึ้นและนำมาตรวจสอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะค่าอายุถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยทำให้สามารถตีความและเปรียบเทียบวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

ปัญหาประการที่ 2 คือ กล่องหินเป็นโลงศพหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะไม่พบโครงกระดูกมนุษย์ การตีความว่าจะเป็นโลงศพนั้นคงจะต้องพิจารณากันหลายประการ ถ้าย้อนกลับไปที่ฐานคิดเชิงปรัชญาของโบราณคดี ซึ่งสัมพันธ์กับหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนฐานของความคิดแบบประจักษ์นิยม (empiricism) แล้วก็ควรจะต้องตีความอิงจากหลักฐานที่สามารถจับต้องได้ อย่างไรก็ตาม ร่องรอยบางอย่างถ้าหากใช้ประสบการณ์หรือการรับรู้ที่มีมาก่อนหน้า คือ สภาพของหลักฐานอันได้แก่ รูปแบบของกล่องหินที่มีรูปร่างคล้ายกับโลงศพ และการจัดวางสิ่งของในโลงหรือนอกโลงก็ตามมีความคล้ายคลึงกับการอุทิศสิ่งของเครื่องเซ่นให้กับคนตายอย่างมาก โดยเฉพาะภาชนะดินเผาที่พบในกล่องหิน ผู้เขียนพบว่ามักวางอยู่ส่วนหัว/ท้าย และด้านข้างของกล่องหิน ซึ่งผู้เขียนได้ทดลองลงไปนอนก็พบว่าร่างกายของผู้เขียนไม่ทับอยู่บนภาชนะดินเผาเหล่านั้นเลย ลักษณะเช่นนี้ก็สามารถชวนให้คิดไปได้ว่ากล่องหินและของที่วางอยู่คงสัมพันธ์กับพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ แต่ถ้าไม่มีศพก็อาจสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องการตายหรือการบูชาบรรพบุรุษ ดังนั้น ปัญหาในข้อนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่ากล่องหินจะเป็นโลงศพหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่สัมพันธ์กับฐานคิดที่เป็นรากฐานในการตีความทางโบราณคดีที่อิงอยู่กับหลักคิดทางวิทยาศาสตร์

ปัญหาประการที่ 3 คือปัญหาเรื่องใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรมวังประจบ จะว่าไปแล้วการลงความเห็นให้กลุ่มคนที่สร้างวัฒนธรรมกล่องหินในเขตชังกัตเมนเตรีเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน (Austronesian) (Bellwood, 1993)นั้นยังมีหลักฐานค่อนข้างอ่อนพอควร ถ้าหากพิจารณาการกระจายตัวของภาษาในปัจจุบัน จะพบว่าในเขตชังกัตเมนเตรีนั้นเป็นเขตของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) คือกลุ่มชาวเซนอย (Senoi) โดยถือเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมเช่นกันโดยอาจเคลื่อนย้ายเข้ามาก่อนหรือใกล้เคียงกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียนก็ได้ ดังนั้น บทความนี้จึงเสนอว่าวัฒนธรรมวังประจบอาจสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่พูดในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ซึ่งเป็นภาษาที่แพร่หลายในเขตภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ และอาจจะมีการเคลื่อนย้ายลงไปทางทิศใต้ยังประเทศมาเลเซียในสมัยโบราณ

สรุปและข้อเสนอแนะ

วัฒนธรรมวังประจบเป็นวัฒนธรรมที่มีแบบแผนพิธีกรรมด้วยการทำกล่องหิน มีอายุระหว่าง 2,500-2,300 ปีมาแล้ว จากหลักฐานที่พบจัดอยู่ในวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ กล่องหินที่พบนั้นยังไม่ทราบวัตถุประสงค์การสร้างที่แน่ชัด วัฒนธรรมวังประจบอาจเป็นปรากฏการณ์ร่วมในวัฒนธรรมการทำกล่องหินและการบูชาหินตั้งที่พบทั่วไปในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Kim, 1982)ที่ยังต้องรอการตอบคำถามสำคัญอีกมาก เช่น ปรากฏการณ์การทำกล่องหินนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะเหตุใดกลุ่มคนหลายวัฒนธรรมจึงมีความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน

ผู้เขียนคิดว่าแหล่งโบราณคดีในเขตตำบลวังประจบที่ผู้เขียนเรียกว่าวัฒนธรรมวังประจบนั้นมีความสำคัญมากทั้งในแวดวงโบราณคดีและประชาชนทั่วไป เพราะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี แต่ต้องมีการทำแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องและร่วมมือกันหลายภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้เขียนหวังว่าแหล่งโบราณคดีนายเสียนที่ได้รับการขุดค้นครั้งใหม่นี้จะไม่มีสภาพเป็นเหมือนกับแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบที่ถูกทิ้งร้างและปล่อยให้พังไปอย่างน่าเสียดาย

 

กิตติกรรมประกาศ

 

ผู้เขียนขอขอบคุณคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ให้ทุกสนับสนุนในการทำวิจัยเพื่อตอบข้อสงสัยของผู้วิจัยที่เก็บมาตลอด 5 ปี ขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบ โดยเฉพาะนายสาธิต สุขจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบที่อำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะการให้ใช้รถเพื่อสำรวจและเข้าออกแหล่งโบราณคดีนายเสียน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนใน อบต.วังประจบ ขอขอบคุณสำนักโบราณคดีที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร โดยเฉพาะนายสถาพร เที่ยงธรรม หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี และขอขอบพระคุณนายพีรพน พิสณุพงศ์ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีที่ 6 สุโขทัย ที่เปิดโอกาสให้กับการนำเสนอบทความในงานประชุมนี้ นอกจากนี้แล้วต้องขอยกย่องน้ำใจอันไม่ย่อท้อของกับกลุ่มน้องๆ ในเขตวังประจบที่เคยขุดค้นกันมาเมื่อครั้งปี 2549-50 และอีกครั้งในปี 2556 ได้แก่ เกย์(ใหญ่) เกย์(เล็ก) เป อั๋น โด่ง ทึ่ม เสือ ข็อด และพี่อ๋อ

 

1ในประเด็นเรื่องการตีความทางโบราณคดี (Interpretative archaeology) ผู้เขียนได้เคยถกเถียงแล้วอยู่ในบทความเรื่อง “นักโบราณคดีสองคนบนทางสองแพร่งกับการตีความแหล่งโบราณคดี บ้านวังประจบ”. วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 35 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม -กันยายน 2552, หน้า 74-103.

2การลำดับหมายเลขกล่องหินขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการค้นพบ

3สำหรับที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนไม่พบถ่านและอินทรียวัตถุใดๆ จึงไม่ได้ส่งไปกำหนดอายุ คาดว่าในโครงการขุดค้นครั้งหน้าจะนำภาชนะดินเผาไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคเทอร์โมลูมิเนสเซนต์ (Thermoluminescence dating) 

 

บทความโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


รายการอ้างอิง

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. นักโบราณคดีสองคนบนทางสองแพร่งกับการตีความแหล่งโบราณคดี บ้านวังประจบ. วารสารเมืองโบราณ, ปีที่ 35 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม -กันยายน 2552, น. 74-103.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ บ.วังประจบ ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก, นำเสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบและสำนักงานศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร, 2550.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีนายเสียน (เขาฝาง 2) .วังประจบ ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก, นำเสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบและสำนักงานศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร, 2550.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านหนองร่ม ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก, นำเสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบและสำนักงานศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร, 2549.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. วัฒนธรรมหินตั้ง 3,000 ปีมาแล้ว ในวรรณกรรมตำนานลาว-ไทย, มติชนสุดสัปดาห์,ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2555.

Bellwood, Peter. Cultural and Biological Differentiation in Penisular Malaysia: The Last 10,000 Years, in Asian Perspectives, Vol. 32, no. 1., 1993, p.37-60.

Bellwood, Peter. Prehistory of the Indo-Malaysian Archipelago. USA: University of Hawai’I Press, 1997.

Bullbeck, David. Indigenous Traditions and Exogenous Influences in the Early History of Peninsular Malaysia, in Southeast Asia from Prehistory to History, Bellwood, Peter and Glover, Ian, editor. London : RoutledgeCurzon, 2004.

Heng, Leong Sau. Chronology of the Bernam Cist Graves, in Indo-Pacific Prehistory Association Bulletin 19, 2000 (Melaka papers, Volume 3).

Jeshurun, Chandran. The Megalithic Culture in Malaysia: A Survey of Megalithics and Associated Finds in Peninsular Malaysia, Sarawak and Sabah, In Megalithic Cultures in Asia, edited by Byung-mo Kim. Korea: Nanyang University Press, 1982, p.99-126.

Kim, Byung-mo. Megalithic Cultures in Asia.Korea: Nanyang University Press, 1982.

Munandar, Agus Aris. The Continuity of Megalithic Culture and Dolmen in Indonesia. Department of Archaeology, Faculty of Humanities, University of Indonesia, 2011.

Sung Wen-Hsun. A Note on the Excavations at Peinan (Taiwan), Bulletin de l'Ecole française d'Extrême-Orient. Année 1992, Volume 79, Numéro 79-1, pp. 281-286.

Tsang, Chenghwa, The Archaeology of Taiwan. Taiwan: Council for Cultural Affairs, 2000.

Yeh, Chian-Jin. Digital Museum of the Peinan Site and Peinan Culture. Taiwan: Collection and Research Division Nation Museum of Prehistory. Accessed data on 29thOctober 2006.

(จำนวนผู้เข้าชม 6833 ครั้ง)


Messenger