...

ปฏิทินและวันปีใหม่ สมัยสุโขทัย
เวลา หมายถึง ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ นิยมกำหนดขึ้นเป็นครู่ คราว วัน เดือน ปี (ราชบัณฑิตยสถาน, 2554) เวลาเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีคำหลากหลายที่ใช้เรียกเพื่อสื่อความหมายแต่ละชั่วขณะของเวลา เช่น นาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน ปี เช้า เที่ยง เย็น ค่ำ มืด เป็นต้น เวลามีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ จึงได้สร้างปฏิทินเป็นแบบสำหรับดูวัน เดือน ปี แบ่งเป็น 3 ระบบ ได้แก่ ปฏิทินสุริยคติ ปฏิทินจันทรคติ และปฏิทินสุริยจันทรคติ ปัจจุบันทั่วโลกใช้ระบบปฏิทินสากล เรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) เป็นแบบวิธีนับวันเดือนปี ถือกำหนดตามตำแหน่งการเดินของดวงอาทิตย์เป็นหลัก และมีปฏิทินแบบต่าง ๆ มากกว่า 90 แบบ ตามคติความเชื่อและวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาคในโลก เช่น ไทยใช้ปฏิทินสุริยจันทรคติในการกำหนดประเพณีสงกรานต์และวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น การใช้ปฏิทินจันทรคติของไทยในปัจจุบัน อาจสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้น เพื่อหาคำตอบว่าสมัยสุโขทัยมีวิธีการนับวันเวลาอย่างไร และวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันใด เรามาร่วมกันสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิทินและวันปีใหม่ในยุคนั้น เผื่อจะพบเบาะแสพาเราเชื่อมโยงกลับไปสู่วิถีชีวิตและความเชื่อในอดีต ที่เป็นพื้นฐานคติความเชื่อ ส่งต่อมาให้เราในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

การนับปี

สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18 - 20) มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่า ช่วงต้นสมัยสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 18 มีการนับปีโดยใช้มหาศักราช ปีนักษัตร และวันหนไท จากนั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นจุลศักราชและปีพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว มีการใช้ปฏิทินจันทรคติ (Lunar Calendar) เป็นวิธีนับวันเดือนปีโดยถือเอาการเดินของดวงจันทร์เป็นหลัก การนับปี เช่น มหาศักราช (ม.ศ.) และปีนักษัตร ปรากฏในจารึกสุโขทัย เช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหง จารึกวัดป่ามะม่วง เป็นต้น

มหาศักราชเป็นที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า กนิษกศักราช ตั้งขึ้นภายหลังพุทธศักราช 621 ปี เริ่มนับตั้งแต่ปีเริ่มต้นรัชกาลของพระเจ้ากนิษกะ ผู้ครองอินเดียภาคเหนือ (วินัย พงศ์ศรีเพียร, 2546, 36-37) จากหลักฐานเอกสารพบจารึกระบุมหาศักราชในจารึกรุ่นก่อนสุโขทัย เช่น อักษรปัลลวะ อักษรขอมโบราณ เป็นต้น ซึ่งนักภาษาโบราณเสนอว่าอักษรปัลลวะ คือ อักษรของราชวงศ์ปัลลวะในอินเดียใต้ เข้ามาในไทยประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 และได้คลี่คลายมาเป็นอักษรหลังปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 13 -14) อักษรมอญโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 17 - 18) อักษรขอมโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 15 -19) อักษรขอมสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19 - 20) และอักษรสุโขทัย (กรรณิการ์ วิมลเกษม, 2542)

ตัวอักษรปัลลวะนับเป็นรูปอักษรรุ่นเก่าในดินแดนประเทศไทยและได้พบจารึกอักษรปัลลวะระบุมหาศักราช 559 (พุทธศักราช 1180) จากปราสาทเขาน้อยสีชมพู จังหวัดสระแก้ว ถือเป็นจารึกระบุมหาศักราชที่เก่าที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบจารึกระบุมหาศักราชรุ่นก่อนสุโขทัยเป็นจารึกอักษรขอมโบราณ เช่น จารึกปราสาทหินพิมาย 2 (มหาศักราช 958) จารึกปราสาทหินพนมวัน 3 (มหาศักราช 1004) จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น เป็นไปได้ว่าการบันทึกมหาศักราชนี้ได้ถ่ายทอดให้กับอาณาจักรสุโขทัยด้วย โดยจารึกสุโขทัยที่พบมหาศักราชเก่าที่สุด คือ จารึกพ่อขุนรามคำแหง ระบุมหาศักราช 1205 และมีการใช้มหาศักราชต่อเนื่องมาจนสมัยพระธรรมราชาที่ 1 พุทธศตวรรษที่ 20 จึงมีการปฏิรูประบบปฏิทินและนำศักราชอีกแบบมาใช้ ได้แก่ จุลศักราช (จ.ศ.) และปีพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ตามที่ปรากฏในจารึกสุโขทัย เช่น จารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาไทย และภาษาบาลี จารึกวัดพระยืน เป็นต้น

การนับเดือนและวัน

สมัยสุโขทัยใช้วิธีนับเดือนและวันยึดตามการโคจรของดวงจันทร์ เช่น ขึ้น 1 ค่ำ ถึง แรม 15 ค่ำ สำหรับการนับเดือนแบ่งเป็น 12 เดือน ตั้งแต่เดือนอ้าย (เดือนแรก) ถึงเดือน 12 ส่วนการนับวันเริ่มต้นเดือนและวันขึ้นปีใหม่ เชื่อว่ามี 2 ระบบ กล่าวคือ ช่วงต้นสมัยสุโขทัยใช้มหาศักราชตามที่นิยมในอินเดียเหนือ นับวันและเดือนแบบปูรณิมานตะ ถือวันเพ็ญเป็นวันสิ้นเดือน วันต้นเดือน คือ วันแรม 1 ค่ำ วันเพ็ญเดือนกฤตติตาเป็นวันปีใหม่ อยู่ในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน หรือวันเพ็ญเดือน 12 ต่อมามีการปฏิรูปปฏิทินในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 เริ่มใช้จุลศักราช นับวันและเดือนแบบอมานตะแบบอินเดียใต้ วันขึ้น 1 ค่ำเป็นวันต้นเดือน วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (เชิดศักดิ์ แซ่ลี่, อรพิน ริยาพร้าว, และตรงใจ หุตางกูร, 2567, 13-18, 65) สอดคล้องกับการรับพุทธศาสนาจากลังกาในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ซึ่งในลังกาใช้ปฏิทินแบบอมานตะ

ชื่อเดือนและวันเหล่านี้ พบในจารึกสุโขทัย เช่น จารึกวัดป่าแดง กล่าวถึงเดือนอ้ายและเดือน 9 จารึกพ่อขุนรามคำแหง ระบุถึงการเผาเทียนเล่นไฟเฉลิมฉลองวันปีใหม่จัดขึ้นภายหลังจากวันออกพรรษาในเดือน 11 เป็นเวลาหนึ่งเดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 หรือประเพณีลอยกระทง จารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร กล่าวถึงคัมภีร์โชยติศาสตร์ ปฏิทิน และการนับวันขึ้นศักราชใหม่ในเดือน 5 เป็นต้น

ระบบปฏิทินในยุคนั้นไม่เพียงใช้วันเดือนจันทรคติ แต่ยังอิงปีนักษัตร 12 รอบ เช่น ชวด ฉลู ขาล เถาะ เป็นต้น และมีการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาและประเพณีที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อของชาวสุโขทัยในยุคนั้นอย่างลึกซึ้ง นอกจากชื่อเดือนในภาษาไทยแล้ว ยังปรากฏชื่อเดือนภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตในจารึกสุโขทัย เช่น กฤตติกามาส เชษฐมาส จิตรมาส เป็นต้น ซึ่งเป็นชื่อเดือนที่ยังคงใช้อยู่ในอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนการรับระบบปฏิทินจากอินเดียผ่านทางอาณาจักรเขมร

นอกจากนี้ ยังปรากฏคำจารึกสุโขทัยที่ระบุปีปฏิทินอีกแบบหนึ่ง คือ วันหนไท เป็นศักราชที่ใช้แพร่หลายในกลุ่มชาติพันธุ์ไทต่าง ๆ ในจีนตอนใต้ ภาคเหนือของไทย ลาว และเวียดนาม เป็นระบบปฏิทินที่มาจากระบบปฏิทินจีนโบราณ แบ่งศักราชเป็นแม่ปี 10 ปี และลูกปี 12 ปี มีชื่อเรียกเฉพาะจากหน่วยคำแม่ปีกับลูกปี มีวัฎจักร 60 ปี (วินัย พงศ์ศรีเพียร, 2546, 56-62) ตามที่พบคำจารึกวันหนไทในจารึกสุโขทัย เช่น กัดเหม้า เมิงเป้า เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าสมัยสุโขทัยมีระบบปฏิทินที่หลากหลาย สะท้อนถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมจากจีน อินเดีย เขมร ลาว เวียดนาม มอญ และพม่า รวมถึงการจัดระเบียบวันและปีที่มีความสัมพันธ์กับศาสนาและประเพณี ทำให้ปฏิทินในยุคนั้นไม่ใช่เพียงเครื่องมือบอกเวลา แต่ยังเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างสังคม วัฒนธรรม และความเชื่อในชีวิตประจำวันของชาวสุโขทัย

ตัวอย่างหลักฐานเกี่ยวกับปฏิทิน
         
          1. จารึกพ่อขุนรามคำแหง

ในจารึกมีการกล่าวถึงวันสำคัญทางศาสนา เช่น เมื่อพรรษา ออกพรรษา กรานกฐิน เป็นต้น ดังข้อความ “เมื่อออกพรรษากรานกฐิน เดือนณื่งจึ่งแล้ว เมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวงเที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก” นอกจากนี้กล่าวถึงปี และการนับปี เช่น ปีมะโรง ปีมะแม สิบสี่เข้า เป็นต้น การนับเดือน เช่น เดือนโอกแปด เดือนณื่ง เป็นต้น และการนับวัน เช่น วัดเดือนดับ วันเดือนเต็ม เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าชาวสุโขทัยใช้ระบบการนับวันเดือนปี ตามดวงจันทร์ จักรราศี มีการอ้างถึงปีนักษัตร (12 นักษัตร) และเดือนจันทรคติที่สัมพันธ์กับฤดูกาล

2. จารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร

ในจารึกหลักนี้ กล่าวถึงคำเรียกเวลาต่าง ๆ เช่น ศักราช 1269 ปีกุน วันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 เป็นต้น ซึ่งเป็นมหาศักราช วันที่สอดคล้องกับปฏิทินจันทรคติ นอกจากนี้ยังมีคำสำคัญที่กล่าวถึงที่มาหรือแนวคิดในการนับวันเวลาของชาวสุโขทัย คือ คัมภีร์ชโยติษ (โชยติศาสตร์) เป็นคัมภีร์ด้านดาราศาสตร์ของอินเดียโบราณ ดังข้อความ “โชยติศาสตร์ กล่าวคือ ดาราศาสตร์ เป็นต้น คือ ปี เดือน สุริยคราส จันทรคราส พระองค์อาจรู้เศษ ทรงพระปรีชาโอลาริก ฝ่ายวันสิ้นเดือน 4 ที่ควรมา. หลังศักราช มีอธิกมาส พระองค์ก็ทรงแก้ไขให้สะดวก ทรงตรวจสอบแล้วอาจรู้ปีที่เป็นปรกติมาสและอธิกมาส วันวารนักษัตรโดยสังเขป และโดยปฏิทินสำเร็จรูป”

3. จารึกวัดบางสนุก

           กล่าวถึงการนับวันขึ้นแรม วันหนไท (วันเมิงเป้า ปีกัดเหม้า) และปีนักษัตร (ปีเถาะ) ดังข้อความ “ยามดี วันเมิงเป้า เดือน 7 ออกสิบห้าค่ำ ปีกัดเหม้า และโถะ”

 

วันขึ้นปีใหม่ของชาวสุโขทัย

ตามจารีตประเพณีโบราณของไทยเริ่มต้นปีในฤดูหนาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องการเปลี่ยนปี จากหนังสือวชิรญาณ เล่ม 2 ฉบับที่ 13 เดือน 11 ปี 1247 ตามความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ความว่า “โบราณคิดเห็นว่าฤดูหนาวเปนเวลาพ้นจากมืดฝนสว่างขึ้นเหมือนเวลาเช้า คนโบราณจึงได้คิดนับเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี” กล่าวคือ การเริ่มต้นปีในฤดูหนาวเหมือนการเริ่มวันในเวลาเช้า เข้าสู่ฤดูร้อนช่วงกลางปีคือกลางวัน ฤดูฝนปลายปีคือกลางคืน คนโบราณจึงนับว่าเดือนอ้ายหรือเดือนหนึ่งคือต้นปีไปจนถึงเดือน 12 ในฤดูฝนเป็นปลายปี ตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “...คนโบราณก็คิดว่าฤดูเหมันต์เป็นต้นปี ฤดูวัสสานะเป็น ปลายปีฉันนั้น เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็นหนึ่ง แต่เดือนอ้าย และแต่ก่อนคนโบราณนับเอาข้างแรม เป็นต้นปีต้นเดือน เขานับเดือนอ้ายตั้งแต่แรมค่ำ ภายหลังมีผู้ตั้งธรรมเนียมเสียใหม่ ให้เอาเวลาเริ่ม สว่างไว้ เป็นต้น เวลาสว่างมากเป็นกลาง เวลามืดเป็น ปลาย คล้ายกันกับต้นวันปลายวันแลมีดังกล่าวแล้ว...”

จากจารึกพ่อขุนรามคำแหง กล่าวถึงการเผาเทียนเล่นไฟเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่หลังจากวันออกพรรษาผ่านไปแล้ว 1 เดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 จึงตีความได้ว่า วันขึ้นปีใหม่ในสมัยสุโขทัย คงเป็นวันถัดจากวันเพ็ญเดือนสิบสอง คือ วันเปลี่ยนศกใหม่ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย หรือหลังวันเพ็ญเดือนกฤตติกามาส ตามระบบเดือนแบบปูรณิมานตะ นับวันพระจันทร์เต็มดวงเป็นวันสิ้นสุดเดือน วันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปีใหม่ (เชิดศักดิ์ แซ่ลี่, อรพิน ริยาพร้าว, และตรงใจ หุตางกูร, 2567) สอดคล้องกับข้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 12 – 23 เนื้อหากล่าวถึงเมืองสุโขทัยผู้คนล้วนมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนต่างตั้งใจรักษาศีลในช่วงเข้าพรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็จะมีพิธีกรานกฐินเป็นเวลาหนึ่งเดือน ในพิธีกฐินนั้น ผู้คนจะนำสิ่งของมาร่วมทำบุญ เช่น พนมเบี้ย พนมหมาก พนมดอกไม้ และหมอนสำหรับนั่ง เครื่องบริวารกฐินต่าง ๆ การเดินทางไปกฐินนั้น จะไปยังวัดต่าง ๆ จากวัดในเมืองไปจนวัดในเขตอรัญญิก เมื่อเสร็จพิธีกฐิน ผู้คนที่มาจะจัดขบวนมาเป็นระเบียบจากวัดจนถึงลานเมือง มีการละเล่นและเสียงดนตรีต่าง ๆ เช่น พาด พิณ เป็นต้น เสียงเอื้อนขับร้อง ใครอยากเล่นก็เล่น ใครอยากสนุกสนานก็หัวเราะเฮฮาไป ภายในเมืองสุโขทัยนี้ มีประตูเมืองหลวงสี่ด้าน แต่ละด้านล้วนคับคั่งไปด้วยผู้คนที่มาเที่ยวชม เฝ้าดูการเผาเทียนเล่นไฟ ผู้คนหนาแน่นจนดูเหมือนเมืองจะแตก ซึ่งตีความว่าเป็นการบรรยายภาพช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นั่นเอง

การอ้างอิง

กรรณิการ์ วิมลเกษม. (2542). พัฒนาการของอักษรโบราณในประเทศไทย. ใน สังคมและวัฒนธรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

เชิดศักดิ์ แซ่ลี่, อรพิน ริยาพร้าว, และ ตรงใจ หุตางกูร. (2567). สอบเทียบวันเดือนปีในจารึกสุโขทัย. เชียงใหม่: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2463). เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (9 มิถุนายน 2554). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. เข้าถึงได้จาก ระบบค้นหาคำศัพท์: https://dictionary.orst.go.th/

วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2546). วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ.

สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2529). จารึกในประเทศไทย เล่ม 5. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2548). ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

เผยแพร่เมื่อ: วันที่ 15 มกราคม 2568

(จำนวนผู้เข้าชม 63 ครั้ง)