...

เมืองนครไทย จากหลักฐานเอกสาร
❝ เมืองนครไทย : จากหลักฐานเอกสาร ❞
#เมืองนครไทย_ตอนที่๒
#โบราณคดีจังหวัดพิษณุโลก #พี่โข่ทั๋ยมี๋เรื๋องเล๋า
.
.
เรื่องราวของเมืองนครไทย มีปรากฏในหลักฐานเอกสาร ดังนี้
 ๑. เมืองนครไทย จากศิลาจารึกสุโขทัย
 ๑.๑ จารึกวัดเขากบ
จารึกวัดเขากบ พบที่บนเขากบ เหนือปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นจารึกสมัยสุโขทัย ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มีเนื้อหากล่าวถึงการสร้างรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์และวิหารไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ หรือ เขากบ นั่นเอง โดยในเนื้อหาของจารึกวัดเขากบ ด้านที่ ๒ มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเมืองนครไทย ดังนี้
❝...ข้ามมาลุตะนาวศรีเพื่อเลือกเอาคนฝูงดี.....สิงหลทีป รอดพระพุทธศรีอารยไมตรี เพชรบุรี ราชบุรีน....ส อโยธยา ศรีรามเทพนคร ที่สอรพิรุณาส ตรงบาดาล พระ...เด็จ ท่านก่อที่นั้น ผสมแต่ก่อพระเจดีย์พระศรีรัตนธาตุได้พัน...ร้อยห้าสิบเจ็ด รัตนกูดา #นครไทย (นครไท) ว่ากัมพงคลองอีกพระเจดีย์...... ❞  
 ดูข้อมูลของจารึกวัดเขากบ เพิ่มเติมได้ที่ :
https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/215
.
๑.๒ จารึกวัดบูรพาราม 
จารึกวัดบูรพาราม  พบที่จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร มีอายุศักราช พ.ศ. ๑๙๓๙ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงขอบเขตดินแดนของสุโขทัยโดยรวมถึงเมืองนครไทยด้วย  ความว่า
❝ศักราชเจ็ดร้อยห้าสิบแปดกลาย (พ.ศ. ๑๙๓๙) ท่านได้ปราบต์ทั้งปกกาวชาวด้านหนตีน  เถิงฝั่งของ...ตะวันออกคุง......เบื้องตะวันตกเท้าเมืองฉอดรอดแดนพัล เบื้องข้างตะวันหนออกรอดเถิงลุมบาจายรอดสายยโสธรเบื้องข้างหนอุดร #ลุนครไท (นคอร(ไท))....รอดริด...เชียงดงเชียงทองนองด้วยท้าวพระยาทิศานุทิศมาไหว้คัล❞
นอกจากนี้จารึกหลักเดียวกันนี้อีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นภาษาบาลี ปรากฏชื่อเมืองนครไทยว่า ❝ #นครเทยฺยกํ❞   ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางทิศตะวันออก (บูรพา) ของสุโขทัย  
 ดูข้อมูลของจารึกวัดบูรพารามเพิ่มเติมได้ที่
https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/254
.
๑.๓ จารึกกฎหมายลักษณะโจร
จารึกกฎหมายลักษณะโจร (พ.ศ. ๑๙๔๐) พบที่ทางเลี้ยวเข้าวัดพระมหาธาตุและวัดสระศรี หลักกิโลเมตรที่ ๕๐ - ๕๑  อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
เนื้อความของจารึกหลักนี้ กล่าวถึงพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติกฎหมายลักษณะโจร มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงข้าราชบริพารที่มาเข้าเฝ้าจากเมืองต่าง ๆ ความดังนี้
❝...พระองค์ท่านเสด็จในกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ ด้วยพระราชศฤงคารบริพารพลแลจตุรงคนิกรธารลำน้ำพระยาพังเกษตร สคาบุรีพระยาพัง ศรีสัชนาลัยบุรีพระยาพังไทวยนทีศรียมนาพี่พระยาทานพัง #นครไทย (นคอรไทย) แล...พระราชมาตุละบพิตรมนตรีอนุชิต... ❞  
 ดูข้อมูลของจารึกกฎหมายลักษณะโจร เพิ่มเติมได้ที่
https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/118
.
.
ข้อความที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครไทยในจารึกสุโขทัย แสดงให้เห็นว่าในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้มีเมืองนครไทยเกิดขึ้นแล้ว และเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของสุโขทัย
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเมืองที่เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างดินแดนต่าง ๆ ทั้งสุโขทัย ล้านช้าง อยุธยา และล้านนา และการเป็นแหล่งทรัพยากรประเภทของป่า รวมทั้งการผลิตเกลือ ทำให้เมืองนครไทยมีร่องรอยของพัฒนาการสืบเนื่องต่อมา โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองนครไทย ดังนี้
.
.
 ๒. พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
เนื้อความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พูดถึงเมืองนครไทย ๒ เหตุการณ์ ดังนี้
❝ ศักราช ๘๒๔ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๕) #เมืองนะครรไทย พาเอาครัวอพยพหนีไปนาน แลให้พระกลาโหมไปตามได้คืนมา... ❞   
เหตุการณ์ที่หนึ่งกล่าวถึง ปี พ.ศ. ๒๐๐๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ในช่วงที่ทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ได้เกิดการอพยพผู้คนจากเมืองนครไทยไปอยู่ที่เมืองน่าน จนทำให้ทางกรุงศรีอยุธยาต้องส่งพระยากลาโหมไปกวาดเทครัวที่อพยพหนีไปกลับคืนมา ซึ่งในเวลาต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงย้ายมาประทับบัญชาการศึกอยู่ที่พิษณุโลกและทรงผนวชที่วัดจุฬามณี เป็นเวลาถึง ๒๕ ปี เพราะฉะนั้น นครไทยในช่วงนั้น น่าจะเป็นหัวเมืองสำคัญหัวเมืองหนึ่งของอยุธยา จึงไม่สามารถปล่อยเมืองนี้ไปอยู่ในความครอบครองของล้านนาได้
จากเหตุการณ์นี้เอง เป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดฯ ให้ตั้งเมืองนครไทยขึ้นเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ ๒๐๒๐ ดังความว่า
❝...ศักราช ๘๓๙ ระกาศก (พ.ศ. ๒๐๒๐) แรกตั้ง #เมืองณครรไทย.... ❞  
.
 ๓. จดหมายเหตุลาลูแบร์
จดหมายเหตุลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam แปลตามตัวคือ “ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม”) เป็นบันทึกของของซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา
จดหมายเหตุลาลูแบร์ ได้กล่าวถึงเมืองนครไทยไว้เช่นเดียวกัน โดยกล่าวถึงตำนานการสร้างพระนครศรีอยุธยา ว่ามีบรรพกษัตริย์ของสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเจ้าอู่ทอง) พระองค์หนึ่ง อพยพมาอยู่ที่เมืองนครไทย ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนที่กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาจะอพยพลงมาสร้างพระนครศรีอยุธยา และได้ระบุถึงปี พ.ศ. ๑๗๓๑ ไว้ด้วย ความว่า
❝...ในปี พ.ศ. ๑๗๓๑ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๒ สืบต่อจากพระองค์นี้ ซึ่งทรงพระนามว่า พระพนมไชยศิริ ทรงให้อาณาประชาราษฎรของพระองค์อพยพตามไปยังเมือง #นครไทย (Lacontai) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอันไหลมาจากภูเขาแดนลาว ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ (เจ้าพระยา) ตอนเหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไปเล็กน้อย แต่นั้นไปยังเมืองนครไทยไกลกัน ๔๐ ถึง ๕๐ ลี้ แต่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มิได้ประทับอยู่ ณ เมืองนครไทยตลอดมา.... ❞  
ตำนานการสร้างพระนครศรีอยุธยาของลาลูแบร์ มีเค้าโครงคล้ายกับตำนานพระเจ้าอู่ทองที่มีอยู่หลายสำนวน แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าเอกสารของลาลูแบร์ เป็นการจดบันทึกจากคำบอกเล่า ทั้งคำบอกเล่าของขุนนางบ้าง ราษฎรบ้าง เป็นการจดบันทึกต่อ ๆ กันมา แต่อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุลาลูแบร์ก็แสดงให้เห็นว่า อยุธยาในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองนครไทยยังคงเป็นหัวเมืองสำคัญที่อยู่ในการรับรู้ของชาวอยุธยา
.
.
#โบราณคดีจังหวัดพิษณุโลก #เมืองนครไทย
#พี่โข่ทั๋ยมี๋เรื๋องเล๋า #องค์ความรู้ออนไลน์
.
.
::: อ้างอิง  :::
.
 กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘.
 กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
 นาตยา ภูศรี. เมืองนครไทย : ข้อมูลใหม่จากงานโบราณคดีที่วัดหน้าพระธาตุ. (เอกสารอัดสำเนา). ม.ป.ท : สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย, ๒๕๖๑.
 ลาลูแบร์. จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, ๒๕๑๐.
 หวน  พินธุพันธ์. พิษณุโลกของเรา. พระนคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๑๔.
.
.
…………………………………………………………………………………
☆ ช่องทางออนไลน์ : สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย ☆
…………………………………………………………………………………
กดไลก์ กดแชร์ กดกระดิ่ง และกดติดตาม เพื่อไม่พลาดข่าวสารกันได้ที่
 Facebook Fanpage ::: https://www.facebook.com/fad6sukhothai
Youtube Channel ::: https://www.youtube.com/channel/UCD2W0so8kn4bL-WOu8Doqnw

(จำนวนผู้เข้าชม 982 ครั้ง)


Messenger