ภาพเขียนสีบนเพิงผา งานศิลปะแห่งโลกยุคโบราณที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ภาพเขียนสีบนเพิงผา งานศิลปะแห่งโลกยุคโบราณที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
.
บทความโดย นายธีรศักดิ์ ธนูศิลป์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย
.
จังหวัดตาก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญและอุดมไปด้วย ทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด ได้แก่ สินแร่มีค่าประเภท ทองค้า เงิน ตะกั่ว ดีบุก เป็นต้น สมุนไพรหลากหลายชนิดรวมถึงสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังเป็นประตูที่สำคัญของเส้นคมนาคมเชื่อมต่อภูมิภาคในฝังตะวันออกและตะวันตกในโลกยุคโบราณ “ของป่า” และ “เส้นทางคมนาคม” นี้ ล้วนดึงดูดผู้คนโบราณให้เข้ามาแสวงหาใช้ประโยชน์เกิดการบริโภคในชุมชนสังคมนำไปสู่การติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนใกล้-ไกล ขยายตัวเป็นสังคมขนาดใหญ่
.
ในเวลาต่อมาพื้นที่จังหวัดตากพบการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ช่วงปลายไพลสโตซีน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เทือกเขาสูงฝั่งตะวันตกติดต่อกับประเทศเมียนมาในปัจจุบัน สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับภูมิอากาศโลกที่มีความหนาวเย็นส่งผลมนุษย์จำเป็นต้องอาศัยเพิงผาหรือถ้ำเป็นที่กำบังและพักพิง บางแห่งยังคงหลงเหลือร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีที่ช่วยในการศึกษาตีความสะท้อนภาพวิถีชีวิต ความเชื่อและสุนทรีย์ของผู้คนในโลกยุคโบราณ
.
พื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตากเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจในด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับทรัพยากร และการศึกษาด้านภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน แต่เนื่องจากเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนซึ่งยากต่อการเข้าถึงพื้นที่สำคัญในบางจุด ทำให้ในอดีตที่ผ่านมาขาดแคลนข้อมูลในพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้รับแจ้งว่า พบร่องรอยของภาพเขียนสีโบราณที่เพิงผาในเขตป่าท้องที่ตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นแหล่งภาพเขียนสีโบราณบนเพิงผาขนาดใหญ่ซึ่งนับว่าเป็นภาพเขียนสีแห่งใหม่และแหล่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดตากเท่าที่สำรวจพบในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกประการหนึ่งต่อวงการโบราณคดี ในด้านการศึกษาพัฒนาการสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่เทือกเขาสูงในฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ภาพเขียนสีที่สำรวจพบมีการผสมผสานเทคนิค ๒ แบบเข้าด้วยกัน คือ แบบโครงร่าง (outline) และ แบบทึบแสง (silhouette) ซึ่งเขียนภาพบุคคลเสมือนจริง ภาพสัตว์ และภาพเชิงสัญลักษณ์
.
ความสำคัญของภาพเขียนสีนอกจากเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่นักโบราณคดีโดยเฉพาะตัวผู้เขียนเองพยายามถอดรหัสและนำมาอธิบายในแง่มุมของการเป็นตัวแทนความทรงจำของผู้คนในโลกยุคโบราณเป็นหลักฐานบ่งชี้ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม สะท้อนในแง่มุมของโบราณคดีผ่านการศึกษาตีความเรื่องราวของวิถีชีวิตซึ่งจะช่วยเพิ่มเติมองค์ความรู้เรื่องของการตั้งถิ่นฐานและวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนในโลกยุคโบราณในพื้นที่แถบนี้ได้เป็นอย่างดี
.
นอกจากนี้ ภาพเขียนสีถือได้ว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเอกแสดงถึง “ตัวตน” (self) และ “เอกลักษณ์” (identity) ของกลุ่มสังคมหนึ่งที่คัดเลือกและรังสรรค์ผลงานบนเพิงผาซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับภาพเขียนสีที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตากที่สำรวจพบใหม่นี้ สันนิษฐานว่า อยู่ในช่วงไพลสโตซีนตอนปลาย - โฮโลซีนตอนต้นหรือเชื่อมโยงได้กับผู้คนในสังคมกสิกรรมราว ๔,๐๐๐ – ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว แต่อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องมีการกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมในอนาคต ควบคู่กับการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์อายุสมัยที่แน่ชัดและอธิบายบริบททางสังคมและวัฒนธรรมต่อไป
(จำนวนผู้เข้าชม 1133 ครั้ง)