เมืองบางพาน
✦ประวัติเมืองบางพาน✦
.
“เมืองบางพาน” ตั้งอยู่ที่บ้านวังพาน ตำบลเขาคีรีส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เป็นชุมชนโบราณที่มีลักษณะเมืองค่อนข้างกลม มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๓ ชั้น ภายในเมืองพบซากโบราณสถานขนาดเล็ก มีสภาพเป็นกองศิลาแลง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมีเขานางทอง บนยอดเขามีซากโบราณสถานและฐานพระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม
.
ภายในเมืองบางพานแม้ว่าจะพบซากโบราณสถานขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของเมือง แต่ความสำคัญของชุมชนแห่งนี้คือ เป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคมที่ติดต่อกับกรุงสุโขทัยและเมืองอื่นได้สะดวก ตลอดจนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มซึ่งเพาะปลูกได้ผลดี ด้วยเหตุนี้ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลักจึงกล่าวถึงชื่อเมืองแห่งนี้
.
ศิลาจารึกหลักที่ ๒ (จารึกนครชุม) กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหง บ้านเมืองในแคว้นสุโขทัยเกิดความแตกแยก เมืองสำคัญอย่างเมืองเชียงทอง เมืองคณฑี เมืองบางพาน เมืองพระบาง
ต่างแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัย จนพระมหาธรรมราชาลิไทขึ้นครองราชย์ จึงได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง และให้ความสำคัญของเมืองบางพานเอาไว้เทียบเท่ากับเมืองใหญ่ ๆ ในยุคนั้น ด้วยการจำลองรอยพระพุทธบาทมาประดิษฐานไว้บนยอดเขานางทอง พร้อมกับเมืองอื่น ๆ อีกสามแห่งคือ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองพระบาง (นครสวรรค์)
.
เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชจากลังกาทวีปให้มาจำพรรษา ที่กรุงสุโขทัยใน พ.ศ. ๑๙๐๔ ตามที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงนั้น พระมหาสามีสังฆราชได้เดินทางบกจากเมืองฉอด ผ่านเมืองเชียงทอง เมืองบางจันทร์ เมืองบางพาน ถึงเมืองสุโขทัย
.
ปลายรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) พระองค์เสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏพร้อมกับชาวเมืองต่าง ๆ ที่เป็นเมืองบริวารของสุโขทัย ซึ่งรวมทั้งเมืองบางพานด้วย
.
นอกจากจารึกสมัยสุโขทัยที่กล่าวถึงเมืองบางพานแล้ว ยังมีจารึกฐานพระอิศวร (พ.ศ. ๒๐๕๓) ที่กล่าวถึงพระยาศรีธรรมมาโศกราช เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้สั่งให้มีการขุดลอกท่อปู่พระยาร่วงเพื่อนำน้ำจากแม่น้ำปิงเมืองกำแพงเพชรไปช่วยการทำนาที่เมืองบางพาน หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า เมืองพานน่าจะเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการซ่อมแซมท่อปู่พระยาร่วงเพื่อให้ส่งน้ำไปยังเมืองบางพาน
(จำนวนผู้เข้าชม 2801 ครั้ง)