โบราณสถานถ้ำนางทองกับรอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย ที่ประดิษฐานไว้ในเมืองบางพาน
✦ โบราณสถานถ้ำนางทองกับรอยพระพุทธบาทสมัยสุโขทัย ที่ประดิษฐานไว้ในเมืองบางพาน✦
.
เรียบเรียงโดยนางสาวธนิสรา พุ่มผะกา นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย
.
.
▶ เขานางทอง
.
โบราณสถานถ้ำนางทอง หรือ วัดเขานางทอง ตั้งอยู่ที่ “เขานางทอง” ซึ่งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองบางพาน ในเขตตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เป็นภูเขาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองบางพานและเคยเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทในสมัยสุโขทัยที่สันนิษฐานกันว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) โปรดฯ ให้สร้างไว้บนยอดเขาตามที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๒ (จารึกนครชุม) ความว่า
.
" …พระยาธรรมมิกราช ให้ไปพิมพ์เอารอยตีน…พระเป็นเจ้าเถิงสิงหล อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต ประมาณเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้ จุ่งคนทั้งหลายแท้…อันหนึ่งประดิษฐสถานไว้ในเมืองศรีสัชชนาลัย เหนือจอมเขา…อันหนึ่งประดิษฐสถานไว้ในเมืองสุโขทัยเหนือเขาสุมนกูฏ อันหนึ่งประดิษฐสถานไว้ในเมืองบางพานเหนือจอมเขานางทอง.... "
.
ในพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงมีพระราชาธิบายเกี่ยวกับเขานางทองไว้ ดังนี้
.
“..ยอดเขานี้มีกองแลงอยู่กองหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นพระเจดีย์ได้ตั้งอยู่บนเนินหนึ่ง อีกเนินหนึ่งมีอะไรคล้ายบุษบกอยู่บนนั้น ที่ระหว่างเนินทั้งสองนี้ มีแผ่นศิลาสลักเป็นรอยพระพุทธบาทไว้แผ่นหนึ่ง นอกจากลายก้นหอยที่นิ้วกับจักรใหญ่อยู่ตรงฝ่าพระบาทมีลายต่างๆ แบ่งเป็นห้อง ดูเป็นทำนองจีน มีอะไรคล้าย ๆ กับเก๋งจีนอยู่ในนั้นหลายห้องทางริมแผ่นศิลาข้างซ้ายพระบาท แต่นอกรอยพระบาทออกมามีตัวอักษรขอมจารึกอยู่ แต่ศิลากะเทาะออกเสียมาก อ่านไม่ได้ความ พระบาทนี้เหลือที่จะกำหนดอายุได้อาจเป็นของเก่าครั้งพระร่วง...”
.
▶ โบราณสถานบนเขานางทอง
.
โบราณสถานถ้ำนางทองตั้งอยู่บนเขานางทอง วางผังตามแนวยาวของภูเขา ด้านบนสูงสุดเป็นเจดีย์ใหญ่ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานเจดีย์กว้าง ๑๒ เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ถัดมาเป็นเจดีย์รายก่ออิฐขนาดเล็ก ๓ องค์ กว้างด้านละ ๒ เมตร เท่ากันทุกองค์ และมีวิหาร ๑ หลัง ส่วนอีกเนินหนึ่งทางด้านทิศเหนือเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นอาคารโถงประเภทวิหาร และมีบ่อน้ำกรุอิฐเป็นรูปวงกลม
.
▶ รอยพระพุทธบาทเขานางทอง
.
รอยพระพุทธบาทเขานางทอง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นศิลปะสมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๒๐) แกะสลักจากหินชนวน มีขนาดยาว ๑๗๒.๕ เซนติเมตร กว้าง ๑๑๔ เซนติเมตร รอยพระพุทธบาทมีรูปมงคลร้อยแปดอยู่ในช่องตารางรูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางมีลายธรรมจักร ปลายนิ้วพระบาทสลักเป็นลายนิ้ว ที่ด้านข้างสลักลายเทวดาขนาดใหญ่ กรอบรอบขอบนอกเป็นลายบัว สภาพขอบโดยรอบกะเทาะ ขอบและมุมหักบิ่น
.
▶ การดำเนินงานทางโบราณคดีและประวัติการอนุรักษ์
.
๑. กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเขานางทอง ในราชกิจจานุเบกษา ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๘ หน้าที่ ๓๖๘๐ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
.
๒. กรมศิลปากรประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขานางทอง ในราชกิจจานุเบกษา ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เล่ม ๑๑๘ ตอน พิเศษ ๒๙ ง วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เนื้อที่โบราณสถาน ๑๗๕ ไร่ ๑ งาน ๒๕ ตารางวา
.
๓. กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีเพื่อบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘
.
๔. กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙
(จำนวนผู้เข้าชม 2427 ครั้ง)