แหล่งเตาบึงวัดป่า
องค์ความรู้แหล่งโบราณคดี โบราณสถานในเขตสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ขอนำเสนอข้อมูลแหล่งเตาที่เพิ่งสำรวจพบและขุดค้นในปี 2563 ในจังหวัดพิจิตร
.
แหล่งเตาบึงวัดป่า : ข้อมูลใหม่ในจังหวัดพิจิตร
.
นาตยา ภูศรี
นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย
แหล่งเตาบึงวัดป่า ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร แหล่งเตาแห่งนี้เป็นแหล่งเตาที่พบใหม่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้รับแจ้งจากจังหวัดพิจิตรว่ามีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ขณะขุดลอกแหล่งน้ำบริเวณบึงวัดป่า ใน พื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร หลังจากที่ผู้รับเหมาใช้รถแบคโฮ (backhoe) ขุดลอก แหล่งน้ำบริเวณดังกล่าว ลึกลงไปประมาณ 1.50 เมตร ในเบื้องต้นพบลักษณะคล้ายเตาเผาโบราณ 3 จุด พร้อมโบราณวัตถุ เช่น แจกัน ถ้วย โถ จาน เป็นต้น ต่อมากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ พบว่า สภาพแวดล้อมของพื้นที่เป็นบึงเรียกว่าบึงวัดป่า มีรอยขุดตักของรถแบคโฮ บริเวณ ขอบบึงได้พบร่องรอยเตาเผาภาชนะดินเผาที่ถูกขุดไปบางส่วน และมีบางส่วนยังอยู่ในผนังชั้นดิน พบเศษ ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stone Wares) ทั้งแบบไม่เคลือบและเคลือบสีน้ำตาล ประเภท ไห แจกัน กระปุก เป็นต้น
.
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้ดำเนินการขุดค้นแหล่ง เตาบึงวัดป่าจำนวน 1 เตา ผลการขุดค้น ได้พบหลักฐานเป็นเตาเผาโบราณ ลักษณะเป็นเตาระบายความร้อน แบบแนวนอน (crossdraft kiln) เตามีหลังคาโค้งรีคล้ายประทุนเรือ ก่อด้วยดิน ผนังเตามีคราบซิลิก้าละลาย ติดอยู่ เตามีขนาดกว้าง 2.90 เมตร (ส่วนที่กว้างที่สุด) ยาว 9 เมตร วางตัวตามแนวแกนทิศเหนือใต้ ช่องใส่ไฟ อยู่ทางด้านทิศเหนือ อยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นที่ส่วนอื่นของเตา ปล่องไฟอยู่ทางด้านทิศใต้ เตามีสภาพไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูกรถแบคโฮขุดตัดบริเวณช่องวางภาชนะ ระหว่างการขุดลอกบึงวัดป่า
.
จากการขุดค้นไม่พบเครื่องปั้นดินเผา ภายในเตาพบว่ามีดินอัดแน่นอยู่ภายใน บริเวณพื้นที่โดยรอบ พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งและเนื้อไม่แกร่ง กระจายตัวทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งที่ผลิตจากแหล่งเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 19 และเศษภาชนะดินเผา จากแหล่งเตาในประเทศจีน สมัยราชวงศ์เยวี๋ยน กำหนดอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19
.
ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาบึงวัดป่า ได้แก่ ภาชนะดินเผาทั้งประเภทเนื้อไม่แกร่ง (Earthern wares) และประเภทเนื้อแกร่ง (Stone ware) ส่วนใหญ่เป็นภาชนะประเภท ไห อ่าง และกระปุก ผลการกำหนดอายุด้วยวิธี AMS (Accelerator Mass Spectrometry Radiocarbon Dating) จากตัวอย่างถ่านที่พบบริเวณช่องใส่ไฟของเตาอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1767 – 1841 หรือ ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้น พุทธศตวรรษที่ 19 ส่วนการกำหนดอายุจากชิ้นส่วนผนังเตาด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence Dating : Tl) อยู่ระหว่างรอผลทดสอบ
(จำนวนผู้เข้าชม 1746 ครั้ง)