รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ตอนที่ ๒ วัดมอญ : วัดม่วง
วัดม่วง ตั้งอยู่ที่หมู่ ๕ ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
ประวัติ ความเป็นมาของ “บ้านม่วง” จากคำบอกเล่าของชาวบ้านเชื่อกันว่าบรรพบุรุษรุ่นแรกอพยพมาจากประเทศพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๑๓๓ - ๒๑๔๘) โดยติดตามพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระสงฆ์เชื้อสายมอญนิกายมหายานเข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลอง แล้วให้ชื่อหมู่บ้านเหมือนบ้านเดิมในพม่าว่า “บ้านม่วง“ และได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านว่า “วัดม่วง” ภาษามอญเรียกว่า “เพลียเกริก”
ในทะเบียนวัดของกรมการศาสนาได้ระบุว่า “วัดม่วงประกาศจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓” ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) จากการค้นคว้าและอ่านคัมภีร์ใบลาน ภาษาและอักษรมอญจำนวนมากส่วนใหญ่ระบุว่า จารที่วัดม่วงและระบุศักราชการจารอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงปัจจุบัน คัมภีร์ใบลานที่จารเก่าที่สุด ระบุไว้ว่า “….ศักราช ๑๐๐๐ เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ วันศุกร์ จารเสร็จเมื่อตะวันบ่าย กระผม ชื่อ อุตตมะจารเอาไว้ในวัดม่วง เป็นชื่อเมื่อเป็นพระ…” ศักราช ๑๐๐๐ นั้นเป็นจุลศักราช ซึ่งจะตรงกับปี พ.ศ. ๒๑๘๑ สมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แสดงว่าวัดม่วงนี้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว และมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕๘ ปีมาแล้ว
สิ่งสำคัญในวัดม่วง มีดังนี้
เจดีย์มอญ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดติดกับแม่น้ำแม่กลอง ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงกลมแบบเจดีย์มอญ เจดีย์ประธานมีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงแก้ว ฐานเจดีย์เป็นฐานเขียงถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวหกเหลี่ยม องค์ระฆังรูปทรงคล้ายจอมแห มีการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นสังวาลและการทาสี ส่วนยอดเป็นปล้องไฉนขนาดใหญ่ ปลียอดมีลวดลายปูนปั้นประดับบนสุดมีฉัตรโลหะปักอยู่ เจดีย์บริวารเป็นเจดีย์ขนาดเล็กจำนวน ๓ องค์เรียงเป็นแถว ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้อง ลักษณะรูปทรงคล้ายกับเจดีย์ประธาน แต่บริเวณองค์เจดีย์ไม่มีลวดลายปูนปั้นตกแต่ง
อุโบสถ อาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน มีซุ้มประตูทางเข้า ๑ ด้าน ซุ้มประตูเป็นทรงเจดีย์ขนาดใหญ่ เสาซุ้มเป็นเสาสี่เหลี่ยมมีลวดลายปูนปั้นตกแต่งหัวเสา ยอดซุ้มด้านบน ทำเป็นลักษณะคล้ายหน้าบันขนาดใหญ่ มีกรอบเป็นรูปพญานาคพ่นน้ำหันหน้าออกด้านละ ๑ ตัว ตรงกลางมีลวดลายดอกไม้ตกแต่ง มีลายปูนปั้นเป็นอักษร “พ.ศ. ๒๔๖๙” ยอดบนสุดเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีชายคาปีกนกโดยรอบรองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ช่อฟ้าใบระกาไม้ประดับกระจก หน้าบันปูนปั้นลวดลายเรขาคณิตระบายสีคล้ายรูปมังกร ฐานอุโบสถเป็นฐานบัว ผนังด้านหน้ามีประตูทางเข้า ๒ ประตูสองข้าง
กรอบประตูเขียนเป็นรูปซุ้ม บานประตูเป็นไม้ มีภาพเขียนสีเป็นทวารบาลรูปยักษ์ยืนถืออาวุธเหยียบอยู่บนสัตว์พาหนะ บนผนังด้านหน้าอุโบสถมีภาพจิตรกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนจะเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ด้านข้างซุ้มประตูทั้งสองด้าน และระหว่างกลางแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมเขียนภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ มีอักษรจารึกว่า “หลงพ่อแดง มีจิตศรัทธาได้ทร่างไว้ในศาสนา” ผนังอุโบสถด้านหลังทึบ ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๓ บาน บานหน้าต่างไม้มีภาพ เขียนสีเป็นทวารบาลรูปยักษ์ยืนถืออาวุธเหยียบอยู่บนพาหนะ หันหน้าเข้าหากันเป็นคู่ๆ ที่กรอบหน้าต่างด้านบนจะมีอักษรรามัญจารึกไว้ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูป
อุโบสถหลังนี้ ได้พบหลักฐานการก่อสร้างโดยปรากฏอยู่ในใบลานภาษามอญ ซึ่งเป็น เรื่องเกี่ยวกับการสร้างโบสถ์วัดม่วง พระอุ่น สิริภัทโท แห่งวัดม่วง ได้เรียบเรียงเป็นภาษาไทย โดยลงท้ายว่า“ นายเนิดได้จารลงไว้ในใบลาน เป็นประวัติการเริ่มสร้างโบสถ์วัดม่วง เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ระลึกนึกถึงบุญกุศลของปู่ย่าตายายที่ได้สร้างกันมา ๑๒๔๗ เดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมง เป็นปี ๘ สอง ๘” ตัวเลข ๑๒๔๗ เป็นปีจุลศักราช ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๔๒๘ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยข้อความที่จารในใบลานกล่าวว่า “ริเริ่มถากถางสถานที่จะสร้างพระอุโบสถ ปีจุลศักราช ๑๒๔๖ ในปีวอก เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ วันอังคาร มีพระอาจารย์เจ้าอาวาส ชื่อว่า กจจนามภิกขุ ชื่อในสัญญาบัตร สมณศักดิ์ พระครูชัยคีรีศรีสวัสดิ์ เป็นเจ้าอาวาสสมัยนั้น………
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอุโบสถวัดม่วง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และอาจจะได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ตามอักษรที่ระบุไว้ที่ซุ้มประตูกำแพงแก้ว
นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงมีการเก็บรวบรวมหนังสือคัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ซึ่งจารึกข้อความด้วยภาษามอญ ภาษาบาลี ภาษาเขมร ไว้มากกว่า ๕,๐๐๐ ผูก คัมภีร์ส่วนใหญ่ระบุว่าจารที่วัดม่วง เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย ประวัติสถานที่ ประวัติบุคคล วรรณคดี และตำราต่างๆ โดยมีการระบุศักราชการจารอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงปัจจุบัน คัมภีร์เหล่านี้จะมีแผ่นไม้ปะกับคัมภีร์ซึ่งมีการตกแต่งอย่างงดงาม เช่น การประดับมุก การเขียนลายทอง และการลงรัก เป็นต้น
เรียบเรียง : นางจิรนันท์ คอนเซพซิออน นักโบราณคดีชำนาญการ
สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 2080 ครั้ง)