...

รอยอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ตอนที่ ๓ วัดไทย(และเขมร) : วัดขนอน

     ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงชุมชนมอญซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในพื้นที่ในพื้นที่บ้านโป่งถึงบ้านเจ็ดเสมียน โพธาราม  สำหรับตอนที่ ๓ นี้จะกล่าวถึงชุมชนชาวไทยและเขมร 

     ไทย  ดังที่กล่าวไว้ในตอนแรกว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำแม่กลองบ้านโป่ง - บ้านเจ็ดเสมียน พบว่าชุมชนชาวไทยจะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ แทรกกระจายตัวอยู่เป็นจุดๆ โดยมีวัดไทยเป็นศูนย์กลาง คนไทยเหล่านี้ตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนี้ตั้งแต่สมัยธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์แล้ว  

     แต่สำหรับคนไทยพื้นถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรีนั้นที่เด่นชัดนั้น คือ ชุมชนบ้านโพหัก ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มที่อพยพมาจากบริเวณป่าหลวงหรือป่าน้อย โดยมีเรื่องเล่าว่า หลวงพ่อทองดีเป็นผู้นำในการอพยพเนื่องจากบริเวณป่าหลวงเกิดกันดารน้ำ จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศพบว่าบริเวณป่าหลวงมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีเส้นทางเชื่อมโยงทางเหนือได้ถึงเมืองอู่ทองเก่า ทางใต้ลงสู่แม่น้ำท่าจีน บริเวณป่าหลวงยังปรากฏซากอาคารก่อด้วยศิลาแลงเรียก โคกยายชี อีกด้วย ภาษาและสำเนียงของคนโพหักมีลักษณะเฉพาะ ดังตัวอย่าง การเรียกชื่อผู้หญิงด้วยคำนำหน้าว่า “ออ” , บางทีเรียก “ลางที” , สมัยก่อน “กะแรก หรือ ตะก่อน” เป็นต้น 

     นอกจากกลุ่มคนไทยโพหักกลุ่มนี้แล้ว ในอำเภอวัดเพลง ยังมีกลุ่มคนไทยดั้งเดิมตั้งรกรากกระจายกันอยู่ใน ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลวัดเพลง ตำบลเกาะศาลพระ ( บ้านหนองเกสร บ้านเวียงทุน บ้านหัวดอน บ้านบางนางทวย ) ตำบลจอมประทัด  ( บ้านกล้วย บ้านบางกระลี้ บ้านต้นพลับ บ้านหมู่ใหญ่ บ้านปลายคลองเล็ก บ้านปากสระ บ้านดอนกลาง บ้านตาสน ) เป็นต้น          

     เขมร  มีการแบ่งกลุ่มชาวเขมรในจังหวัดราชบุรีออกเป็นสองกลุ่ม คือ 

     ๑. กลุ่ม (ไทย) เขมรลาวเดิม ถิ่นฐานดั้งเดิมนั้นมีเพียงคำบอกเล่าว่า ถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือ  กลุ่มนี้ที่ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายในหลายท้องที่ คือ อำเภอเมือง ( บางส่วนของตำบลคุ้งกระถิน และตำบลคุ้งน้ำวน) อำเภอปากท่อ ( ตำบลวัดยางงาม หมู่ ๓ บ้านกอไผ่ ตำบลบ่อกระดาน บ้านบ่อตะคร้อ บ้านหัวถนน และบางสาวนของตำบลดอนทราย บ้านหนองจอก )  อำเภอวัดเพลง ( ตำบลวัดเพลงบริเวณวัดศรัทธาราษฎร์ บ้านนางสูญ  ตำบลเกาะศาลพระ บ้านคลองขนอน คลองพะเนาว์ บ้านโคกพริก ) อำเภอบางแพ ( ตำบลหัวโพ บ้านดอนมะขามเทศ ตำบลวังเย็น บ้านเตาอิฐ บ้านหนองม่วง ตำบลวัดแก้ว บ้านเสาธง บ้านทำนบ ตำบลบางแพ บ้านท่าราบ) เป็นต้น   เขมรลาวเดิมมีภาษาพูดสำเนียงคล้ายภาษาอีสาน ศัพท์สำนวนบางคำคล้ายกับภาษาไทยเหนือและอีสาน เช่น คำว่า พูด = เว้า ,ปวดฟัน = ปวดแค้ว , ไม่กลัว = บ่หย่าน เป็นต้น

     ๒. กลุ่มเขมร ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมในเมืองบารายและโพธิสัตว์ โดยถูกกวาดต้อนครัวมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี ในคราวที่เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ไปตีเขมร และกวาดต้อนครัวเขมรประมาณหมื่นเศษเข้ามายังกรุงธนบุรี และโปรดฯให้ไปตั้งบ้านเรือนที่เมืองราชบุรีเพื่อเป็นกำลังในการสู้รบกับพม่าก่อน “ศึกบางแก้ว”ในปีพ.ศ.๒๓๑๗  มีคำบอกเล่าว่า ชาวเขมรรุ่นปู่ย่าตายายล้วนพูดภาษาเขมร เคยเป็นกองเลี้ยงช้างไว้ทำสงคราม และเลี้ยงช้างให้หลวง กลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งแม่น้ำแม่กลองด้านทิศตะวันออก คือ อำเภอเมือง (บ้านพงสวาย บ้านคลองแค บ้านคุ้งกระถิน บ้านคุ้งน้ำวน บ้านอู่เรือ บ้านรากขาม บ้านห้วยหมู ) อำเภอโพธาราม ( ตำบลบางโตนด บ้านสมถะ ตำบลเจ็ดเสมียน บ้านสนามชัย ) อำเภอปากท่อ ( ตำบลปากท่อ บ้านโคกพระ ตำบลหนองกระทุ่ม บ้านหนองกระทุ่ม )  

     สำหรับวัดในกลุ่มชาวไทยและเขมร นี้พบว่ามีวัดริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง บ้านโป่ง - บ้านเจ็ดเสมียน รวม ๑๕ วัด ได้แก่ 

๑.) วัดมะเดื่อ (วัดอุทุมพรวนาราม)

๒.) วัดกล้วย

๓.) วัดโพธิ์ไพโรจน์

๓.) วัดจอมประสาท

๔.) วัดกลาง

๕.) วัดวิหารสูง

๖.) วัดมณีโชติ

๗.) วัดตึกหิรัญราษฎร์ *

๘.) วัดสนามชัย *

๙.) วัดเจ็ดเสมียน *

๑๐.) วัดโพสฆาวาส(โพธิ์บัลลังก์)

๑๑.) วัดขนอน

๑๒.) วัดท่าหลวงพล

๑๓.) วัดบางโตนด*

๑๔.) วัดสมถะ*

หมายเหตุ * เป็นวัดที่คนไทยปะปนกับเขมร

วัดเหล่านี้ สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี โดยกลุ่มโบราณคดี ได้ดำเนินการสำรวจในช่วงระหว่างปีพ.ศ.๒๕๓๙ – ปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลที่ได้ยังมีจำนวนไม่มากนัก


วัดขนอน

 วัดขนอน 

      วัดขนอน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี 

      ประวัติ  วัดขนอนแต่เดิมเป็นวัดร้าง จากคำบอกเล่า กล่าวว่าเป็นที่อาศัยของนกนานาชนิด โดยเฉพาะนก กา ลิงและชะนีตลอดจนสัตว์ป่าต่างๆ  บริเวณโดยรอบวัดเป็นป่าไม้เต็ง  ไม้แดงขึ้นรกครึ้ม พอค่ำลงบรรดานกกา ลิงค่าง ก็จะพากันมาเกาะกิ่งไม้เต็มไปหมด ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “วัดกานอนกีนอนโปราวาส” ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้น ณ มณฑลราชบุรี ทรงบันทึกประวัติของวัดขนอนไว้ในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ร.ศ. ๑๒๘ ตอนหนึ่งความว่า……….. พระราชหัตถเลขาตอนนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพของวัดวาอารามต่าง ๆ ในมณฑลเมืองราชบุรี ยกเว้นในเมืองราชบุรีซึ่งไม่ถูกผลกระทบของสงคราม คงจะรกร้างหรือเกือบร้าง หรือพังทลายเสียหาย ทิ้งรกรุงรังเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านเองคงปลูกบ้านห่างวัดมาก  และคงไม่ค่อยมีใครสนใจ หรืออยากเข้าไปใกล้วัดร้างด้วยเหตุผลของความกลัว และวัดร้างในลักษณะนี้ นก กา ลิง ค่าง บ่าง ชะนี หรือแม้แต่สัตว์ป่า จึงกล้ากรายเข้ามาใกล้หรืออาศัยหลับนอน นานไปผู้คนก็คงจะลืมเลือนแม้กระทั่งชื่อวัด โดยเฉพาะวัดขนอนที่รกร้างมากว่า ๑๐๐ ปีสันนิษฐานว่าชาวบ้านคงเรียกตามสภาพที่เห็นว่า “วัดกานอนกีนอนโปราวาส” ซึ่งประโยคนี้อาจจะแยกเป็น ๓ คำ  คือ “กานอน” เข้าใจง่ายว่าเป็นที่กานอนส่วน “กีนอน” คงจะเพี้ยนเสียงจากชะนี และคำว่า “โปราวาส” “แสดงให้เห็นชัดว่า เป็นคำเรียกกระทบกระแทกเปรียบเปรย เนื่องจากเป็นวัดรกร้างเก่าแก่ นกกาอาศัยนอนจึงนำคำว่า โปราวาส (หมายถึงสถานที่โบราณ) มาเติมเป็นสร้อยข้างท้าย นั่นคือ “วัดกานอนกีนอนโปราวาส”  และคงไม่ใช่ชื่อจริงของวัดอย่างแน่นอน

     จากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า หลวงปู่กล่อม ผู้ทำการบูรณะวัดและชาวบ้านได้พบใบเสมาหินเก่ามีจารึกเป็นตัวเลข “๒๓๒๗” เมื่อครั้งรื้อพระอุโบสถหลังเก่าออกเพื่อก่อสร้างโบสถ์ใหม่ จากหลักฐานนี้ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่า วัดนี้คงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๗ สำหรับชื่อของวัดขนอนนั้นสืบเนื่องจากหลังจากที่มีการบูรณะวัดขึ้นใหม่แล้ว ชาวบ้านก็เลยพากันเรียกชื่อ วัดเสียใหม่ตามชื่อของด่านเก็บภาษีทางน้ำที่เรียกว่า “ขนอน” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัด เป็นวัดขนอน แทนวัดกานอนกีนอนโปราวาสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สิ่งสำคัญภายในวัดขนอน มีดังนี้

     อุโบสถ  แต่เดิมอุโบสถมีรูปแบบลักษณะใดไม่มีหลักฐานปรากฏ ต่อมาหลวงปู่กล่อม (จันทโชโต) หรือพระครูศรัทธาสุนทร เข้ามาอยู่ ณ วัดขนอนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้เริ่มทำการก่อสร้างใหม่โดยมีช่างชาวจีนเป็นแม่งาน ในการก่อสร้างหลวงปู่กล่อม เป็นผู้ออกแบบคิดประดิษฐ์ผูกลายประตู หน้าต่าง หน้าบัน ฯลฯ โบสถ์ใหม่ที่หลวงปู่กล่อมสร้างขึ้นนั้น มีลักษณะคล้ายกับพระอุโบสถของวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากในสมัยนั้นกำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากพระกระแสรับสั่งชมเป็นพิเศษในเรื่องความงามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


อุโบสถ

     ลักษณะของอุโบสถเป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น ๓ ชั้น ซ้อนกันชั้นละ ๓ ตับ มีมุขลดทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ ๑ ห้อง โดยมีเสาสี่เหลี่ยม ๔ ต้นรองรับโครงหลังคา ด้านข้างมีชายคาปีกนกคลุมมีเสาสี่เหลี่ยมรองรับด้านๆ ละ ๙ ต้น ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันปูนปั้นลวดลายพันธุ์พฤกษาตรงกลางเป็นรูปวงกลม ฐานอุโบสถยกพื้น ๒ ชั้น ชั้นแรกอยู่ในแนวเดียวกับเสารองรับชายคาปีกนก ตั้งซุ้มใบเสมาปูนปั้นย่อมุมไม้สิบสอง    

     ผนังด้านหน้าและด้านหลังก่ออิฐถือปูนเรียบ มีประตูทางเข้าด้านละ ๒ ประตู ซุ้มประตูปูนปั้นทรงเจดีย์ บานประตูไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ลวดลายดอกไม้กลมส่วนล่างเป็นภาพทวารบาลยืนถืออาวุธ ซุ้มประตูด้านหลังบริเวณมุมซุ้มด้านขวาตอนบน มีจารึกภาษาไทย คำว่า“เจกหัว” ซึ่งอาจจะหมาย ถึง ชื่อของนายช่างชาวจีน ผนังด้านข้างก่ออิฐถือปูนมีช่องหน้าต่างด้านละ ๖ บาน บานหน้าต่างไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ลวดลายตอนบนเป็นลายตาข่ายดอกไม้ ตอนล่างเป็นลายรูปสัตว์ลวดลายของบานหน้าต่างแต่ละบานจะไม่ซ้ำกัน ด้านหน้าอุโบสถมีบันไดเตี้ยๆขึ้นทางด้านข้าง เสาบันไดมีภาพจิตรกรรมจีนและอักษรจีน ด้านหนึ่งมีอักษรภาษาไทยว่า “โบษเจ๊กถ้ำงาม”


พระพุทธรูปสำริดประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

     ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธรูปสำริดประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านข้างซ้าย-ขวามีพระอัครสาวกยืนพนมมือ ฐานชุกชีด้านหลังพระประธานประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย และปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๕ หลายองค์   

ภายนอกอุโบสถมีระเบียงคตก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ มีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ทั้งสี่ทิศ ภายในระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัยจำนวน ๑๒๐ องค์ ประดิษฐานรายรอบ

     เจดีย์ราย  ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถเรียงกันเป็นแถวจำนวน ๖ องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง ฐานเจดีย์เป็นฐานสิงห์ซ้อนกันสองชั้น องค์ระฆังขนาดเล็กมีบัวรองรับปากระฆัง ส่วนยอดมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมรองรับชุดบัวคลุ่มเถาและปลียอด ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่  ฐานเจดีย์เป็นฐานบัวทรงสี่เหลี่ยม รองรับฐานบัวกลมและชุดมาลัยเถาโดยที่ชั้นมาลัยเถานี้จะมีซุ้มพระ  ๘ ซุ้ม ซ้อนกันเป็นสองชั้นชั้นละ ๔ ซุ้ม องค์ระฆังกลมมีสายสังวาลรัด ส่วนยอดมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมรองรับบัวและปลียอด ลักษณะของส่วนยอดคล้ายกับเจดีย์มอญ  

อีกด้านหนึ่งของถนนด้านหน้าวัด มีเจดีย์อยู่ ๑ องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังสีขาวนวล ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีกำแพงสี่เหลี่ยมทึบเตี้ยๆ ล้อมรอบ ฐานด้านล่างเป็นฐานบัวกลมซ้อนกัน ๓ ชั้น องค์ระฆังมีการตกแต่งปูนปั้นรูปใบโพธิ์ทั้ง ๔ ด้าน ส่วนยอดเป็นมาลัยเถาและปลียอด


ซุ้มประตูวัด

     ซุ้มประตูวัด  ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด ติดกับแม่น้ำแม่กลองทางด้านทิศตะวันออก ลักษณะเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูน ทรงมณฑป สูงประมาณ ๓ เมตร กว้าง ๑.๘ เมตร

     สำเภาก่ออิฐถือปูน  ตั้งอยู่ทางด้านขวามือของซุ้มประตู ลักษณะเป็นสำเภาจีนด้านบนเดิมมีเจดีย์บรรจุอัฐิ ปัจจุบันชำรุดพังไปไม่เหลือสภาพ สำเภามีความยาวประมาณ ๑๐ เมตร กว้าง ๑.๕ เมตร


หอระฆัง

     หอระฆัง  ก่ออิฐถือปูนทรงมณฑป ด้านล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยม ตกแต่งเป็นช่องอาร์คโค้งด้านละ ๓ ช่อง ตอนบนมีระเบียงสี่เหลี่ยมทึบมีบันไดทางขึ้นด้านข้าง ตัวหอระฆังตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ด้านหนึ่งเป็นผนังสี่เหลี่ยมทึบมีอักษรระบุ “สร้างแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑” เรือนธาตุโปร่งด้านบนเป็นส่วนโค้งส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังย่อมุมไม้สิบสอง หอระฆังหลังนี้ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเข้ามาปะปนอย่างมาก


ซุ้มประตูหมู่กุฏิสงฆ์

     ซุ้มประตูหมู่กุฏิสงฆ์  ก่ออิฐถือปูนทรงมณฑป ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นเตี้ย ส่วนยอดมีลวดลายปูนปั้นตกแต่ง ตัวซุ้มสูงประมาณ ๓ เมตร

     หนังใหญ่  หลวงปู่กล่อมได้สร้างขึ้นโดยมี นายอั๋ง ซึ่งเคยแสดงโขนอยู่ในคณะของพระแสนทองฟ้า เจ้าเมืองราชบุรี เป็นผู้ร่วมสร้างตัวหนังใหญ่ขึ้น โดยมีช่างจาดและช่างจ๊ะนายช่างชาวมอญในราชบุรีและช่างพ่วง จากบ้านโป่งเป็นคณะผู้ร่วมสร้างตัวหนังใหญ่วัดขนอน หนังชุดแรกที่สร้าง คือ ชุดหนุมานถวายแหวน และได้สร้างต่อมาอีกหลายชุดรวมทั้งสิ้นประมาณ ๓๒๐ ตัว ลักษณะของตัวหนังใหญ่นั้น จะแกะเป็นรูปโปร่งตามตัวที่ต้องการ เช่น พระ นาง ลิง ยักษ์ เพื่อให้แสงสว่างผ่าน เพื่อให้เห็นรูปทรงตัวหนังทำจากหนังโคทั้งตัว ตัวหนังใหญ่ของวัดขนอนปัจจุบันมีอายุราว ๑๕๐ ปีมาแล้ว บางตัวชำรุดมาก สมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำริให้หาช่าง มาสร้างหนังชุดใหม่แทนชุดเก่า แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๘ จำนวนทั้งสิ้น ๓๑๓ ตัว เท่ากับจำนวนตัวหนังเก่าที่เหลือในปัจจุบัน

     โบราณวัตถุที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด  ส่วนใหญ่เป็นของที่เรียกเก็บเป็นภาษีผ่านด่านขนอน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยนำมาเก็บรักษาไว้พระอุโบสถของวัดขนอน ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องถ้วยลายครามของจีน ได้แก่ แจกัน โถ กระโถน ป้านน้ำชา และชามขนาดเล็ก นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องถ้วยเบญจรงค์ จำพวกโถ พาน สมัยรัตนโกสินทร์ และสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา เช่น ผ้าพระบถ ภาพวาดพุทธประวัติบนกระจก สมุดข่อย เป็นต้น

เรียบเรียง : นางจิรนันท์  คอนเซพซิออน นักโบราณคดีชำนาญการ 

สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี 

 

หนังสืออ้างอิง

กรมศิลปากร. ราชบุรี ,พระนคร : บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป จำกัด ,๒๕๓๔. (พิมพ์เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๔ )

สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ความหลากหลายของผู้คน ชุมชน และวัฒนธรรม บ้านโป่ง-เจ็ดเสมียน , มปท. หจก.เอราวัณการพิมพ์ , ๒๕๕๔.

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี . ชุมชน ๘ เผ่า ในจังหวัดราชบุรี .เอกสารอัดสำเนา  ,๒๕๔๖.

สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี กลุ่มโบราณคดี , รายงานการสำรวจโบราณสถาน จังหวัดราชบุรี ,เอกสารโรเนียว , ๒๕๓๙ -ปัจจุบัน .

(จำนวนผู้เข้าชม 4464 ครั้ง)