ภาษาสันสกฤตในจารึก
แจ้งผู้ชม ผู้อ่านทุกท่านให้ทราบว่า สาระน่ารู้ในแต่ล่ะเดือนต่อจากนี้ ทางอุทยานขอนำเสนอหัวข้อ "จารึก" ซึ่งเป็นหลักฐานการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆที่คนในอดีตบันทึกไว้ โดยทางอุทยานขอนำเสนอสาระน่ารู้เกี่ยวกับจารึกสด๊กก๊อกธม ทั้งสองหลักในด้านต่างๆดังนี้
ด้านภาษาบนจารึก
-ภาษาสันสกฤตในจารึก
-คำศัพท์ภาษาเขมรในจารึกสด๊กก๊อกธม
ด้านเนื้อหาจากจารึกสด๊กก๊อกธม
-การสถาปนาพระเทวราช
-ลำดับกษัตริย์และพราหมณ์แห่งอาณาจักรเขมรจากจารึกสด๊กก๊อกธม ๒
-การประดิษฐานศิวลึงค์
-ความสัมพันธ์ระหว่างเทวาลัยและชุมชนโดยรอบ
-ตฏากะ : พระราชกรณียกิจสำคัญเกี่ยวกับการจัดการน้ำ
***โปรดติดตามสาระน่ารู้กันด้วยนะคะ ****
ส่วนสัปดาห์นี้ พบกันวันสุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ทางอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม ได้นำสาระน่ารู้ เกี่ยวกับ ภาษาสันสกฤตในจารึก มาให้ได้ชมกัน ไปชมกันได้เลยค่าาาา
ภาษาสันสกฤตในจารึก
- ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาที่ถูกใช้ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อบันทึกบทสวดมนต์ หรือกล่าวสรรเสริญเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยถือว่าเป็นภาษาชั้นสูงของนักบวช ภาษาสันสกฤตในยุคแรกถูกเรียกว่า ภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit) ถูกใช้เพื่อบันทึกใน“คัมภีร์พระเวท” ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นอกจากนี้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว ศาสนาพุทธนิกายมหายานยังใช้ภาษาสันสกฤตอีกด้วย สำหรับภาษาสันสกฤตไม่ได้มีตัวอักษรที่ใช้เขียนเฉพาะเจาะจง โดยสามารถพบภาษาสันสกฤตถูกเขียนด้วยตัวอักษรต่างๆ เช่น อักษรพราหมี อักษรปัลลวะ อักษรทมิฬ อักษรขอมโบราณ อักษรเขมรโบราณ หรือ อักษรไทย
-ภาษาสันสกฤตในจารึกสด๊กก๊อกธม ๒
จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว เป็นจารึกภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร อักษรเขมรโบราณ โดยในส่วนภาษาสันสกฤตมีเนื้อหาดังนี้
ด้านที่ ๑ มีเนื้อหาเป็นการกล่าวสรรเสริญและบูชา พระศิวะ พระพรหม พระวิษณุ มหาเทพสูงสุดของศาสนาฮินดู และสรรเสริญพระเกียรติของพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ ๒ ผู้โปรดฯให้สร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม
ด้านที่ ๒ จารึกเรื่องราว การสืบทอดตำแหน่งพราหมณ์ในราชสำนักเขมรในสายสกุลของชเยนทรวรมัน (สทาศิวะ) ควบคู่กับลำดับพระมหากษัตริย์ในราชอาณาจักรเขมรโบราณ และการรื้อฟื้นดินแดนภัทรปัฏฏนะ
ด้านที่ ๓ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑-๔๕ กล่าวถึงรายการสิ่งของที่พระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ ๒ ถวายแก่เทพเจ้า
ด้านที่ ๔ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑-๒ กล่าวถึงการสละเงินทอง และทาสเพื่อเป็นทานของชเยนทรวรมัน
ภาษาสันสกฤตที่พบในจารึกสด๊กก๊อกธม ๒ ถูกใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูและพระมหากษัตริย์ สันนิษฐานได้ว่า ภาษาสันสกฤตอาจถูกใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของศาสนาฮินดู ตามความเชื่อที่ว่า ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์ใช้สื่อสารกับเทพเจ้าในศาสนาฮินดู นอกจากนี้การใช้ภาษาสันสกฤตในการกล่าวถึงลำดับการสืบทอดตำแหน่งพราหมณ์ประจำราชสำนัก และลำดับพระมหากษัตริย์ในจารึก เป็นการแสดงถึงการยกสถานะของพราหมณ์ และพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเทพเจ้า
อ้างอิง
- กรมศิลปากร. สำนักโบราณคดี. (๒๕๕๐). ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร : หน้า ๕๐๑.
- กรมศิลปากร. (๒๕๖๕). ปราสาทสด๊กก๊อกธม: อุทยานประวัติศาสตร์ ณ ชายแดนตะวันออก. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ : หน้า ๑๒๘.
-หอสมุดแห่งชาติ. (๒๕๖๔). จารึกในประเทศไทย เล่ม ๓ อักษรขอมโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร: หน้า ๓๙
- Anton O. ZAKHAROV. The earliest dated Cambodian inscription K. 557/600 from Angkor Borei, Cambodia: An English translation and commentary.
Burrow, T. The Sanskrit language (1st Indian ed.). Delhi: Motilal Banarsidass. p. 43.
- Strazny. The single most popular proposal is the Pontic steppes. p. 163.
- Johannes Bronkhorst. The Spread of Sanskrit in Southeast Asia.
(จำนวนผู้เข้าชม 1139 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน