จดหมายเหตุ "ว่าด้วยการควบคุม ราคาเนื้อสุกร พ.ศ.2486"
จดหมายเหตุ "ว่าด้วยการควบคุม ราคาเนื้อสุกร พ.ศ.2486"
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่าราคาเนื้อสุกร มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากในท้องตลาด ซึ่งได้ส่งผลแก่ทั้งผู้บริโภคและร้านค้า ในอดีตก็ปรากฎด้านการขึ้นลงของราคาเนื้อสุกร อยู่เป็นประจำ ตามกลไกของตลาด
ประวัติด้านการประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรในประเทศไทย ในอดีตนั้นไม่เป็นที่นิยมมากนักด้วยทั้งด้านศาสนาพุทธถือว่าเป็นอาชีพที่ก่อให้เกิดบาป อาชีพเลี้ยงสุกรมาแพร่หลายหลัง พ.ศ. 2482 เมื่อกรมพลาธิการ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้จัดตั้งโรงงานเนื้อสัตว์ขึ้น และหลังจากนั้น พ.ศ.2486 กระทรวงเกษตร โดยกรมปศุสัตว์ ได้สั่งพันธุ์สุกรจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ให้ราษฎรผสมพันธุ์สุกรให้มีคุณภาพดีขึ้น การอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรในช่วงนั้นยังเป็นขนาดเล็กนิยมเลี้ยงในระดับครัวเรือนยังไม่มีอุตสาหกรรมฟาร์มขนาดใหญ่เช่นในปัจจุบัน
เรื่องการกำหนดราคาเนื้อสุกรพบเรื่องราวในเอกสารจดหมายเหตุชุดจังหวัดจันทบุรี ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ในรายงานบัญชีการเลี้ยงสุกรเลี้ยงวัวของจังหวัดจันทบุรี ในช่วง พ.ศ. 2485 นั้นมีการเลี้ยงสุกร มากกว่า 10,000 ตัว เป็นการเลี้ยงในระดับครัวเรือนกระจายไปตามท้องที่ต่างๆ ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ.2486 กระทรวงมหาดไทย ได้ให้กรมการจังหวัดทุกจังหวัด สำรวจและพิจารณาความเหมาะสมของราคาสุกรในแต่ละท้องที่ เนื่องจากช่วงนั้นปรากฎข่าวว่ามีพ่อค้าคนกลาง เที่ยวออกรับซื้อสุกรจากราษฎร โดยกดราคาอย่างต่ำมาก ทำให้ราษฎรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรขาดทุน ไม่คุ้มค่ากับรายจ่ายในการเลี้ยงสุกร กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าอาจส่งผลให้ราษฎรอาจล้มเลิกอาชีพเลี้ยงสุกรไปจำนวนมาก และส่งผลในอนาคตอาจมีเนื้อสุกรไม่เพียงพอต่อความต้องการ
จังหวัดจันทบุรี ได้ให้อำเภอต่างๆ และเทศบาลเมือง สำรวจและสืบสวน เพื่อกำหนดราคาเนื้อสุกรของจังหวัดจันทบุรี โดยพิจารณาราคาลูกสุกร ราคาเฉลี่ยต่ออาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรต่อตัว จังหวัดจันทบุรี ได้ชี้แจงให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ท้องที่จังหวัดจันทบุรี ลูกสุกรอายุ 3 เดือน ราคาตัวละ 4–10 บาท อาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรตั้งแต่เริ่มเลี้ยงจนถึงน้ำหนัก 60-100 กิโลกรัม คิดเฉลี่ยตัวละ40-50 บาท ควรกำหนดราคาในท้องที่ กิโลกรัมละ 60-70 สตางค์ ซึ่งต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2486 กระทรวงมหาดไทย ให้รายงานราคาเนื้อสุกรอย่างต่ำและอย่างสูงในท้องที่ โดยจันทบุรีมีราคาอย่างสูงอยู่ที่กิโลกรัมละ 70 สตางค์ อย่างต่ำอยู่ที่ 50 สตางค์
ผู้เขียน
อดิศร สุพรธรรม
นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
เอกสารอ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี. จบ1.1.1.4/263 เอกสารชุดจังหวัดจันทบุรี ส่วนแผนกมหาดไทย เรื่องพิจารณาราคาหมู (3 มีนาคม – 20 พฤษภาคม 2486)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี. จบ1.1.1.4/289 เอกสารชุดจังหวัดจันทบุรี ส่วนแผนกมหาดไทย เรื่องสอดส่องราคาหมู (22 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายน 2486)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี. จบ1.2.4/288 เอกสารชุดจังหวัดจันทบุรี ส่วนสำนักงานปกครองจังหวัด เรื่องส่งบัญชีแสดงการเลี้ยงหมูและวัว (12 ตุลาคม – 24 ธันวาคม 2485)
(จำนวนผู้เข้าชม 910 ครั้ง)