...

ประวัติและบทบาทหน้าที่

ประวัติการก่อตั้ง

            การจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยะลา เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  เล็งเห็นถึงคุณค่าของเอกสารราชการ ซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยเนื้อหาสาระทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคมและการพัฒนาท้องถิ่นซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศชาติ เพื่อให้เป็นแนวทางในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการวางแผนพัฒนาประเทศในอนาคต จึงได้ขยายงานด้านหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากรไปสู่ส่วนภูมิภาคในมากขึ้น โดยเสนอโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เข้าไว้ในแผนพัฒนาการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2536 โดยให้จัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติทุกเขตการศึกษาทั่วประเทศ รวม 12 แห่ง
                 ต่อมา กรมศิลปากรได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินการก่อสร้างหอจดหมายเหตุแห่งชาติในเขตพื้นที่การศึกษา 2 ที่จังหวัดยะลา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และได้พระราชทานนามว่า "หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยะลา" โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารแห่งนี้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2536 การก่อสร้างได้แล้วเสร็จและเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2538

บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ/ภารกิจ

                หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ยะลา เป็นที่เก็บรักษา อนุรักษ์ และให้บริการ การศึกษา การค้นคว้าหรือวิจัยเอกสารจดหมายเหตุ ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติจดหมายเหตุ พ.ศ. 2556 ซึ่งได้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป ดังนี้

     1. เก็บรักษาและอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ

     2. ติดตาม รวบรวม หรือรับมอบเอกสารจดหมายเหตุจากหน่วยงานของรัฐ

     3. จัดหา ซื้อ หรือรับบริจาคเอกสารที่มีคุณค่าเป็นเอกสารจดหมายเหตุจากเอกชน

     4. จัดหมวดหมู่และจัดทำเครื่องมือช่วยค้นเอกสารจดหมายเหตุ

     5. จดบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชพิธี รัฐพิธี และศาสนพิธี

     6. รวบรวมเอกสารเหตุการณ์สำคัญของชาติ

     7. จัดทำบันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่าโดยพิจารณาให้ครอบคลุมข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน

     8. ให้บริการการศึกษา การค้นคว้า หรือการวิจัยเอกสารจดหมายเหตุ

     9. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จัดให้มีสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ นิทรรศการ และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ

     10. สนับสนุนด้านวิชาการแก่หอจดหมายเหตุของหน่วยงานของรัฐ หอจดหมายเหตุท้องถิ่น และหอจดหมายเหตุเอกชน

     11. ดำเนินการอื่นตามที่อธิบดีมอบหมาย



(จำนวนผู้เข้าชม 715 ครั้ง)


Messenger