ประวัติการก่อตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง เริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ กรมศิลปากรมีนโยบายขยายงานออกสู่ภูมิภาค และได้รับแนวคิดจากนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น เสนอแนะว่า จังหวัดตรังมีสถานศึกษาระดับปริญญาหลายสถาบัน จึงควรจัดตั้งหอสมุดแห่งชาติเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าที่ได้มาตรฐาน กรมศิลปากรจึงขอจัดตั้งหอจดหมายแห่งชาติไปพร้อมกัน และได้เปิดที่ทำการชั่วคราวที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๕ โดยใช้ชื่อ "หอจดหมายเหตุแห่งชาติที่ ๔ จังหวัดตรัง"
ต่อมา กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต ใช้ชื่อว่า "หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถตรัง" เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชานุญาต เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๖
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคาร เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๖
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ใช้บริการ ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๐ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง ได้เปิดให้บริการห้องเกียรติยศ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย เป็นครั้งแรก
ดูแลรับผิดชอบงานจดหมายเหตุในเขตพื้นที่จังหวัดตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง
๑. รวบรวม ประเมินคุณค่า เก็บรักษา ให้บริการเอกสารสำคัญของชาติและของท้องถิ่น
๒. ดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าวิจัย พัฒนา และเผยแพร่เอกสารสำคัญของชาติและของท้องถิ่น
๓. บันทึกเหตุการณ์สำคัญของท้องถิ่น
๔. รวบรวม แสวงหา และสงวนรักษาฟิล์มภาพยนตร์ วีดีทัศน์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและค้นคว้า
๕. ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(จำนวนผู้เข้าชม 437 ครั้ง)