...

พระสงฆ์ผู้เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ
พระสวรรค์วรนายก : พระสงฆ์ผู้เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ
เนื่องในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕ จะตรงกับวันเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายกอย่างเป็นทางการ จึงขอนำเสนอเรื่องราวของ "พระสวรรค์วรนายก" พระสงฆ์ผู้เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติอันนำไปสู่การก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก ณ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยในเวลาต่อมา
"พระสวรรค์วรนายก" มีนามเดิมว่า ทองคำ จิตรธร เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ โดยนิวาสสถานของท่านตั้งอยู่หลังวัดสวรรคาราม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสุโขทัย แห่งที่ ๑ ซึ่งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก) ในวัยเด็กท่านบวชเรียนกับพระอาจารย์แดงที่วัดสวรรคาราม ก่อนจะย้ายไปบวชเณรและจำพรรษาที่วัดสุทัศนเทพวราราม จนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุและได้รับฉายาว่า "โสโณ" ในภายหลังท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระปลัดของเจ้าคณะมณฑลราชบุรีและเป็นเลขานุการเจ้าคณะมณฑล ผู้คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่า "พระปลัดคำ" ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๐ พระปลัดคำได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระครูสวรรค์วรนายก" และไปจำพรรษา ณ วัดสว่างอารมณ์ เมืองสวรรคโลก [๑] แต่เนื่องจากบ้านของท่านอยู่หลังวัดสวรรคารามจึงย้ายมาจำพรรษา ณ วัดสวรรคาราม มาโดยตลอดแม้จะได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระสวรรค์วรนายก" เจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก [๒] (ใน พ.ศ. ๒๔๘๒ จังหวัดสวรรคโลกถูกยุบเป็นอำเภอ และยกอำเภอสุโขทัยเป็นจังหวัด พระสวรรค์วรนายกจึงมีฐานะเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยนับแต่นั้นมา) แล้วก็ตาม
พระสวรรค์วรนายกมีความสนใจในงานศิลปะและมีความเชี่ยวชาญในการแกะสลักไม้เป็นอย่างมากจนเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินอำเภอสวรรคโลกเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๑ พระสวรรค์วรนายกได้ถวายกล่องใส่บุหรี่ที่ท่านแกะจากปมไม้มะค่าแด่พระองค์ด้วย นอกจากความสามารถในเชิงช่างแล้ว ท่านยังมีความชื่นชอบในการสะสมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยมักจะนำวัตถุที่ท่านไปพบรวมทั้งที่มีผู้นำมาถวายตั้งเรียงไว้รอบระเบียงกุฏิทรงฝรั่งที่ท่านดำริให้สร้างขึ้น แม้เมื่อล่วงเข้าสู่ในช่วงที่ท่านอาพาธหนักก็ยังมีความเป็นห่วงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเหล่านี้ว่าจะไม่มีใครดูแลรักษาต่อจึงได้ปรารภกับกรรมการและไวยาวัจกรของวัดให้ยกวัตถุที่ท่านสะสมไว้ทั้งหมดเป็นสมบัติของชาติและขอให้สร้างพิพิธภัณฑสถานขึ้นในบริเวณวัดสวรรคาราม เหตุนี้ กรมศิลปากรจึงสานต่อเจตนารมณ์ของพระสวรรค์วรนายกจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น และทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนสวรรคโลกและคนไทย รวมทั้งเผยแพร่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติแก่ชาวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง สมดังที่ท่านหวังไว้เป็นเวลาถึง ๓๘ ปีมาแล้ว
ภาพ : พระสวรรค์วรนายกนำคณะกรมศิลปากรชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เก็บรักษาไว้ ณ วัดสวรรคาราม เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๐๓
[๑] ความปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๒๔ หน้า ๑๒๖๘ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ว่า “...ให้พระปลัดคำ วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นพระครูสวรรค์วรนายกปิฎกสุนทร ที่สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่ ไปอยู่วัดสว่างอารมณ์ เมืองสวรรคโลก พัดพื้นเยียรบับรูปพุ่มข้าวบิน...”
[๒] ความปรากฏในประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๐ หน้า ๒๓๙๙ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ ว่า “...พระครูสวรรค์วรนายก วัดสวรรคาราม เจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก เป็นพระราชาคณะมีนามว่า พระสวรรค์วรนายกธรรมสาธกวินัยวาที สังฆปาโมกข์...”

(จำนวนผู้เข้าชม 760 ครั้ง)


Messenger