...

ผลสมอกับเหตุการณ์ในพระพุทธศาสนา

สมอ (ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Terminalia chebula Retz.) เป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นชนิดหนึ่งในแถบเอเชียใต้ ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีความสูง ๒๐ – ๓๐ เมตร ออกดอกสีขาวอมเหลืองในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน ผลรูปรีหรือกลม ผิวเกลี้ยง ผลแก่จะมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวปนน้ำตาลแดง
สรรพคุณทางยาของสมอเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นผล ดอก หรือเปลือกลำต้นก็สามารถนำไปใช้รักษาโรคได้ โดยผลสมอมีฤทธิ์เป็นยาระบาย แก้อาการท้องร่วง ท้องผูก และริดสีดวงทวาร รวมถึงช่วยให้ชุ่มคอ แก้อาการเจ็บคอ ละลายและขับเสมหะด้วย ขณะที่ดอกสมอใช้รักษาโรคบิดได้ ส่วนเปลือกลำต้นใช้ขับปัสสาวะ ขับน้ำเหลืองเสีย และบำรุงหัวใจ
เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยารักษาโรคมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล สมอจึงมีบทบาทอยู่ในเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง อาทิ ในพุทธประวัติภายหลังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วและประทับเสวยวิมุติสุขเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ ๗ ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นราชายตนพฤกษ์ (ต้นเกด) เป็นเวลา ๗ วัน พระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราชทรงทราบว่าตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็มิได้เสวยพระกระยาหารมาเป็นเวลา ๔๙ วันแล้ว จึงได้นำผลสมออันเป็นทิพยโอสถมาถวายแด่พระพุทธเจ้า
นอกจากพุทธประวัติตอนดังกล่าวแล้ว ยังมีชาดกเกี่ยวกับสมออีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระหรีตกิทายกเถระได้ถวายผลสมอแด่พระสยัมภูพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง) ทำให้ทรงบรรเทาอาการอาพาธลง ผลแห่งเภสัชทานนี้ทำให้พระองค์ไม่ประชวรอีกเลย และด้วยสรรพคุณทางยานี่เองผลสมอจึงเป็นโอสถที่ได้รับพระบรมพุทธานุญาตจากพระพุทธเจ้าให้ฉันหลังเพลได้ในเวลาจำเป็น
จะเห็นว่ามีการใช้สมอเป็นยารักษาโรคมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งยังมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวทางพุทธศาสนาด้วย ผลสมอจึงเป็นไม้ผลอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในงานพุทธศิลป์ ดังเช่น พระพุทธรูปปางฉันสมอ ซึ่งเป็นปางหนึ่งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงคัดเลือกจากพุทธประวัติให้ช่างสร้างเป็นพระพุทธรูปขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกได้ว่าสมอเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับคนในอดีตทั้งในด้านวิถีชีวิตและความเชื่อความศรัทธามาช้านาน
 

(จำนวนผู้เข้าชม 3572 ครั้ง)