...

องค์ความรู้ : ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม
ถ้ากล่าวถึงจังหวัดอุบลราชธานี หลายๆคนอาจนึกถึงอุทยานแห่งชาติผาแต้ม แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติยอดนิยมของคนไทยและคนต่างชาติ นอกจากจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามมองเห็นวิวสองฝั่งโขงแล้ว สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม คือ กลุ่มภาพเขียนสีขนาดใหญ่ที่คนในสมัยโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นมา นักโบราณคดีถือว่าภาพเขียนสีเหล่านี้เป็นแหล่งโบราณคดีประเภทหนึ่ง เป็นที่รู้จักและเรียกกันทั่วไปว่า “แหล่งภาพเขียนสี” หรือ “แหล่งศิลปะถ้ำ” รู้หรือไม่ว่า นอกเหนือจากกลุ่มภาพเขียนสีที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ภายในจังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังมีแหล่งภาพเขียนสีที่น่าสนใจอีกหลากหลายแห่ง
          ถ้ากล่าวถึงจังหวัดอุบลราชธานี หลายๆคนอาจนึกถึงอุทยานแห่งชาติผาแต้ม แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติยอดนิยมของคนไทยและคนต่างชาติ นอกจากจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามมองเห็นวิวสองฝั่งโขงแล้ว สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม คือ กลุ่มภาพเขียนสีขนาดใหญ่ที่คนในสมัยโบราณได้สร้างสรรค์ขึ้นมา นักโบราณคดีถือว่าภาพเขียนสีเหล่านี้เป็นแหล่งโบราณคดีประเภทหนึ่ง เป็นที่รู้จักและเรียกกันทั่วไปว่า “แหล่งภาพเขียนสี” หรือ “แหล่งศิลปะถ้ำ” รู้หรือไม่ว่า นอกเหนือจากกลุ่มภาพเขียนสีที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ภายในจังหวัดอุบลราชธานี ก็ยังมีแหล่งภาพเขียนสีที่น่าสนใจอีกหลากหลายแห่ง
 
          ในวันนี้สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ขอนำเสนอแหล่งภาพเขียนสี “ถ้ำแต้ม” ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ดงสำโรง หมู่ ๑๒ ตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณที่พบภาพเขียนสีมีลักษณะเป็นเพิงผาตั้งอยู่บนภูเขาหินทราย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ถ้ำขามภูสูบ จากหลักฐานภาพเขียนสีที่พบ ปรากฏภาพมือ ภาพสัตว์ ภาพสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายเกวียนและกลองมโหระทึก ภาพคนจำนวน ๕ - ๖ คน จับมือต่อกันเรียงเป็นแถว บางส่วนของภาพได้ชำรุดกะเทาะหลุดหายเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ตัวภาพเขียนด้วยสีแดงแบบระบายสีทึบ เมื่อมองแล้วมีลักษณะคล้ายภาพขบวนคาราวานของคนในสมัยก่อน
 


 
          สันนิษฐานว่าในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ น่าจะเป็นเส้นทางที่คนในสมัยโบราณ ใช้เดินทางติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างชุมชน บริเวณไม่ไกลมากนักห่างออกไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร จากจุดที่พบภาพเขียนสี พบร่องรอยทางเกวียนในสมัยโบราณ เกิดจากการที่ล้อเกวียนกดบดลงบนพื้นหินทรายเป็นจำนวนบ่อยครั้ง เมื่อเวลาผ่านไปนานวันเข้าก็เกิดเป็นร่องลึกบนพื้นหินอย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน รอยทางเกวียนในสมัยโบราณถือว่าเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับภาพขบวน  คณะเดินทางที่พบในถ้ำแต้ม ซึ่งคนในสมัยโบราณอาจใช้เพิงผาแห่งนี้เป็นที่หยุดพักชั่วคราว และได้ขีดเขียนวาดภาพไว้บนผนังเพิงผาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว
          ดังนั้น ภาพเขียนสีเหล่านี้ถือว่าเป็นวิธีการสื่อความหมายอีกอย่างหนึ่งของคนในสมัยโบราณ อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวหรือบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญเอาไว้
          ภาพเขียนสีจึงนับว่าเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพราะ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมการดำรงชีวิตของคน ในสมัยโบราณ รวมถึงสามารถบ่งบอกลักษณะทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละแถบพื้นที่ได้
 
ข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

(จำนวนผู้เข้าชม 35250 ครั้ง)


Messenger