...

องค์ความรู้ : เมืองโบราณ "เมืองไผ่"
          เมืองไผ่ ตั้งอยู่ที่ บ้านเมืองไผ่ หมู่ที่ ๑ ตำบลเมืองไผ่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นเมืองโบราณสำคัญอีกแห่งในภาคตะวันออกที่มีพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีและมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงในสมัยที่วัฒนธรรมเขมรโบราณเข้ามามีบทบาทอยู่ในดินแดนแถบนี้ ซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ อีกทั้งจากผลการสำรวจในปัจจุบัน เมืองไผ่ ยังถือได้ว่า เป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่ตั้งอยู่ชายขอบสุดของภาคตะวันออกอีกด้วย
 
          ลักษณะผังเมืองของเมืองไผ่ มีลักษณะเป็นรูปวงรีคล้ายรูปไข่ มีขนาดความกว้างประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๓๐๐ เมตร มีคูเมืองและกำแพงเมืองล้อมรอบ โดยคูเมืองมีขนาดความกว้างประมาณ ๔๐ เมตร  กำแพงเมืองกว้างประมาณ ๑๕ เมตร และสูงประมาณ ๒-๓ เมตร ตัวเมืองแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ซึ่งสันนิษฐานว่า ส่วนแรกเป็นที่ตั้งเมืองและอีกส่วนหนึ่งมีห้วยไผ่ไหลผ่านกลางอาจใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
 
          ผลการสำรวจทางด้านโบราณคดีบริเวณเมืองไผ่พบโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ ปราสาทเมืองไผ่  เนินโบราณสถานนอกเมืองไผ่ คูเมือง กำแพงเมือง และสระน้ำโบราณ ซึ่งสำหรับปราสาทเมืองไผ่นั้น  หน่วยศิลปากรที่ ๕ ได้เคยทำการสำรวจและขุดแต่งเบื้องต้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พบเป็นโบราณสถานก่อสร้างด้วยอิฐ มีลักษณะเป็นปราสาทหลังเดียว ส่วนฐานเป็นมุขยื่นออกไปทั้ง ๔ ทิศ บริเวณผนังแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปหน้าบุคคล เป็นต้น และมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ๒ ชั้น นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุที่สำคัญในบริเวณเมืองไผ่อีกหลายชิ้น เช่น เทวรูปยืนถือกระบองแบบศิลปะบายนอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ธรรมจักรสมัยทวารวดี ชิ้นส่วนเศียรพระพุทธรูปทำด้วยหินทรายสีเขียว และศิลาจารึก เป็นต้น โดยภายหลังจากการขุดแต่งในครั้งนั้นยังไม่ได้ทำการบูรณะ ซึ่งในปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี กำลังดำเนินการขุดตรวจสอบแนวฐานรากของปราสาท เมืองไผ่เพื่อเตรียมทำการบูรณะต่อไป
 
          กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองไผ่ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๒ ตอนพิเศษ ๑๒๖ ง ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑,๒๗๑ ไร่ ๓ งาน ๒๕ ตารางวา
 

รูปที่ ๑ แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งเมืองไผ่
 
 
 
รูปที่ ๒ ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงผังเมืองไผ่ ปี พ.ศ. ๒๕๖๒
 
 
รูปที่ ๓ ผังขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองไผ่
 
 
รูปที่ ๔ ปราสาทเมืองไผ่ (กลางเมือง)
 
 
รูปที่ ๕ บาราย
 
 
รูปที่ ๖ เนินโบราณสถานนอกเมือง
 
 
รูปที่ ๗ คูน้ำและคันดินเมืองไผ่
 
 
รูปที่ ๘ ศิลาจารึกเมืองไผ่
 
 
รูปที่ ๙ การขุดตรวจปราสาทเมืองไผ่ของสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ในปัจจุบัน
 
 
รูปที่ ๑๐ การขุดตรวจปราสาทเมืองไผ่ของสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ในปัจจุบัน
 
 

รูปที่ ๑๑ การขุดตรวจปราสาทเมืองไผ่ของสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ในปัจจุบัน
 
 
 
ข้อมูล :   นางสาวเลิศลักษณ์ สุริมานนท์  นักโบราณคดี  สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 3948 ครั้ง)