...

องค์ความรู้ : ปั้นชา จากดินปั้นสู่งานศิลป์กรุ่นกลิ่นชา
ปั้นชา หรือ ป้านชา คือ เครื่องปั้นดินเผาชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับชงชา ลักษณะเป็นภาชนะมีช่องเปิดพร้อมฝาปิดด้านบนสำหรับใส่น้ำและใบชา มีพวยด้านข้างยื่นออกมาจากตัวใช้รินน้ำชาออก ด้านตรงข้ามพวยกามีหูจับ
          ปั้นชา หรือ ป้านชา คือ เครื่องปั้นดินเผาชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับชงชา ลักษณะเป็นภาชนะมีช่องเปิดพร้อมฝาปิดด้านบนสำหรับใส่น้ำและใบชา มีพวยด้านข้างยื่นออกมาจากตัวใช้รินน้ำชาออก ด้านตรงข้ามพวยกามีหูจับ
 
          ปั้นชาที่เก็บรักษาภายในคลังโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช มีทั้งปั้นหูและปั้นสาย ปั้นหู คือ ปั้นที่มีหูจับด้านข้างของตัวปั้น ปั้นสาย คือ ปั้นที่มีสายจับด้านบน ใช้ยกตัวปั้นขึ้น มีทั้งแบบสายพับลงด้านข้างได้และสายพับไม่ได้
 
          ปั้นหูส่วนใหญ่เป็นปั้นชาดินเผาสีแดงหรือสีน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นปั้นชาทรงลูกแพร์และ ได้รับจากการบริจาคโดยประชาชน บางชิ้นเป็นของพระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ ได้มอบไว้ให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ภายในห้องพระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นปั้นชาที่หุ้มด้วยโลหะบริเวณปากพวย ขอบปากปั้น ขอบฝา และจุกฝา ซึ่งการหุ้มหรือเลี่ยมส่วนเปราะบางของปั้นชานั้น เป็นไปตามแต่ฐานะและความพึงพอใจของผู้ใช้


ภาพ :
 
ปั้นหูพร้อมฝาและจานรองลายคราม
 
เดิมเป็นของพระรัตนธัชมุนี รตฺนธชฺเถระ(ม่วง)
 
 พระราชไพศาลมุนี เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
 
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2516
 
ปัจจุบันจัดแสดงห้องพระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช
 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
 
          ปั้นสายส่วนใหญ่เป็นปั้นทรงลูกแก้วเคลือบสีน้ำตาล มีการหุ้มด้วยโลหะบริเวณพวยกา ขอบปาก ขอบฝา และจุกฝา เช่นเดียวกับปั้นหู แต่ปั้นสายจะมีหูหิ้วทองเหลืองติดอยู่ด้านบนของตัวปั้นเพื่อให้ยกถือปั้นได้สะดวกขึ้น ใต้ก้นปั้นชาและใต้ฝาหรือลิ้นฝาของปั้นชา มีข้อความ貢局อ่านว่า ก้งจู๋ หรือ กงเก็ก แปลว่า กรมบรรณาการ ปั้นชาที่ประทับตรากงเก็กนั้นมีมาช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
 
          คำว่า กงเก็ก ที่ประทับอยู่ใต้ก้นปั้นชา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น” ว่า คำนี้แปลตามศัพท์ว่า สถานทูต แปลตามความ น่าจะแปลว่าของทูต ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงคิดแบบปั้นชาไปสั่งทำจากจีน โดยมีการสั่งทำทุกครั้งที่สำเภาหลวงจะออกเดินทาง ปั้นชาที่สั่งมามีคำว่า กงเก็ก ประทับอยู่ที่ลิ้นฝาบ้าง ที่ก้นปั้นชาบ้าง ื่อส่งข่ยังดินแดนต่างๆกเป็นชื่อของช่างปั้นหรือชื่อแหล่งผลิต จึงสันนิษฐานว่าปั้นกงเก็กน่าจะเป็นปั้นชาที่ทูตบรรณาการสั่งผลิตขึการประทับตราใต้ก้นปั้นชามักเป็นชื่อของช่างปั้นหรือชื่อแหล่งผลิต จึงสันนิษฐานว่าปั้นกงเก็กน่าจะผลิตขึ้นโดยนำเข้าและส่งออกผ่านกรมบรรณาการของจีนหรือกองเรือสำเภาหลวงของสยามที่ส่งไปทำการค้าระบบบรรณาการ (จิ้มก้อง)
 
          ปั้นชาประทับตรากงเก็ก จัดอยู่ในกลุ่มปั้นชาอี๋ซิง ผลิตจากแหล่งเตาเมืองอี๋ซิง(Yixing) ริมทะเลสาบไท่หู มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองโบราณมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (ก่อนค.ศ.๑๑๒๒-๒๕๖) ขึ้นชื่อเรื่องปั้นชาและการปลูกชา ปั้นชาที่นี่ทำจากดินจื่อซา ซึ่งเป็นดินคุณสมบัติพิเศษ คือ มีการผสมระหว่าง ดินขาว แร่ควอตซ์ แร่ไมกา และแร่เหล็ก เมื่อผ่านการเผาด้วยความร้อนสูง ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส จะทำให้โครงสร้างเนื้อดินเกิดรูพรุน ๒ แบบ คือ “รูพรุนแบบเปิด” เป็นช่องว่างใหญ่ อากาศหรือไอน้ำสามารถซึมผ่านเข้าออกได้ และ “รูพรุนแบบปิด” เป็นช่องว่างขนาดเล็กมาก น้ำไม่สามารถซึมผ่านเข้าออกได้ เมื่อนำมาใช้ชงชา จะทำให้น้ำชาไม่ซึมผ่านรูพรุนออกมาทางผิวปั้น แต่ไอน้ำจะซึมผ่านรูพรุนออกมาได้ โดยยังคงหลงเหลือกลิ่นของชาอยู่ในรูพรุน ทำให้ปั้นชาเก็บรักษากลิ่นหอมของใบชาไว้ได้เต็มที่ น้ำชาที่ชงค้างคืนก็จะไม่ค่อยบูด และยิ่งใช้ก็ยิ่งชงชาได้อร่อยขึ้น ผิวปั้นเป็นมันวาวขึ้น ปั้นอี๋ซิงที่ผลิตจากดินจื่อซา จึงเป็นปั้นชาทรงคุณค่าสำหรับคอชา


ภาพ : คำว่า กงเก็ก ที่ประทับอยู่ใต้ก้นปั้นชา
การค้าเรือสำเภาหลวงของสยามสิ้นสุดลงในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ สยามส่งคณะทูตทำการค้าระบบบรรณาการกับจีนครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.๒๓๙๖ และเปลี่ยนไปค้าขายกับชาติตะวันตกเพิ่มขึ้นภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในปี พ.ศ.๒๓๙๘ ธุระในการจัดหาปั้นชาจากจีนจึงตกไปอยู่กับบรรดานายห้างในกรุงเทพฯ เป็นผู้สั่งเข้ามา ทั้งที่สั่งทำตามอย่างปั้นชาในสมัยรัชกาลที่ ๒ และปั้นชาอี๋ซิงรุ่นใหม่ๆ แต่ภายหลังการประทับตราได้เปลี่ยนไปเป็นการประทับชื่อของช่างปั้นหรือชื่อห้างที่รับสั่งของจากเมืองจีน เช่น ยี่ห้อโปจูลี่กี่ กิมตึ๋งฮกกี่ เป็นต้น
 
          การใช้ปั้นชาในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่าเข้ามาพร้อมกับการรับวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวจีนที่เดินทางมากับเรือสำเภาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยบันทึกของจีนที่กล่าวถึงปั้นชาอย่างเป็นทางการ ได้ระบุว่าปั้นชาใบแรกทำขึ้นในรัชสมัยของฮ่องเต้เจิ้นเต๋อ ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.๑๕๐๖ – ๑๕๒๑) โดยผู้คิดทำขึ้นเป็นเด็กรับใช้นามว่า “กงชุน”
 
          ต่อมาความรู้ในการทำปั้นชาของชาวจีนได้ขยายวงกว้างขึ้น มีการคิดแบบปั้นชาขึ้นมาหลากหลาย และเกิดช่างปั้นที่มีชื่อเสียงพร้อมกับความนิยมของคอชาในการแสวงหาปั้นชาจากช่างปั้นฝีมือดี ช่างปั้นจะประทับตราผลงานของตัวเองไว้ที่ใต้ก้นปั้น ตัวปั้น หรือลิ้นฝา เพื่อให้ระบุได้ว่าเป็นงานฝีมือของผู้ใด ปั้นชาบางใบระบุปีและแผ่นดินที่ผลิตปั้นขึ้นด้วย นับเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าในภายหลัง
 
          “ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น” พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการสั่งทำปั้นชาหลายครั้งตั้งแต่สมัยครั้งกรุงเก่า และแสดงให้เห็นความนิยมในการสะสมปั้นชาหรือ “เล่นปั้น” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเครื่องถ้วย ทรงรวบรวมมาจัดเป็นเครื่องประดับและให้มีการประกวดกันที่มิวเซียม ทรงสั่งทั้งปั้นสายและปั้นหูตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ ประทับอักษรย่อพระนาม จ.ป.ร.
 
          ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีความนิยมปั้นชาในรูปแบบต่างกัน กล่าวคือ ชาวจีนนิยมใช้ปั้นหูเพื่อชงชา ในกลุ่มผู้สะสมปั้นชากล่าวกันว่าลักษณะของปั้นหูที่ดีนั้นจะต้องมีพวย ปากปั้น และหูปั้นเสมอกัน เมื่อเทน้ำลงไปในปั้นจะได้น้ำชาอยู่ในระดับเดียวกันและรินน้ำชาออกทางพวยได้สะดวก ชาวสยามนิยมใช้ปั้นสายชงชาแล้วเก็บไว้ในตะกร้านวมเพื่อรักษาความร้อน เวลาใช้จะจับสายด้านบนยกปั้นชาออกจากตะกร้านวมแล้วรินน้ำชาลงถ้วย


ภาพ : ปั้นสายพร้อมตะกร้านวม
 
นายจำรัส เมฆเกรียงไกร ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2534

          นอกจากปั้นชาแบบที่กล่าวถึงไปข้างต้นแล้ว ภายในคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ยังมีภาชนะบรรจุชาอีกรูปแบบที่น่าสนใจ คือ ปั้นชาเคลือบสีเขียวมรกต ลักษณะเลียนแบบถังน้ำ เป็นทรงกระบอกหรือหกเหลี่ยม ตัวปั้นและหูหิ้วเชื่อมติดกัน มีช่องและฝาปิดวงกลมขนาดเล็ก หูหิ้วเป็นแบบมีรูตรงกลาง แกนหูหิ้วคั่นอยู่ระหว่างด้านฝาปิดกับด้านพวย พวยมีขนาดเล็กและสั้น
 
          ปั้นชาเคลือบสีเขียวนี้ผลิตขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๙ แหล่งเตาสือวาน(Shiwan) เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ส่วนที่พิพิธภัณฑ์ได้รับบริจาคมามีทั้งจากวัดและเอกชน โดยรับมาชิ้นแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ปั้นชาที่มีรูปทรงและน้ำเคลือบลักษณะโดดเด่นนี้ สันนิษฐานว่าเป็นของที่ชาวจีนอพยพนำติดตัวเข้ามาเข้ามาในประเทศไทย


ภาพ :
 
ปั้นชาเคลือบสีเขียวมรกตจากแหล่งเตาสือวาน
 
พระครูจิตรการประสาท เจ้าอาวาสวัดสวนป่าน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ในนามพระครูพิศาลวิหารวัตร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2517

      ปั้นชาจึงเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยและชาวจีน ที่ดำเนินมายาวนานและผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมกันได้อย่างลงตัว ชาวไทยเองก็ได้รับวัฒนธรรมการดื่มชามาด้วย ดังเห็นได้จากร้านน้ำชาหรือสภากาแฟยามเช้า ที่ผู้คนในหมู่บ้านหรือผู้สูงวัยมานั่งแลกเปลี่ยนข่าวสารพร้อมกับจิบชาดื่มกาแฟไปด้วย ส่วนยามเย็นไปจนถึงค่ำในตัวเมืองนครศรีธรรมราชจะพบเห็นร้านน้ำชาจำนวนมากคลาคล่ำไปด้วยวัยรุ่น นักศึกษา และกลุ่มคนทำงาน แม้ว่ารูปแบบการดื่มชาหรือภาชนะชงชาจะเปลี่ยนไป แต่ก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยและวัตถุให้เราสืบสาวความเป็นมาในอดีต
 
          การศึกษาปั้นชายังสามารถขยายองค์ความรู้ต่อไปได้อีกหลายด้าน เช่น ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ศิลปกรรม ซึ่งเรื่องราวที่นำเสนอในบทความนี้ ได้หยิบยกมาเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ผู้เรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจจุดประกายให้ผู้อ่านเกิดความสนใจศึกษาค้นคว้าต่อไปเพื่อขยายขอบเขตข้อมูลในอนาคต
 
 
 
หมายเหตุ : ค้นคว้าและเรียบเรียงโดย น.ส.ชุติณัฐ ช่วยชีพ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
 
 
รายชื่อหนังสืออ้างอิง
 
๑. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. (๒๕๐๘). ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น. พิมพ์ครั้งที่ ๔. พระนคร : กรมศิลปากร.
 
๒. นพพร ภาสะพงศ์. (๒๕๔๘). ปั้นชาเสน่หางานศิลป์แห่งดินปั้น. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
 
๓. พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. (๒๕๕๐). กระเบื้องถ้วยกะลาแตก ชีวิตเบื้องหลังสมบัติผู้ดี. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
 
๔. รอย ม็อกซัม. ประวัติศาสตร์โลกในถ้วยชา. (๒๕๕๔). พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : มติชน.
 

(จำนวนผู้เข้าชม 9468 ครั้ง)


Messenger