...

บทเพลงที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุของ ลา ลูแบร์ เพลงสายสมร และเพลงสุดใจ
การบรรเลงเพลงสุดใจ และเพลงสายสมร จากโน๊ตเพลงของลาลูแบร์ โดยวงดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์อยุธยา : ประวัติศาสตร์อาเซียน”วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
เพลงสุดใจ กับเพลงสายสมร เป็นชื่อเพลงในตระกูลมโหรีกรุงเก่า แบบ“ร้องเนื้อเต็ม” ในยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็น ๒ เพลง ที่ทูตจากฝรั่งเศสบันทึกเป็นโน้ตสากล กำกับด้วยคำร้องภาษาไทย แต่เขียนด้วยอักษรโรมัน 
เพลงสุดใจ เป็นเพลงที่อ้างอิงมาจาก นิโคลาส์ แซร์แวส ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาประเทศไทยในแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒๔ – ๒๒๒๙ ซึ่งนายนิโคลาส์ได้ทำการบันทึกเพลงไว้สองเพลง แต่ในการพิมพ์จดหมายเหตุนี้ครั้งแรกที่ฝรั่งเศสกลับมีโน้ตเพลงประกอบเพียงเพลงเดียว คือเพลง สุดใจ (Sout Chai) เพลง สุดใจ เขียนขึ้นด้วยการร้อยทำนองสองทำนองเข้าด้วยกัน มีทำนองหลักอยู่ด้านบน และให้ทางเบสอยู่ไลน์ต่ำ ซึ่งเป็นขนบนิยมของของดนตรีตะวันตก ซึ่งเมื่อได้ทดลองบรรเลงดูแล้ว เสียงที่ออกมาก็ไม่คล้ายดนตรีตะวันออกแต่อย่างใด ในส่วนของเนื้อร้องก็ยังไม่ไปกับท่วงทำนองดนตรีมากนัก
เพลงสายสมร เป็นอีกเพลงหนึ่งที่สันนิษฐานว่าเป็นอีกเพลงที่ นิโคลาส์ แซร์แวส บันทึกไว้ แต่ถูกนำไปบรรจุไว้ในหนังสือจดหมายเหตุอีกเล่มหนึ่งของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วง พ.ศ. ๒๒๓๐ โดยเพลงที่ถูกพิมพ์ไว้ในจดหมายเหตุของลา ลู แบร์ นั้นมีชื่อว่า A Siamese Song และมีเนื้อร้องที่ขึ้นต้นว่า Say Samon ซึ่งตรงกับชื่อเพลง "สายสมร" ที่สูญหายไป
เมื่อเทียบกับเพลง สุดใจ นั้น เพลง สายสมร เป็นการบันทึกทำนองที่มีความพิถีพิถันในการจะทำให้เนื้อร้องเข้ากับทำนองมากกว่า แต่จากการทดลองบรรเลงกลับพบว่า ไม่สะดวกกับการขับร้อง และท่วงทำนองก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นเพลงตะวันออกแต่อย่างใด
 
หมายเหตุ : ข้อมูลและภาพประกอบ ได้จากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร
 
ทั้งนี้ จากกรณีที่คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ท้วงติงว่า ได้นำภาพมาใช้โดยไม่ให้เครดิต นั้น จากการตรวจสอบข้อมูล ส่วนหนึ่งได้มาจาก atibhop.wordpress.com และหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัยเป็นอย่างสูง และขออนุญาตใช้ภาพเพื่อการศึกษา มา ณ ที่นี้

(จำนวนผู้เข้าชม 3794 ครั้ง)