...

ตึกแดง : อาคารถาวรวัตถุ หอสมุดวชิราวุธ
อาคารถาวรวัตถุ หอสมุดวชิราวุธ
 
 
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างขึ้นด้วยพระราชประสงค์ 2 ประการ ประการแรกมีพระราชดำริที่จะทรงสร้างสถานที่เรียนที่เหมาะสมสำหรับมหาธาตุวิทยาลัย (ภายหลังเปลี่ยนเป็นมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) ซึ่งพระองค์โปรดฯให้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 ณ วัดมหาธาตุราชวรมหาวิหาร (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์)
 
อีกประการหนึ่งประจวบกับที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2437 ซึ่งโดยราชประเพณีจะต้องทำพระเมรุขนาดใหญ่ตามพระเกียรติยศ ณ ท้องสนามหลวงแต่พระองค์ไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์และยากลำบากแก่คนเป็นจำนวนมากจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์เป็นผู้บัญชาการก่อสร้างอาคารหลังนี้ขึ้น ณ บริเวณกุฏิสงฆ์วัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออกเพื่อเป็นที่เชิญพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร มาประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณาทานเสร็จแล้วจึงจะเชิญพระบรมศพไปประดิษฐานณพระเมรุมาศน้อย ณ ท้องสนามหลวงเพื่อพระราชทานเพลิงส่วนอาคารหลังนี้จะพระราชอุทิศถวายเป็นสถานที่เรียนสำหรับมหาธาตุวิทยาลัยต่อไป แต่การยังมิทำสำเร็จสมพระราชประสงค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างต่อมาจนแล้วเสร็จพระราชทานให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร โดยโปรดฯใหย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจากที่ตั้งเดิมในพระบรมมหาราชวังมาตั้งที่อาคารแห่งนี้และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอพระสมุดสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2459 ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหนังสือในหอพระสมุดส่วนพระองค์มาเพิ่มเติมในหอพระสมุดสำหรับพระนครปริมาณหนังสือมากขึ้นจึงโปรดฯ ให้แยกหอพระสมุดสำหรับพระนครออกเป็นหอพระสมุดวชิรญาณและหอพระสุมดวชิราวุธโดยโปรดฯให้หอพระสมุดวชิรญาณไปตั้งที่พระราชวังบวรสถานมงคล
 
รูปแบบสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5-6 อาคารหอพระสมุดวชิราวุธ หรือถาวรวัตถุ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอม มุงกระเบื้องกาบูสีคล้ำ ประดับด้วยบราลีสีเดียวกัน ตอนกลางอาคารมีลักษณะแบบครรภธาตุของพระปรางค์ถึง 3 หลัง ซึ่งน่าจะเป็นแบบที่ดัดแปลงจากยอดปรางค์ 3 ยอดเดิม และสุดปีกของอาคารมีเรือนธาตุแบบนี้อีกทั้งสองข้าง ปั้นลมอาคารประดับลายปูนปั้น เฉพาะหลังกลางหน้าบันลด 3 ชั้น นอกนั้นลด 2 ชั้น ลายที่หัวเสาและฐานเสาประดิษฐ์จากฐานกลีบบัว ประตูเฉพาะประตูกลางของเรือนกลางเป็นรูปโค้งแหลมแบบสถาปัตยกรรม Gothic นอกนั้นเป็นประตูสี่เหลี่ยมธรรมดา ทางเข้าออกอยู่กึ่งกลางของปีกซ้ายของอาคาร ซุ้มประตูรูปโค้งแหลมสูงจรดหลังคา หน้าบันมีเพียงชั้นเดียว ซึ่งกึ่งกลางปีกขวาของอาคารก็จะตกแต่งด้วยหน้าบันแบบเดียวกันนี้ อาคารด้านหลัง ประดับหน้าบันเหมือนด้านหน้า มีระเบียงตลอดความยาวของอาคาร ตัวอาคารยกพื้นสูง ฐานอาคารก่ออิฐถือปูนแบบฐานปัทม์ มีบันไดขึ้นทั้งหน้าและหลังเป็นระยะๆ ตลอดความยาวของอาคาร และมีบันไดขึ้นสู่ระเบียงจากทางเข้าออก สนามด้านหน้าและด้านหลังเป็นแนวแคบขนานไปกับอาคารปูหญ้าและปลูกไม้ดอก เฉพาะสนามด้านหน้ามีรั้วเหล็กโปร่งล้อม
 
 

(จำนวนผู้เข้าชม 2843 ครั้ง)


Messenger