...

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
   
                พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์  
จัดตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรี  อนุสรณ์ โดยความร่วมมือระหว่างบรรดาลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี  เพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณของท่าน  ในฐานะผู้ให้กำเนิดการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร  ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งตรงกับวาระวันคล้ายวันเกิดครบรอบ ๙๒ ปี  ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี โดยฯพณฯ ชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นให้เกียรติมาเป็นประธาน  จากนั้นจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและบริหารจัดการ จนกระทั่งได้รับการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ เมื่อพ.ศ.๒๕๓๐ ปัจจุบัน สังกัดสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ในเครือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
 
          ภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวร โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรก ห้องชั้นนอก (บริเวณประตูทางเข้า) จัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ของบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด  เช่น  นายเฟื้อ หริพิทักษ์ นายประยูร อุลุชาฎะ นายชลูด นิ่มเสมอ นายจำรัส เกียรติก้อง นายเขียน ยิ้มศิริ นายสวัสดิ์  ตันติสุข นายทวี นันทขว้าง เป็นต้น ผลงานส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมในยุคเริ่มแรกของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่งดำเนินรอยตามแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะตามหลักวิชาการที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้วางรากฐาน
 
          ส่วนที่สอง ห้องชั้นใน จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งประกอบไปด้วย โต๊ะทำงาน เก้าอี้ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องมือปั้น ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว โดยจำลองบรรยากาศโต๊ะทำงานดั้งเดิมเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีชีวิตอยู่ ตลอดจนแบบร่างอนุสาวรีย์และประติมากรรมชิ้นสำคัญ เช่น แบบร่างพระบรมรูปรัชกาลที่ ๖  แบบร่างพระศรีศากยทศพลญาณ พระประธานพุทธมณฑล และต้นแบบพระเศียรรัชกาลที่ ๘ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหนังสือหายากซึ่งเป็นหนังสือที่ศาสตราจารย์ศิลป์         พีระศรี  ใช้สำหรับค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะตะวันตก ให้บริการแก่ผู้มาเยี่ยมชมภายในห้องจัดแสดง
 
ประวัติศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี
 
ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni)  เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี  สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)
 
ปี พ.ศ. 2441 ได้เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม หลักสูตร 5 ปี หลังจากจบหลักสูตร จึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนระดับมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ จบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปีในขณะที่มีอายุ 23 ปีและได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ซึ่งต่อมาได้สอบคัดเลือกรับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรม
 
ปี พ.ศ. 2466 ท่านได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ด้วยเหตุนี้จึงเดินสู่แผ่นดินสยามเพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากร สถานแห่งราชบัณฑิตสภา
 
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2485 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนี กับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยขอควบคุมตัวท่านศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี ไว้เอง และ หลวงวิจิตรวาทการ ได้ดำเนินการทำเรื่องราวขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย โดยเปลี่ยนชื่อของท่านให้มาเป็น "นายศิลป์ พีระศรี" เพื่อคุ้มครองท่านไว้ ไม่ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี
 
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นในระยะเริ่มแรกชื่อ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง และในปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในขณะนั้นโดย ฯพณฯจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งใหอธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และ ตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร มีคณะจิตรกรรมประติมากรรม เป็นคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดสอนเพียง 2 สาขาวิชาคือ สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม โดยมี ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดี คนแรก
 
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชนุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย โดยการปั้นต้นแบบสำหรับพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2472 - 2477 อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ. 2484 พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี และการออกแบบพระพุทธรูปปางลีลา ประธานพุทธมณฑล
 
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 รวมสิริอายุได้ 69 ปี 7เดือน 29 วัน

(จำนวนผู้เข้าชม 1102 ครั้ง)


Messenger