...

บทความ : ๑๙ กันยายน วันพิพิธภัณฑ์ไทย
พิพิธภัณฑสถานถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนสยามหรือประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งราชฤดี โดยเป็นที่จัดตั้งแสดงสิ่งสะสมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสิ่งของจัดแสดงมาไว้ยังพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ อันเป็นที่มาของคำว่า "พิพิธภัณฑ์" ในเวลาต่อมา
 
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ จากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงในหอมิวเซียม (Museum) ณ หอคองคอเดีย  ซึ่งเป็นอาคารใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพิธีเปิด หอมิวเซียม หรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๑๗ ถือเป็นวันกำเนิดพิพิธภัณฑสถานของชาติแห่งแรกในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นพิพิธภัณฑสถานของหลวงหรือทางราชการที่จัดตามหลักวิชาการสากล และเปิดให้ประชาชนเข้าชมเฉพาะในการเฉลิมพระชนมพรรษาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
 
ปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” จากพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)  โดยใช้พระที่นั่งส่วนหน้าสามองค์เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  ได้พระราชทานอาคารหมู่พระวิมานทั้งหมดรวมเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
 
นับเนื่องจากนั้นเป็นต้นมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้รับการจัดตั้ง สืบทอด และพัฒนาเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในสังกัดกรมศิลปากร ยังมีพิพิธภัณฑสถานทั้งที่เป็นของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์สถานศึกษา พิพิธภัณฑ์ชุมชน พิพิธภัณฑ์วัด พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของคนในชาติ โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๘ ประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายน ของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทยเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นในประเทศไทย
 
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ได้มุ่งเน้นพัฒนาและปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สู่การเป็น “พิพิธภัณฑสถานมีชีวิต”มีความทันสมัย และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการจัดแสดงและการให้บริการ อาทิ เทคโนโลยี AR Code , QR Code , Virtual Museum รวมไปถึงระบบจัดเก็บ การสืบค้นข้อมูลโบราณวัตถุ การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านฐานข้อมูลของแต่ละพิพิธภัณฑ์ การนำเข้าส่งออกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุด้วยระบบ National Single Windows ตลอดจนการจัดกิจกรรมรถพิพิธภัณฑ์สัญจรไปยังสถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งสถานศึกษาผู้บกพร่องทางสายตาและผู้พิการอื่นๆ ด้วย  

(จำนวนผู้เข้าชม 3346 ครั้ง)


Messenger