...

กรมศิลปากรอนุมัติงบฯ ฉุกเฉิน 2 ล้านบาท บูรณะพลับพลา ร.7 จ.ตรัง




               นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กรมศิลปากรได้อนุมัติงบประจำปีงบประมาณ 2568 (งบฉุกเฉิน) จำนวน 2 ล้านบาท บูรณะโบราณสถานพลับพลา ร.7 ในโครงการบูรณะโบราณสถานตามรอยเสด็จประพาสน้ำตกกะช่องเพื่อเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง 
               อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 11สงขลา ได้ดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 แต่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ เนื่องจากการขออนุญาตใช้พื้นที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง ยังไม่ได้รับการอนุมัติเห็นชอบใช้พื้นที่ ทั้งนี้ กรมศิลปากรไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อเดือนมกราคม 2567 ได้รับแจ้งว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ และมอบหมายให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา กรมศิลปากร ดำเนินโครงการบูรณะดังกล่าว ขณะนี้ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบหลักเขตโบราณสถานและประชุมหารือแนวทางในการบูรณะโบราณสถานพลับพลา ร.7 ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และศาลาแปดเหลี่ยม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เพื่อดำเนินการบูรณะต่อไป


              พลับพลา ร.7 เป็นอาคารประทับพักร้อนริมน้ำตกโตนใหญ่ และได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2455 ว่า “ธารหทัยสำราญ” โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารที่มีชื่อว่า “ตำหนักโปร่งฤทัย” ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อ พ.ศ. 2452 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ตได้เสด็จมาเสวยพระกระยาหาร ณ พลับพลาแห่งนี้ จึงได้รับการเรียกชื่อว่า “พลับพลา ร.7” ตราบจนมาถึงปัจจุบัน 
              กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานตำหนักโปร่งฤทัย (พลับพลา ร.5) ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม 2539 ซึ่งในช่วงที่กรมศิลปากรสำรวจขึ้นทะเบียนตำหนักโปร่งฤทัยเป็นโบราณสถานนั้น ตัวตำหนักได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว  จึงได้กำหนดขึ้นทะเบียนศาลาริมทาง 2 แห่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จคือ ศาลาแปดเหลี่ยมที่น้ำตกโตนน้อย และพลับพลา ร.7 ที่น้ำตกโตนใหญ่ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง






(จำนวนผู้เข้าชม 28 ครั้ง)


Messenger