...

กรมศิลปากรเปิดให้ประชาชนเข้าชมความงามของประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (Golden Boy) และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling)

          กรมศิลปากรเปิดให้ประชาชนเข้าชมความงามของโบราณวัตถุ จำนวน ๒ รายการ ที่ได้รับคืนพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ทั้งประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ ที่รู้จักกันในนาม โกลเด้นบอย (Golden Boy) และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ขุดพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับประติมากรรมโกลเด้นบอย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาจัดแสดงร่วมกัน ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เป็นต้นไป เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ – อังคาร) อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๓๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๐๐ บาท









พระศิวะ
ศิลปะเขมรในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ ๑๖ (ประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว)
สำริดกะไหล่ทอง ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน
สูง (รวมเดือย) ๑๒๘.๙ กว้าง ๓๕.๖ ลึก ๓๔.๓ ซ.ม. สูงไม่รวมเดือย ๑๐๕.๔ ซ.ม.
 
ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นรูปสำริดที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังหลงเหลือจากสมัยเมืองพระนคร เป็นประติมากรรมกลุ่มเล็กๆ ที่มีการหล่อด้วยโลหะเป็นเทพในศาสนาฮินดูที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมของราชสำนัก พบในกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย แม้ว่าประติมากรรมจะถูกติความไว้ว่าเป็นพระศิวะ แต่ท่าทางของพระหัตถ์ทั้งสองที่แตกต่างจากประติมากรรมโดยทั่วไปที่มักจะถือสัญลักษณ์ของพระศิวะ ประติมากรรมนี้จึงอาจหมายถึงพระศิวะในภาคมนุษย์ที่ไม่ค่อยพบในศิลปะเขมรทั่วไปอาจมีความเป็นไปได้ว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์สองอย่างคือ เป็นรูปเคารพเพื่อบูชาในศาสนสถานประจำราชวงศ์ หรือเป็นรูปเคารพของบูรพกษัตริย์
 

ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ
ศิลปะเขมรในประเทศไทย สมัยเมืองพระนคร แบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ ๑๖ (ประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว)
สำริด ประดับตกแต่งด้วยการฝังเงิน มีร่องรอยกะไหล่ทอง
สูง ๔๓.๒ กว้าง ๑๙.๗ ซ.ม. 
 
ประติมากรรมนี้ สันนิษฐานว่าเป็นพระราชเทวี หรือสตรีชั้นสูงในราชสำนักสวมเครื่องประดับ ประทับชันเข่าพนมมือแสดงความเคารพแด่เทพเจ้า ที่ดวงตาและคิ้วมีร่องรอยการฝังด้วยวัตถุที่น่าจะเป็นแก้วสีดำ







(จำนวนผู้เข้าชม 629 ครั้ง)


Messenger