...

กรมศิลปากรจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 7 มกราคม 2567





วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๐๘.๐๐ น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร วางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ โดยมีข้าราชการ เหล่าทัพ หน่วยงานต่างๆ และประชาชนเข้าร่วมในพิธี 


กรมศิลปากร ร่วมกับชมรมกองทุนพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗ มกราคม) เป็นประจำทุกปี โดยจัดพิธีถวายราชสักการะและพิธีบวงสรวงถวายเครื่องสักการะสังเวย ณ พระบวรราชานุสาวรีย์ฯ โรงละครแห่งชาติ และบำเพ็ญกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ ในเวลา ๑๖.๓๐ น. สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้จัดการบรรเลงปี่พาทย์เสภา ครั้งที่ ๒๐ ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อน้อมรำลึกพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ต่อบ้านเมืองและศิลปวัฒนธรรมของชาติ
 



พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๑ ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่ออกพระนามกันว่า "วังหน้า" มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปศาสตร์หลายสาขา ทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม โดยทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก นอกจากนี้ ทรงโปรดทางศิลปะ ทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยมีการจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี ๔ ชนิด เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องใหญ่" เบื้องปลายพระชนม์ชีพ  พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๘
  











(จำนวนผู้เข้าชม 147 ครั้ง)


Messenger