...

ขอเชิญร่วมฟังการสัมมนาวิชาการ "รู้รากราชบุรี" ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม ชาติพันธุ์วิทยาของราชบุรี

          กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรี โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาวิชาการ เรื่อง "รู้รากราชบุรี" ในวันพุธที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.  ณ ห้องประชุมชั้น ๕ อาคารกรมศิลปากร (เทเวศร์) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เป็นพิพิธภัณฑสถานทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยาของจังหวัดราชบุรี เพื่อต้องการให้เป็นศูนย์การศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติที่จะสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียงตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมัยใหม่ โดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒
           ในปี ๒๕๖๖ นี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เพื่อเป็นการยกระดับการรักษาความปลอดภัยให้แก่โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ปรับปรุงการจัดแสดงให้มีความทันสมัย ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลทางวิชาการให้ทันสมัย และเป็นเอกภาพ จึงเห็นควรให้มีการรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำบทจัดแสดงและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยาของเมืองราชบุรี จึงกำหนดให้มีการจัดการสัมมนาทางวิชาการขึ้นโดยเชิญนักวิชาการ และผู้ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเมืองราชบุรีนำไปสู่ชุดความรู้ที่มีความชัดเจนและเป็นปัจจุบัน
           การสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากอธิบดีกรมศิลปากร และคณาจารย์ผู้ศึกษาวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม ชาติพันธุ์วิทยาของราชบุรี ร่วมบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้
           - เวลา ๐๙.๑๕ น. ปาฐกถา เรื่อง แนวทางการปรับปรุงการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี โดย อธิบดีกรมศิลปากร นายพนมบุตร จันทรโชติ
           - เวลา ๑๐.๑๕ น. การบรรยาย เรื่อง “ก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดราชบุรี: การทบทวนและข้อสังเกต” โดย อ.ดร.ภีร์ เวณุนันทน์ ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
           - เวลา ๑๑.๑๕ น. การบรรยายเรื่อง “เมืองคูบัวกับความสำคัญต่อการศึกษาโบราณคดีสมัยทวารวดี” โดย รศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
           - เวลา ๑๓.๐๐ น. การบรรยายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ราชบุรีจากหัวเมืองตะวันตกสู่มณฑลราชบุรี” โดย ผศ.นุชนภางค์ ชุมดี ภาควิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
           - เวลา ๑๔.๐๐ น. การบรรยายเรื่อง “Re-Learning Ratchaburi เรียนรู้ราชบุรีผ่านวัฒนธรรมและชาติพันธุ์” โดย อ.ศศิธร ศิลป์วุฒยา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร
           - เวลา ๑๕.๐๐ น. การบรรยายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ราชบุรีจากพุทธสถาน” โดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
          ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน inbox facebook : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี www.facebook.com/ratchaburi.national.museum (ภายในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖) หรือติดตามรับชมการถ่ายทอดสด ผ่านช่องทางออนไลน์ : facebook live เพจ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และเพจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 230 ครั้ง)