...

รำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลง
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต เรื่อง รำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลง
 
รำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลง อยู่ในการแสดงละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนสังข์ถ่วง นางสาววันทนีย์  ม่วงบุญ ผู้ชำนาญการศิลปะการแสดง กรมศิลปากร เป็นผู้ประพันธ์บท ประดิษฐ์ท่ารำ และถ่ายทอดให้นางสาวปภาวี  จึงประวัติ นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร รำเป็นคนแรก จัดแสดงครั้งแรกเนื่องในรายการศรีสุขนาฏกรรม ปี ๒๕๕๗ ครั้งที่ ๕ ในวันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี และถ่ายทอดให้นางสาวภวินี  เรืองฤทธิวงศ์ นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร แสดงครั้งที่ ๒ ในวันศุกร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ โรงละครแห่งชาติ 
ภาพที่ ๑ รำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลง แสดงโดย ภวินี เรืองฤทธิวงศ์
 
           รำฉุยฉายชุดนี้ได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับการแสดงละคร เรื่องสังข์ทอง ตอนสังข์ถ่วง และเสริมความเข้าใจในตัวนางพันธุรัตให้มากยิ่งขึ้น จากบทร้องรำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลงนี้ จะมีเนื้อหาครอบคลุมถึงรูปลักษณ์ การแต่งกาย ทรัพย์สมบัติ อารมณ์ความรู้สึก และจุดมุ่งหมายของตัวละคร สื่อให้ผู้ชมเข้าใจความเป็นมาและบทบาทของนางพันธุรัต โดยมีประเด็นในการกล่าวถึง ดังนี้
   ๑. รูปลักษณ์ การแปลงกายของนางพันธุรัตจากนางยักษ์เป็นนางมนุษย์ เพื่อแสดงให้เห็นรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไป ดังบทประพันธ์ที่กล่าวว่า “เฉิดเฉลา  สิ้นเขี้ยวเสียวสยองยิ้มย่องพริ้มเพรา” เมื่อนางพันธุรัตแปลงกายเป็นมนุษย์แล้ว เขี้ยวยักษ์ที่เคยมีก็หายไป กลายเป็นรอยยิ้มพริ้มเพราเหมือนอย่างมนุษย์
   ๒. การแต่งกาย เมื่อนางพันธุรัตแปลงกายเป็นมนุษย์แล้ว ได้แต่งกายตามแบบนางใน ห่มสไบ นุ่งผ้ายก และสวมเครื่องประดับให้สวยงาม ดังบทประพันธ์ว่า “นุ่งยกห่มสไบประดับใส่เต็มตัว สนองเกล้าสวมหัวงามทั่วกายา”  
   ๓. ทรัพย์สมบัติและวิชาอาคม จากบทละครนอก เรื่องสังข์ทองในตอนอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าพระสังข์มีการนำทรัพย์สมบัติรวมทั้งวิชาอาคมที่นางพันธุรัตให้ไว้ไปใช้ในการออกอุบายต่าง ๆ ซึ่งในบทรำฉุยฉายนี้ก็ได้กล่าวถึงทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไว้ด้วย เช่น รูปเงาะ เกือกแก้ว ไม้เท้า มนตร์เรียกเนื้อเรียกปลา เป็นต้น
          ๔. อารมณ์ความรู้สึก ความรักที่มีต่อพระสังข์ ด้วยนางพันธุรัตเป็นหม้ายไร้โอรสและธิดามาหลายปี นางจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะรับพระสังข์มาเป็นบุตรของตน ถึงแม้ว่าจะยังไม่เคยพบพระสังข์มาก่อน นางก็มีความตั้งใจที่จะมอบความรักให้กับพระสังข์อย่างเต็มใจ ดังบทประพันธ์ว่า 
“ยอดหญิงมิ่งประเสริฐ ใจรักแม่ล้นเลิศ แม้เกิดเป็นยักษิณี
จะกินอยู่เที่ยวเสาะหา มอบบุตรแสนเปรมปรีดิ์ ให้ได้ทั้งชีวี ชาตินี้เพื่อเจ้าสังข์เอย”
           ๕. จุดมุ่งหมาย ในการแปลงกายของนางพันธุรัตครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายคือการออกไปรับพระสังข์กลับเข้าเมือง ดังบทประพันธ์ที่ว่า “คอยรับลูกชาย เจ้าสังข์กุมารา” และที่ต้องแปลงกายจากยักษิณีเป็นมนุษย์ เพราะกลัวว่าพระสังข์จะหวาดกลัวหากเห็นแม่เป็นยักษ์ จึงได้แปลงกายเป็นหญิงงามเสียก่อน รวมไปถึงเหล่าเสนาและนางกำนัลในเมืองด้วย 
ภาพที่ ๒ บทขับร้องรำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลง ประพันธ์บทโดย วันทนีย์  ม่วงบุญ ผู้ชำนาญการศิลปะการแสดง
 
รูปแบบการแสดง
          รำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลง เป็นการรำเดี่ยวเพื่ออวดฝีมือของศิลปินผู้แสดงผ่านลีลา ท่าทาง และอารมณ์ความรู้สึก โดยแสดงความภาคภูมิใจและชื่นชมเมื่อเห็นว่าตนเองสามารถแปลงกายจากนางยักษ์เป็นมนุษย์ได้อย่างสวยงาม รวมถึงแสดงออกถึงความรัก ความตื่นเต้น ความยินดีที่จะได้พระสังข์มาเป็นบุตรของตนรำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลงนี้ สามารถแสดงประกอบในเรื่องสังข์ทอง หรือแสดงเป็นชุดเอกเทศได้
 
เพลงที่ใช้ในการแสดง 
   ลักษณะเป็นเพลงฉุยฉายแบบเต็ม คือ เริ่มต้นด้วยปี่พาทย์ทำเพลงรัวและเพลงทะแยหงสา จากนั้นจึงรำเพลงฉุยฉาย ๒ บท และรำเพลงแม่ศรี ๒ บท โดยผู้แสดงต้องรำตีบทตามคำร้องฉุยฉายและแม่ศรี ซึ่งการรำฉุยฉายแบบเต็มหลังจบแต่ละคำร้องจะตามด้วยเสียง “ปี่ใน” ที่เป่าเลียนเสียงคำร้อง ผู้แสดงจึงต้องรำตามเสียงปี่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง หากแสดงอยู่ในเรื่องสังข์ทอง ก็จะบรรเลงด้วยเพลงเร็วแล้วจึงรำต่อในบทถัดไป แต่หากเป็นชุดเอกเทศจะจบด้วยเพลงเร็วและเพลงลา
ภาพที่ ๓ รำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลง แสดงโดย ภวินี เรืองฤทธิวงศ์
 
เครื่องแต่งกายที่ใช้ในการแสดง
          ผู้แสดงจะแต่งกายยืนเครื่องนาง ประกอบด้วย พัสตราภรณ์ ได้แก่ เสื้อในนาง ผ้ายกสีชมพูนุ่งจีบหน้านาง สไบปักสีฟ้าขลิบสีชมพูห่มแบบสองชาย นวมคอสีชมพู ถนิมพิมพาภรณ์ ได้แก่ จี้นาง เข็มขัด กำไลข้อมือ และกำไลข้อเท้า และศิราภรณ์รัดเกล้าเปลวและช้องผม อุบะดอกไม้ทัดข้างซ้าย 

ภาพที่ ๔ รำฉุยฉายนางพันธุรัตแปลง แสดงโดย ภวินี เรืองฤทธิวงศ์
 
เนื้อเรื่องโดยสังเขป
          หลังจากท้าวยศวิมลขับไล่นางจันท์เทวี พระมเหสีที่คลอดลูกเป็นหอยสังข์ออกจากเมืองแล้ว นางจันท์เทวีก็ไปอาศัยอยู่กับตายายที่ชายป่า จนเวลาผ่านไปหลายปี นางจึงได้รู้ว่าหอยสังข์ที่นางคลอดออกมานั้นแท้จริงแล้วเป็นพระกุมาร ความทราบไปถึงนางจันทา สนมเอกของท้าวยศวิมล ด้วยความริษยานางจึงยุยงให้ท้าวยศวิมลส่งทหารไปจับพระสังข์มาสังหาร แต่ด้วยบุญญาธิการของพระสังข์ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถสังหารพระสังข์ได้ นางจันทาจึงให้ทหารจับพระสังข์ไปถ่วงน้ำ ท้าวภุชงค์ พญานาคเจ้าเมืองบาดาล ไปพบพระสังข์ที่จมอยู่ใต้บาดาลก็เกิดความสงสาร แต่ไม่สามารถเลี้ยงไว้เองได้ จึงคิดถึงนางพันธุรัตยักษินีผู้เป็นสหาย ด้วยนางเป็นหม้ายไร้โอรสและธิดา ท้าวภุชงค์จึงพาพระสังข์ไปให้นางพันธุรัตเลี้ยงแทน ครั้นนางพันธุรัตทราบก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงให้เหล่าเสนากำนัลแปลงกายเป็นมนุษย์แล้วออกไปคอยรับพระสังข์ด้วยตนเอง
ภาพที่ ๕ การแสดงละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนสังข์ถ่วง
นางพันธุรัตแปลง แสดงโดย ภวินี  เรืองฤทธิวงศ์
พระสังข์กุมาร แสดงโดย ปพัชญา  ขาวประดิษฐ์
 
---------------------------------------------------------------
ผู้เขียน : เณศรา  นาคทรรพ นักวิขาการละครและดนตรีปฏิบัติการ
ภาพถ่าย : ภวินี  เรืองฤทธิวงศ์
---------------------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
วันทนีย์  ม่วงบุญ. ผู้ชำนาญการศิลปะการแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร. สัมภาษณ์. ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๖.
กรมศิลปากร. อธิบายนาฏศิลป์ไทย, หน้า ๘๘. ม.ป.ท., ๒๔๙๑.
กรมศิลปากร. ทะเบียนข้อมูล : วิพิธทัศนา ชุดระบำ รำ ฟ้อน เล่ม ๓, กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). ๒๕๕๑.
 

(จำนวนผู้เข้าชม 1897 ครั้ง)