...

อป. กำแพงเพชร จัดบรรยาย “แหล่งตัดศิลาแลงเมืองกำแพงเพชร” เผยแพร่ความรู้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๖

          อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร กำหนดจัดกิจกรรมบรรยายทางวิชาการแก่บุคลากรทางการศึกษา หัวข้อเรื่อง “แหล่งตัดศิลาแลงเมืองกำแพงเพชร” ในวันที่ ๓, ๔, ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีเมืองกำแพงเพชร ให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๖ ณ โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 
          กำแพงเพชร เป็นชื่อเมืองโบราณในเขตจังหวัดกำแพงเพชร บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิงในปัจจุบัน ที่พบร่องรอยหลักฐานด้านโบราณคดีที่แสดงถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน มีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตลอดสองฟากฝั่งของแม่น้ำปิง มีการรับส่งอิทธิพลจากสังคมภายนอกสู่พื้นที่เมืองกำแพงเพชรและพัฒนาขึ้นกลายเป็นบ้านเมืองที่มีขนาดใหญ่ ทั้งในวัฒนธรรมสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐) ที่เมืองกำแพงเพชรมีฐานะเป็นหัวเมืองของกรุงสุโขทัยและในช่วงวัฒนธรรมอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ปัจจุบันเมืองกำแพงเพชรยังคงปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดี ทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมากที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ของแผ่นดินเมืองกำแพงเพชร ตลอดจนเป็นสิ่งเตือนใจให้คนในปัจจุบันได้ระลึกถึงความรู้ทางเทคนิควิทยาและงานฝีมือศิลปกรรมในรูปแบบของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรได้อย่างโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน
          ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญ รวมทั้งการธำรงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมเมือง กำแพงเพชรให้คงอยู่ยั่งยืนเป็นหลักฐานแสดงอารยธรรมของประเทศไทยสืบไป กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการ อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ ซึ่งได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๘๕ ตอนที่ ๔๑ วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๑ และดำเนินการจัดตั้งเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรในพื้นที่ ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโบราณสถานนอกเขตกำแพงเมืองด้านทิศเหนือหรือเขตอรัญญิก พื้นที่ ๑,๖๑๑ ไร่ มีโบราณสถาน จำนวน ๓๐ แห่ง และกลุ่มโบราณสถานภายในเขตกำแพงเมืองพื้นที่ ๕๐๓ ไร่ มีโบราณสถาน จำนวน ๓๖ แห่ง โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔
          ความสำคัญของเมืองโบราณกำแพงเพชรในฐานะที่เป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ของชนชาติไทย เป็นหลักฐานที่แสดงถึงอารยธรรมและความโดดเด่นอันชาญฉลาดของมนุษย์ในอดีตที่ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบันองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) จึงได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลกภายใต้ชื่อ "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๑๕ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย
           ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฐานะแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของจังหวัดกำแพงเพชร มีนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการ เฉลี่ยประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คนต่อปี โดยมีอัตราส่วนเป็นชาวไทย ๙๕ % และชาวต่างชาติ ๕ % รวมทั้งมี แนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากได้รับประชาสัมพันธ์และการสนับสนุนการท่องเที่ยวจากกลุ่มจังหวัดหน่วยงานราชการและภาคเอกชนในจังหวัดกำแพงเพชร
           อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร ซึ่งมีภารกิจหน้าที่สำคัญ ในการศึกษา ค้นคว้าและทำนุบำรุงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ อีกทั้งการสืบทอดและเผยแพร่องค์ ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและบทบาทของประชาชนที่จะร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
           อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จึงได้จัดการบรรยายทางวิชาการประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๖ แก่บุคลากรทางการศึกษาในท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ หมวด ๔ แนวการจัดการศึกษามาตรา ๒๕ ที่ว่า “รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้ง แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวน พฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กีฬาและนันทนาการแหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้ อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ” เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีอีกทั้งยังเป็น
ปลูกฝังให้บุคลากรทางการศึกษาได้ตระหนักในคุณค่า เห็นความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

(จำนวนผู้เข้าชม 196 ครั้ง)