...

อธิบดีกรมศิลปากรแถลงผลงาน “๑๑๒ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร”

          วันจันทร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงผลงานเนื่องในโอกาส ๑๑๒ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร เดินหน้า “อนุรักษ์ สืบทอด ต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม จากคุณค่าสู่มูลค่า” พร้อมเปิดตัว Application ในชื่อ FADiscovery สร้างประสบการณ์ใหม่ในการเที่ยวชมแหล่งเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรม 


          นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑๑๒ ปีที่กรมศิลปากรดำเนินภารกิจหลักในการธำรงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ สืบสาน สร้างสรรค์ พัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ความเป็นชาติ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างภาคีภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมในความดูแลของกรมศิลปากร กรมศิลปากรมีเป้าประสงค์หลักในการส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมที่ดีอย่างยั่งยืน ได้ดําเนินการและกําหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้บรรลุตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการอนุรักษ์ สืบทอด ต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม จากคุณค่าสู่มูลค่า เพื่อให้วัฒนธรรมไทยกลายเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญยิ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ให้คงคุณค่าความเป็นของแท้และดั้งเดิมตามหลักวิชาการ ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่สู่คนรุ่นต่อไป เสริมสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชน ผ่านกิจกรรมให้ความรู้ ความเข้าใจ ในความสําคัญของมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ เช่น การจัดกิจกรรมอบรมอาสาสมัครและเครือข่ายอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมการศึกษาในแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สําคัญของประเทศ ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติ ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการพัฒนาและสร้างมาตรฐานแหล่งเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของแหล่งเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 
          - การปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้มีมาตรฐาน ทันสมัยและน่าสนใจ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่นำมาจัดแสดงมีความปลอดภัยจากการเสื่อมสภาพ การจัดแสดงนิทรรศการถาวร มีการออกแบบตามหลักวิชาการ เน้นความงาม ความสำคัญของโบราณวัตถุ และการสื่อความหมายต่อผู้เข้าชม รวมทั้งออกแบบแสงสว่างในการจัดแสดงตามหลักวิชาการให้เหมาะสม สวยงาม และปลอดภัยต่อโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สื่อการจัดแสดงที่ใช้มีความถูกต้องของข้อมูลทางวิชาการ มีระบบสืบค้นและนำชมสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น QR Code, AR Code, Audio Guide 
          - การพัฒนางานด้านการจัดเก็บและอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของชาติ มีการจัดตั้งคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้เป็นไปตามหลักวิชาการสากล ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปีนี้  และจัดสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุ จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุทุกประเภท ที่ได้มาตรฐานสากล มีความทันสมัย
 
          - การปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติ ให้ได้มาตรฐานทั้งสถานที่และการให้บริการ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ในการให้บริการ
  - การปรับปรุงโรงละครแห่งชาติ ให้ได้มาตรฐานสากล มีศักยภาพถึงพร้อมในทุก ๆ ด้าน และเป็นไปตามมาตรฐานโรงละครระดับสากล
          - การพัฒนาแหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์ จังหวัดสมุทรสาคร ให้เป็นศูนย์เรียนรู้งานโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรมศิลปากร
  กรมศิลปากร ได้ดำเนินงานโดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการข้อมูลที่เหมาะสม สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ ทั้งระบบการสืบค้น และระบบการให้บริการข้อมูลผ่านเครือข่ายออนไลน์โดยขณะนี้ กรมศิลปากร เปิดประสบการณ์ใหม่ในการนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และมิติใหม่ในการให้บริการข้อมูล ด้วย Application FADiscovery  เป็น Application นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และอุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย โดยการให้ข้อมูลนำทาง ข้อมูลโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ และจัดเก็บข้อมูลความต้องการ ความสนใจของผู้ใช้ที่ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มเข้าชม จนกระทั่งออกจากพิพิธภัณฑ์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ระบบจะทำการบันทึกความชื่นชอบ ความสนใจ และความต้องการในการเข้าชมไว้อย่างละเอียด ทำการแยก และจัดกลุ่มประเภทผู้เข้าชม และบันทึกประมวลผลแบบ Real Time เพื่อให้ทราบถึงความสนใจพิเศษของผู้เข้าชมแต่ละท่าน โดยแจ้งผลความต้องการและความสนใจไปยังผู้เข้าชมแบบรายบุคคล โดยระบบจะทำการประมวลผลความสนใจของประชาชนในประเด็นต่างๆ ทำการสืบค้นข้อมูล หนังสือ หรือบทความวิชาการที่เกี่ยวข้อง และส่งข้อมูลไปยังประชาชน เพื่อให้สามารถศึกษาเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง และได้รับข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนรู้มากที่สุด มิติใหม่ในการให้บริการข้อมูล ด้วย Application FADiscovery นี้ จะเป็นการยกระดับการให้บริการและการเข้าถึงข้อมูลของกรมศิลปากรที่ครอบคลุมข้อมูลทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ โบราณวัตถุ โบราณสถาน เอกสารโบราณ จารึก หนังสือ เอกสารจดหมายเหตุ ด้วย Application เดียว 



          โอกาสนี้ สำนักช่างสิบหมู่ ยังได้จัดนิทรรศการพิเศษ “สืบ สร้าง สาน ศาสตร์ศิลป์” โดยนำผลงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจัดแสดง เพื่อเผยแพร่ความรู้และข้อมูลในงานศิลปกรรม ก่อให้เกิดการสืบทอดภูมิปัญญาด้านงานช่างสิบหมู่อันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๖







          สำหรับผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการผลงานของกรมศิลปากร เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึกและหนังสือกรมศิลปากร ลดราคาพิเศษ ร่วมฟังการเสวนาวิชาการ พร้อมรับชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี โดยสำนักการสังคีต สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จนถึงวันที่ ๒๙ มีนาคมนี้







(จำนวนผู้เข้าชม 188 ครั้ง)