...

เหรียญราชนิยม บำเหน็จแห่งความกล้าหาญ
          ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานนั้นอยู่ตลอดไป เฉกเช่นคุณงามความดีที่เราต่างได้กระทำ นอกจากจะปรากฎแก่ตัวเราเองแล้ว ก็จะยังได้รับการกล่าวขานยกย่องสรรเสริญสืบไปนานเท่านานด้วย สำหรับวันนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง “เหรียญราชนิยม” อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความกล้าหาญที่สมควรแก่การเชิดชู
          เหรียญราชนิยม (The Rajaniyom Medal) เป็นหนึ่งในเหรียญราชอิสริยาภรณ์ซึ่งนับเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ได้แก่ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ทหาร พลตระเวน เสือป่าและลูกเสือ ตลอดจนบุคคลทั่วไป และสำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ทั้งนี้ เหรียญราชนิยมเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในความกล้าหาญ 
เหรียญราชนิยม (ซ้าย) พ.ศ. 2455 (ขวา) พ.ศ. 2484
 
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญนี้ขึ้นสำหรับพระราชทานแก่ผู้ทำหน้าที่พลเมืองดีแสดงความกล้าหาญช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ โดยฝ่าอันตรายหรือช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นอันตรายต่าง ๆ โดยไม่เกรงกลัวภัยที่จะเกิดแก่ชีวิตของตนเอง โดยมิใช่เพราะความจำเป็นตามตำแหน่งหน้าที่ของผู้นั้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม รัตนโกสินทรศก 131” ขึ้น เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2455 ตามความตอนหนึ่งว่า
 
“...ผู้ที่ได้กระทำน่าที่พลเมืองดี ให้เปนประโยชน์แก่การปกครองท้องที่ หรือแก่เพื่อนมนุษย์ จะเปนผู้มียศบรรดาศักดิ์ชั้นใด ๆ ฤๅจะเปนสามัญชนก็ดี สมควรที่จะได้รับพระมหากรุณาเปนพิเศษส่วนหนึ่ง แสดงให้ปรากฎซึ่งพระราชนิยมในผู้ที่ประพฤติตนเปนพลเมืองดี แลมีความกล้าหาญอันบังเกิดแต่ความกรุณาแก่เพื่อนมนุษย์เปนที่ตั้ง จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้สร้างเหรียญขึ้นใหม่ สำหรับพระราชทานแก่ผู้มีความชอบดังที่กล่าวมานี้...”
 
          เหรียญพระราชนิยม ใช้อักษรย่อ “ร.น.” สัณฐานเป็นลักษณะรูปกลม ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรจารึกพระนามาภิไธยว่า “มหาราชา ปรเมนทรมหาวชิราวุโธ สยามรัชกาล พุทธสาสนุปัตถัมภโก” ด้านหลังมีอักษรจารึกว่า “ทรงพระราชนิยมพระราชทาน” มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 มิลลิเมตร วงรอบประมาณ 97 มิลลิเมตร หนาราว ๆ 2 มิลลิเมตร ห้อยกับแพรแถบสีดำและสีเหลือง สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ตรงข้ามกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญอย่างอื่น
          ใน พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม รัตนโกสินทรศก 131 ที่ออกเมื่อ พ.ศ. 2455 และให้ตรา “พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม พุทธศักราช 2484” ขึ้นใช้แทน โดยมีการปรับรายละเอียดของเหรียญ และเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องของการพระราชทานและการเรียกคืนเหรียญ สำหรับเหรียญราชนิยมตามพระราชบัญญัติ ปีพุทธศักราช 2484 นี้จะต่างจากเดิม คือ เป็นเหรียญกลมเงิน ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีอักษรจารึกช้อความใดๆ ส่วนด้านหลังจารึกอักษรว่า “ทรงพระราชนิยมพระราชทาน” ข้างบนมีห่วงห้อยกับแพรแถบกว้าง 3 เซนติเมตร สีดำและสีเหลือง ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ทั้งนี้สำหรับพระราชทานสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าขวา
          การพระราชทานเหรียญราชนิยมสำหรับผู้ที่ได้กระทำความชอบตามสมควรที่จะได้รับพระราชทานนั้น โดยปกติจะเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่นำความชอบเสนอเป็นลำดับขั้นตอนมาจนถึงเจ้ากระทรวง และให้เจ้ากระทรวงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บางกรณี หากเจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ไม่ได้นำความทราบบังคมทูล แต่หากทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาโดยทางอื่น และทรงพระราชดำริเห็นสมควรแล้ว ก็จะทรงพระกรุณาพระราชทานเหรียญราชนิยมได้เหมือนกัน 
          การพระราชทานเหรียญราชนิยม จะพระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ให้ทายาทโดยธรรมรักษาไว้เป็นที่ระลึก แต่ถ้าผู้ได้รับหรือทายาทโดยธรรมของผู้รับกระทำผิดอย่างร้ายแรง หรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใดๆ จะต้องใช้ราคาเหรียญนี้แก่ทางราชการตามราคาที่กำหนด เหรียญพระราชนิยมไม่มีประกาศนียบัตรกำกับ แต่จะมีการประกาศคุณความดีความชอบของผู้นั้นในราชกิจจานุเบกษา
          นอกจากจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และส่งเหรียญพระราชนิยมไปพระราชทานตามที่เจ้ากระทรวงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ก็ยังมีการเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเหรียญราชนิยมต่อหน้า  พระพักตร์ด้วย เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2456 ในคราวที่ลูกเสือโทฝ้าย เด็กชายวัย 14 แห่งกองร้อยที่ 1 มณฑลชุมพร ได้โดยสารเรือกลไฟบางเบิดจากพระนครกลับบ้านเกิด ระหว่างทางเรือได้อับปางลงกลางทะเล เขาได้ช่วยชีวิตชายชราและเด็กหญิงให้พ้นอันตรายถึง 2 คน วีรกรรมของลูกเสือโทฝ้ายทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชนิยมแก่ลูกเสือโทฝ้ายเพื่อเป็นเกียรติยศในการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นภัย เมื่อวันที่ 10 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ณ สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสชมเชยและแสดงความพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในความกล้าหาญ และความประพฤติของลูกเสือโทฝ้าย ซึ่งสมควรที่ลูกเสือทั้งหลายจะดูไว้เป็นเยี่ยงอย่างและประพฤติตามให้สมนามแก่ที่เป็นลูกเสือและลูกผู้ชาย ในการนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่ลูกเสือโทฝ้าย ด้วยว่า “บุญเลี้ยง” ซึ่งต่อมาลูกเสือโทฝ้าย บุญเลี้ยงได้เจริญวัย จนรับราชการครู มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนวรศาสนดรุณกิจ จากนั้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ถือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรุ่นแรกของสยาม


พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม รัตนโกสินทร ศก 131 
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/A/211.PDF

ขุนวรศาสนดรุณกิจ (ฝ้าย บุญเลี้ยง)
 
          ปัจจุบันเหรียญพระราชนิยมเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทานไปแล้ว โดยมีการประกาศรายชื่อและคุณความดีของผู้ได้รับพระราชทานรายสุดท้าย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 80 ตอนที่ 76 ตามแจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชนิยม ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 มีเนื้อความดังนี้ “...ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชนิยม แก่พลทหารเตี๋ยม ฟูสกุล สังกัดกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ ซึ่งได้ช่วยเหลือนางสอาด สิทธิเพียร ให้รอดพ้นอันตรายจากการจมน้ำตายในแม่น้ำเจ้าพระยา เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี...”
 
          ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมหนังสือเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย และราชกิจจานุเบกษา ประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ได้ที่ ห้องบริการหนังสือประเทศไทย หนังสือนานาชาติ และราชกิจจานุเบกษา ชั้น 3 อาคาร 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ
 
 
 
 
---------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
“แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชนิยม.”  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 80 ตอนที่ 76.  (30 กรกฎาคม 2506): 1879.
ชยุต ศาตะโยธิน.  เหรียญราชนิยม รัชกาลที่ 6.  [ออนไลน์].  สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2565, เข้าถึงได้จาก: http://doh.hpc.go.th/bs/issueDisplay.php?id=410&category=S00&issue=Wild%20Tiger
ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระ.  ตำนานเครื่องราชอิศริยาภรณ์สยาม.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2558.  (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558).
“พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม พุทธศักราช 2484.”  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 58.  (12 พฤศจิกายน 2484): 1586-1588.
“พระราชบัญญัติเหรียญราชนิยม รัตนโกสินทร ศก 131.”  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่มที่ 23.  (29 กันยายน ร.ศ. 131): 211-213.
สวนะ ศุภวรรณกิจ.  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย.  พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2514.  (พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเสรี ธรรมวิทย์ ท.ม.,ต.ช. ณ เมรุวัดธาตุทอง 4 เมษายน 2514).
_______.  ราชอิสริยาภรณ์ไทย.  กรุงเทพฯ: รุ้ง, 2522.  
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย.  กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2526.  (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของสำนักนายกรัฐมนตรี ณ วัดชนะสงคราม แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2526).
_______.  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย = Royal orders and decorations of the Kingdom of Thailand.  กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2530.
อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ.  “ขุนวรศาสนดรุณกิจ: ครูผู้รอดขีวิตและปิดฉากชีวิตกลางท้องทะเลอ่าวไทย,” รูสมิแล 37, 3 (กันยายน-ธันวาคม 2559): 53-62.
 
--------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย : นายสุวิชา โพธิ์คำ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
--------------------------------------------------
 
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร
 

(จำนวนผู้เข้าชม 2681 ครั้ง)