...

พะหมี : ปริศนาคำทาย
          พะหมี หรือผะหมี เป็นการเล่นปริศนาคำทาย พระเจนจีนอักษรอธิบายว่าคำนี้เป็นคำมาจากภาษาจีน คำว่า ผะ หมายถึง การตี ทำให้แตก หมี หมายถึง คำอำพราง รวมความแล้วผะหมีก็คือการตีปัญหาให้แตก หรือการเล่นทายปริศนานั่นเอง
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวังจัดงานฤดูหนาวขึ้น ในปี 2462 ณ พระราชวังอุทยานวังสราญรมย์ มีการจัดออกร้าน ค้าขาย การแสดงต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือร้านพะหมี โดยมีพระสมัคร์ราชกิจ (หม่อมหลวงสายัณห์ อิศรเสนา) เป็นเจ้าหน้าที่ ลักษณะภายในร้านเป็นห้องโถง ตรงกลางห้องจัดเป็นห้องรับแขกสวยงาม มีฝาห้อง 3 ด้าน สำหรับแขวนกระดานชนวนที่เป็นคำถาม และด้านที่ติดถนนมีผ้าม่านรูดปิดเปิด โดยด้านในตรงกลางทำช่องเหมือนช่องขายตั๋วรถไฟ มีทางเข้าออกของเจ้าหน้าที่ ผู้ใดที่จะเล่นสามารถเดินดูข้อความบนกระดานชนวน เมื่อคิดคำตอบและแน่ใจว่าจะทายก็นำกระดานชนวนแผ่นนั้นยื่นให้กับเจ้าหน้าที่พร้อมกับเสียค่าธรรมเนียม 1 บาท เจ้าหน้าที่จะทวนคำทาย เลขลำดับคำทายและให้ผู้เล่นตอบ เมื่อถึงเวลาเปิดซองคำเฉลยระหว่างนั้นจะมีเสียงตีกลองรัว ถ้าตอบถูกหลังเสียงรัวกลองจะมีเสียงดัง ตุ้ง พร้อมแสงไฟสว่างและของรางวัลยื่นออกมา แต่ถ้าทายผิดหลังเสียงรัวกลองจะมีเสียงดัง แก๊ก ของไม้กลองที่ตีโดนข้างกลอง และไฟจะมืดลง สำหรับคำทายนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงให้พระบรมวงศานุวงศ์หลายท่านช่วยตั้งปัญหามาสำรองไว้มากมาย มีทั้งคำโคลง และร้อยแก้ว ยกตัวอย่างเช่น คำทาย : เป็นชื่อ 2 พยางค์ พยางค์ที่ 1 หมายถึง สิ่งที่คนบูชากราบไหว้ พยางค์ที่ 2 หมายถึง รุ่งเรืองพรายแสง คำตอบ : พระร่วง เป็นต้น ในส่วนของรางวัลนั้นเป็นประเภทของชำร่วยมีราคา นอกจากนี้พระองค์ทรงตั้งคำทายพิเศษไว้ว่า “ใครเก่งที่สุดในโลก” มีของรางวัลเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนทองคำ ซึ่งคำถามนี้ได้รับความสนใจมากมายและได้ค่าธรรมเนียมสูงสุด จนกระทั่งก่อนงานจบ นายสนิทหุ้มแพร (บุญมา หิรัณยะมาน) ได้ตอบคำทายนี้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกโกรธที่โดนถามซ้ำจากเจ้าหน้าที่ จึงตอบว่า “บอกว่าไม่รู้ ไม่รู้ ยังถามอยู่ได้” และนั่นก็คือคำตอบที่ถูกต้อง
         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับคำทายนี้ว่า “การที่ฉันตั้งกระทู้พะหมี ถามว่า “ใครเก่งที่สุดในโลก” ครั้งนี้ก็เพราะจะลองดีพวกถืออวดดี อวดว่า อะไรๆ ฉันก็รู้ทั้งนั้น บางท่านก็ตอบว่าพระพุทธเจ้าก็มี ฉันและใครๆ ก็คงไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า พระพุทธเจ้าจะเคยสู้รบกับพระเยซูหรือพระมะหะหมัดมาบ้างแล้วหรือไม่ ฉะนั้นจะมีทางรู้ได้อย่างไร? ...บรรดาคนที่ถูกยกย่องว่าเป็นผู้รู้ หรือนักปราชญ์ นั้นดูจะพูดคำว่า ไม่รู้ ไม่ได้เอาเสียเลย... นับเป็นเรื่องที่ฉันมีความรำคาญใจมานานแล้ว”
ภาพ : การเล่นพะหมี
 
ภาพ : การอธิบายกติกาการเล่นพะหมี

---------------------------------------------------------
รายการอ้างอิง
พระราชนิพนธ์ ปริศนาคำโคลงและความเรียง.  พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2481.
สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์,  2524.  
วัฒนะ บุญจับ.  “พะหมี : ปริศนาแบบสหวิทยาบูรณาการ,” วชิราวุธานุสรณ์สาร 30, 2 (6 เมษายน 2554): 29-42.

---------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย : นางสาวพีรญา ทองโสภณ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ

--------------------------------------------------------
*เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์ โดยกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 4180 ครั้ง)