ลาวโซ่ง ลาวทรงดำ หรือ ไทยทรงดำ เป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สิบสองจุไทย หรือ เมืองแถง อยู่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม และถูกกวาดต้อนเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มชาวลาวโซ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันกลุ่มชาวลาวโซ่งมีการเคลื่อนย้ายและตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น
          เรือนลาวโซ่งทำจากวัสดุธรรมชาติ เป็นเรือนมีใต้ถุนสูง ตัวเสาเรือนทำจากไม้เนื้อแข็งทั้งต้นที่มีง่ามสำหรับวางคาน พื้นบ้านใช้ไม้กระดานหรือใช้ฟากที่ทำจากไม้ไผ่ทุบเป็นแผ่นแล้วปูแผ่ หลังคามุงด้วยหน้าแฝกด้านหน้าและด้านหลังเป็นทรงโค้งมาเสมอกับชายคา และลาดต่ำคลุมลงมาถึงพื้นเรือนรอบผนังบ้านทุกด้าน ยอดจั่วประดับไม้แกะสลักคล้ายเขากวางไขว้ เรียกว่า “ขอกุด” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนลาวโซ่ง เนื่องจากถิ่นฐานเดิมของลาวโซ่งอยู่ในเขตหนาวมาก่อน การทำผนังลาดต่ำจึงช่วยป้องกันลมหนาวได้
          การแบ่งพื้นที่การใช้งานภายในบ้าน บริเวณใต้ถุนบ้านใช้สำหรับเป็นพื้นที่ทอผ้า ตำข้าว สีข้าว เลี้ยงหมู เก็บเครื่องใช้ในการทำนาและจับปลา มีบันไดขึ้นที่ทางชานหน้าบ้าน มีผนังด้านสกัดกั้นภายในบ้านกับชานบ้าน ภายในบ้านไม่มีการกั้นห้องแต่มีการแบ่งพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร รับประทานอาหาร และที่นอน มุมของเสาบ้านเป็นที่เซ่นไหว้ผีเรือนทุกวันที่ ๕ และ ๑๐ วัน เรียกว่า “ปาดตง” โดยมีขันน้ำและชามข้าววางอยู่
          สิ่งสำคัญที่คู่กับเรือนลาวโซ่งคือ ยุ้งข้าว สำหรับเก็บข้าวเปลือก ซึ่งมีขนาดและรูปทรงคล้ายตัวบ้าน อาจมีสะพานทอดเดินถึงกันได้ และที่สำคัญคือ มีฝาผนังที่สามารถเปิดเพื่อขนข้าวได้ มีพื้นสูงกว่าพื้นเรือน อาจเป็นเพราะชาวลาวโซ่งถือว่าข้าวมีพระแม่โพสพ ต้องเทิดทูนไว้ให้สูงกว่าบ้าน
          ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เป็นที่ตั้งของเรือนลาวโซ่งที่มีความสมบูรณ์ เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนชาติพันธุ์ลาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) อย่างแท้จริง จำนวน ๒ หลัง ได้แก่ เรือนผู้ท้าว ซึ่งเป็นเรือนหลักสำหรับพักอาศัยและประกอบพิธีกรรม และเรือนยุ้งข้าว นอกจากนั้นยังจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี และความเชื่อของชาวลาวโซ่ง อีกด้วย
------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
บังอร ปิยพันธุ์. ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๑.
ธิดา ชมพูนิช. การศึกษาศิลปหัตถกรรมไทยโซ่งในจังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครปฐม, ๒๕๓๙.
-------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
https://www.facebook.com/153378118193282/posts/1831062817091462/
 

(จำนวนผู้เข้าชม 19203 ครั้ง)

Messenger