ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง
ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง
 ประเพณีสงกรานต์ หรือที่รู้จักกันดีว่าคือวันขึ้นปีใหม่ไทย หมายถึงการขึ้นศักราชใหม่หรือปีใหม่ตามปฏิทินสุริยคติ โดยคำว่า สงกรานต์ เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายไป ในที่นี้คือ การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ถือเป็นการเคลื่อนที่สำคัญ จึงเรียกว่า มหาสงกรานต์
ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้ประกาศให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ตามหลักสากล คือ วันที่ ๑ มกราคม ส่วนเทศกาลสงกรานต์หรือการขึ้นปีใหม่แบบเดิม ได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน ของทุกปี
 ประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนา ตรงกับเดือน ๗ ของทางเหนือ ชาวไทยถิ่นเหนือเรียกว่า วันสังขานต์ล่อง ซึ่งมีความหมายเหมือนคำว่าสงกรานต์
กิจกรรมที่ชาวล้านนาปฏิบัติกันในวันสงกรานต์ เริ่มจากวันแรก คือ วันสังขานต์ล่อง ชาวบ้านจะตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ บางบ้านมีการยิงปืนไล่สิ่งอวมงคล จุดประทัด เนื่องจากมีความเชื่อว่าในตอนเช้ามืดของวันดังกล่าว ปู่สังขานต์หรือย่าสังขานต์จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดงสยายผมล่องแพไปตามลำน้ำและนำสิ่งไม่พึงปรารถนาติดตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืนหรือจุดประทัดหรือทำให้เกิดเสียงดังต่าง ๆ เพื่อไล่สังขานต์ บางความเชื่อกล่าวว่า ในวันดังกล่าวปู่สังขานต์หรือย่าสังขานต์จะมาช่วงดึกหรือใกล้รุ่ง หาบกระบุงมาเก็บเอาความไม่ดีไม่งามและเสนียดจัญไร จึงมีการยิงปืนหรือจุดประทัดขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ออกไป ทั้งยังเชื่อกันว่าการใช้อาวุธยิงในวันสังขานต์ล่องจะทำให้อาวุธนั้นมีฤทธิ์มีเดชมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติว่าในวันนี้ช่วงเช้าตรู่หรือช่วงสาย จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ซักเสื้อผ้า เก็บกวาดขยะต่าง ๆ ทำความสะอาดร่างกายและสระผม นำผ้าห่ม หมอน มุ้ง ออกไปซัก ทำจิตใจให้ผ่องใส เมื่อเสร็จแล้วผู้คนจะนิยมไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ
 วันที่สอง คือ วันขนทราย หรือเรียกว่า วันเน่าหรือวันเนาว์ ตามภาษาเขมรหมายถึง อยู่ ในวันดังกล่าวผู้คนจะไม่ด่าทอหรือทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล และออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อไปจ่ายตลาดเตรียมทำอาหารไว้ทำบุญถวายพระในวันรุ่งขึ้น ส่วนช่วงบ่ายเป็นการขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย ตกแต่งด้วยธงริ้วสีต่าง ๆ ธงนี้ชาวล้านนาเรียกว่า "ตุง" ทำด้วยกระดาษสี ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชายธงและรูปต่าง ๆ ติดปลายไม้สำหรับปักบริเวณที่ก่อเจดีย์ทราย บางท้องที่จะนำตุงไปปักเจดีย์ทรายในวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังนิยมเล่นน้ำกันวันนี้อีกด้วย
 วันที่สาม คือ วันเถลิงศก หรือวันพญาวัน คือวันขึ้นปีใหม่และเปลี่ยนปีศักราช ช่วงเช้าตรู่จะมีการทำบุญทางศาสนา ชาวบ้านจะนำสำรับอาหารคาวหวานไปทำบุญถวายพระที่วัด เรียกว่า “ตานขันข้าว” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับ รวมทั้งจัดสำรับอาหารไปมอบให้บิดา มารดา ปู่ย่าตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือบุคคลที่เคารพนับถือ เรียกว่า “ตานขันข้าวคนเฒ่าคนแก่” พร้อมทั้งน้ำขมิ้นส้มป่อยไปรดน้ำดำหัว เพื่อเป็นการขอขมาในสิ่งที่เคยล่วงเกิน และผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะให้พร
 นอกจากสำรับที่เตรียมไปทำบุญแล้ว แต่ละบ้านจะนำตุงหรือธงไปปักบนเจดีย์ทราย บางบ้านอาจเตรียมไม้ง่ามไปถวายสำหรับค้ำต้นโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์ในการช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป วันพญาวันถือเป็นวันที่ดีที่สุดของปีจึงมักประกอบพิธีมงคลกันในวันนี้ เช่น การขึ้นบ้านใหม่
 ประเพณีสงกรานต์แบบชาวล้านนายังมีต่อถึงวันที่สี่ คือ วันปากปี โดยวันนี้ยังคงเป็นวันที่มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีความเชื่อเรื่องการรับประทานแกงขนุน จะทำให้มีผู้ค้ำหนุนชีวิตให้เจริญ ส่วนวันที่ห้าคือวันปากเดือน มีการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ เช่น สะเดาะเคราะห์  ส่งเคราะห์ และบูชาเทียน เป็นต้น
ผู้เรียบเรียง : นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
อ้างอิง :
๑. สรัสวดี อ๋องสกุล. ๒๕๖๒. “ความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ในสังคมวัฒนธรรมล้านนา.” ใน วงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ (บรรณาธิการ). เชียงใหม่ นครแห่งอมต. เชียงใหม่ : บริษัท วิทอินดีไซน์ จำกัด, ๑๐๕-๑๑๕.
๒. นิรันดร ชัยนาม. ๒๕๑๒. "ประเพณีตรุษสงกรานต์และดำหัว." ใน ประเพณีและวัฒนธรรมของเชียงใหม่และลานนาไทยกับการถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอาคันตุกะ.พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, ๑๑-๑๖.
๓. เรณู อรรฐาเมศร์. ๒๕๓๘. “สงกรานต์ : ประเพณีแห่งความกตัญญู.” ชีวิตไทย ชุด ฮีตฮอยเฮา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๒๑-๒๓๒.









(จำนวนผู้เข้าชม 5725 ครั้ง)