...

กำแพงเมืองกาญจนบุรี และ ประตูเมืองทิศตะวันตก

          เมืองกาญจนบุรีปัจจุบัน เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงโปรดฯให้ย้ายที่ตั้งเมืองจากลาดหญ้า มาตั้งบริเวณปากแพรก ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำแควน้อยกับ แม่น้ำแควใหญ่ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง เพื่อประโยชน์ในการรับศึกฝั่งพม่า โดยทรงโปรดฯให้ พระยาประสิทธิสงคราม เจ้าเมืองกาญจนบุรี เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างกำแพงเมือง และมีพิธีวางศิลาฤกษ์กำแพงเมืองในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๔
          กำแพงเมืองกาญจนบุรี มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนานไปกับแม่น้ำแม่กลอง ขนาดกว้าง ๒๑๐ เมตร ยาว ๔๙๔ เมตร กำแพงเมืองก่ออิฐฉาบปูน สูงประมาณ ๔ เมตร บนกำแพงมีใบบังสี่เหลี่ยม มีป้อมหกเหลี่ยมประจำมุมกำแพงทั้ง ๔ มุม และมีป้อมที่กึ่งกลางกำแพงฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ฝั่งละหนึ่งป้อม รวมทั้งหมด ๖ ป้อม มีประตูเมืองทั้งหมด ๘ ประตู
          กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนกำแพงเมืองกาญจนบุรีเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๖๘๙ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซม จำนวน ๔ ครั้ง ดังนี้
          ๑) พ.ศ. ๒๕๓๙ บูรณะประตูเมือง และกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกส่วนที่อยู่ในโรงเรียน กาญจนานุเคราะห์
          ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗ บูรณะกำแพงเมืองความยาว ๒๑๐ เมตร
          ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘ กรมศิลปากร ร่วมกับเทศบาลเมืองกาญจนบุรี และสำ
www.facebook.comนักงานทางหลวงชนบท จังหวัดกาญจนบุรี บูรณะเสริมความมั่นคงกำแพงและป้อมกึ่งกลางกำแพง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณประตูเมือง และลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๓
          ๔) พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ดำเนินโครงการขุดศึกษาและบูรณะโบราณสถานกำแพงเมืองบางส่วน ดังสภาพ ที่ปรากฏในปัจจุบัน










——————————————————
ที่มาของข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี

www.facebook.com

(จำนวนผู้เข้าชม 1786 ครั้ง)