...

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

           พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๑ เวลา ๕ นาฬิกา ณ พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมและทรงเริ่มศึกษาที่สำนักวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) จากนั้นทรงศึกษาที่หอพระมณเฑียรธรรม ในพระบรมมหาราชวัง ทรงเรียนทั้งวิชาปืนและการทรงช้างทรงม้า เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ ในปีถัดมาทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๓๗๒ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ กล่าวกันว่าทรงประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักในวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร
          ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ (ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๒๔ พรรษา) ทรงบังคับบัญชากรมทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง และญวนอาสารบ แขกอาสาจาม พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คือทรงเป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองทัพเรือไปรบกับฝ่ายญวนที่เมืองบันทายมาศ (เมืองฮาเตียน) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔
          ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระองค์โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงมีพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ ดำรงตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล อีกทั้งยังมีการแก้ระเบียบราชประเพณีบางประการเพื่อให้สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิ พระราชพิธีอุปราชาภิเษก ให้เรียกว่า “พระราชพิธีบวรราชาภิเษก” คำสั่งของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่เดิมใช้คำว่า “บัณฑูร” ให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “พระบวรราชโองการ” เป็นต้น
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับอยู่ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ทรงโปรดให้ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมและปฏิสังขรณ์อาคารพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ อาทิ โปรดให้ซ่อมตำหนักฝ่ายในทั้งหมด ป้อมประตูเครื่องไม้ที่ทรุดโทรม ทรงเปลี่ยนมาเป็นป้อมประตูก่ออิฐถือปูนแทน และย้ายตำหนักแดงจากพระราชวังเดิมมาปลูกขึ้นใหม่ในพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนอาคารสร้างขึ้นใหม่ได้แก่ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และพระที่นั่งเอกอลงกฎ ลักษณะเป็นอาคารโถง มีเกยอยู่ด้านหน้า สร้างตามแบบพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งคชกรรมประเวศตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ลักษณะเป็นอาคารยอดปราสาท คล้ายกับพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนที่ประทับของพระองค์ โปรดให้สร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบฝรั่ง มีนามว่า “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” ลักษณะเป็นอาคารสองชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าอาคารและภายในอาคาร ส่วนที่ประทับของพระองค์อยู่ชั้นบน แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกคือห้องสมุดและห้องทรงพระอักษร ส่วนที่สองคือห้องรับแขก ส่วนที่สามคือห้องเสวย (ต่อมาเป็นห้องประดิษฐานพระบรมอัฐิ) ส่วนที่สี่คือ ห้องพระบรรทมและห้องฉลองพระองค์และสรงพระพักตร์

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

          จากการที่พระองค์ทรงงานที่เกี่ยวกับการทหาร จึงมีการสร้างโรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพาวุธ และตึกดิน บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก และพื้นที่บริเวณริมน้ำโปรดให้สร้างเป็นโรงทหารเรือ อีกทั้งโปรดให้สร้างพลับพลาสูง บริเวณกำแพงด้านทิศตะวันออกของพระราชวังบวรสถานมงคล สำหรับทอดพระเนตรการฝึกซ้อมทหาร โดยสร้างตามแบบพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ในพระบรมมหาราชวัง
          พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีอยู่หลายประการ ทั้งด้านการทหาร ด้านศาสนา ด้านการดนตรีและวรรณกรรม กล่าวคือ ในด้านการทหารนั้นพระองค์ทรงว่าจ้างนายทหารอังกฤษ ชื่อ โทมัส ยอร์ช น็อกส์ (Thomas George Knox) มาฝึกทหารปืนใหญ่ในวังหน้า ในขณะที่ด้านกิจการทหารเรือ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือพระองค์แรก และได้ปูพื้นฐานการจัดการด้านทหารเรือให้เป็นไปตามแบบอย่างสากลของอารยประเทศ ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือ พระองค์ทรงศึกษาวิธีการต่อเรือจากชาวต่างประเทศ เรือที่พระองค์ทรงต่อขึ้นสำเร็จในช่วง พ.ศ. ๒๔๐๖ มีนามว่า เรือยงยศอโยชฌิยา รวมทั้งพระองค์ทรงสั่งซื้อเรือจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในสังกัดวังหน้าเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พระองค์ทรงมีกองทัพเรือของพระองค์เอง เรียกว่าทหารเรือวังหน้า


เรือยงยศอโยชฌิยาจำลอง

          พระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านการศาสนา พระองค์โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดหงสาราม (วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร) วัดศรีสุดารามวรวิหาร วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) และวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
          พระราชกรณียกิจด้านการดนตรีและวรรณกรรม เป็นผลสืบเนื่องจากพระองค์ทรงโปรดการดนตรีและนาฏศิลป์ กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็ก จัดให้เล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ และยังคงเป็นแบบแผนที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระองค์ทรงอุปการะศิลปินอยู่หลายท่าน เช่น สุนทรภู่ (บรรดาศักดิ์ สุนทรโวหาร) ครูมีแขก (บรรดาศักดิ์ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) และ คุณพุ่ม (ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) กวีหญิงในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ ๓-๕) พระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกประการหนึ่งคือ การทรงแคน แอ่วลาว ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนแอ่วลาวไว้อยู่หลายฉบับ เช่น บทแอ่วเรื่องนิทานนายคำสอน เป็นต้น



ระนาดทุ้มเหล็ก



แคนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า และสมุดไทย (จำลอง) พระราชนิพนธ์เรื่องนิทานนายคำสอน

          ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอาการประชวรด้วยโรควัณโรค พ.ศ. ๒๔๐๘ พระอาการประชวรก็ทรุดหนักลงตามลำดับ ทำให้พระองค์ต้องเสด็จกลับจากวังสีทา เมืองสระบุรี กลับมาประทับที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพระบวรราชวัง กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ เวลาเช้าย่ำรุ่งแล้ว ๓ นาฬิกากับ ๓ บาท ตรงกับวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปสรงน้ำพระบรมศพ เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมศพสถิตอยู่ในพระโกศทองคำ จากนั้นจึงแห่มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการเฉพาะสังกัดกับฝ่ายพระบวรราชวังโกนศีรษะเท่านั้น
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระศพว่า “พระบรมศพ” และให้จัดงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมือนงานพระบรมศพเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายหลังเสร็จสิ้นงานพระบรมศพ ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระอัฐิกรมพระราชวังบวร ๔ พระองค์ ไปประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐



ตู้ประดิษฐานพระบรมอัฐิ บนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

------------------------------------------------------------
อ้างอิง
กรมศิลปากร. กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: โพรดักส์, ๒๕๔๙. . พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, ๒๕๕๖.

(จำนวนผู้เข้าชม 756 ครั้ง)