...

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

          วันศุกร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และคณะ ตรวจเยี่ยมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนางสาวสุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับและรายงานการดำเนินการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับโบราณสถาน ณ วัดไชยวัฒนาราม พร้อมตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำโบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส วัดธรรมาราม โบราณสถานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร และโบราณสถานป้อมเพชร



          เนื่องจากอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลาง ที่มีแม่น้ำ ๓ สาย ไหล ผ่าน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี จึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุทกภัยมาตั้งแต่อดีต ยังคงปรากฏความเสี่ยงด้านต่างๆ รวมถึงอุทกภัยที่อาจมีผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก กรมศิลปากรจึงได้บรรจุแผนงานมาตรการลดผลกระทบจากภัยพิบัติไว้ในร่างแผนปฏิบัติการการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พุทธศักราช ๒๕๖๕ – ๒๕๗๔ โดยปัจจุบัน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินงานตามมาตรการป้องกันผลกระทบจากภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่มรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรี อยุธยา มีการบริหารจัดการเป็นขั้นตอน การประเมินความเสี่ยง มีการวิเคราะห์ปัญหาและทำแผนการทำงานร่วมกับ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการเตรียมความพร้อมป้องกัน แก้ไขปัญหา และมาตรการบรรเทาภัยพิบัติจากอุทกภัย รวมทั้งซักซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธรณภัยในกรณีอุทกภัย
           สำหรับมาตรการการป้องกันอุทกภัยในระดับพื้นที่โดยวิธีการสร้างเขื่อน แนวป้องกันน้ำท่วม เป็น ภารกิจที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาดำเนินงานเป็นประจำในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับที่สูงขึ้นเนื่องจากน้ำจากทางเหนือ และน้ำจากเขื่อนสำคัญที่ปล่อยลงมาเพื่อลงสู่ทะเลมีปริมาณที่มากกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่และโบราณสถานสำคัญที่อยู่ใกล้ชิดแม่น้ำและเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยในทุกปีจะมีการซักซ้อมการตั้งแผงป้องกัน น้ำท่วม การตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งานเสมอ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานร่วมกับสำนักงาน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และวิธีการป้องกันภัย และประสานงานร่วมกับกรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา ในการวางแผนป้องกันพื้นที่ โดยพื้นที่โบราณสถานและสถานที่สำคัญที่มีการดำเนินงานป้องกันอุทกภัย ได้แก่
          ๑. โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ใช้วิธีการป้องกันน้ำท่วมโดยวิธีการตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมรูปแบบที่ สามารถยกตั้งขึ้นและพับเก็บได้บริเวณด้านตะวันออกของวัดริมแม่น้ำ แนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาว ๑๖๐ เมตร สูงจากผิวบนสุดของขอบตลิ่ง ๑.๘๐ เมตร และสามารถต่อความสูง เพิ่มเติมเป็น ๒.๘๐ เมตร ส่วนด้านใต้ ด้านตะวันตก มีแนวกำแพงป้องกันน้ำถาวรก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนด้านเหนือใช้แนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔๖๙
          ๒. วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ใช้วิธีการป้องกันน้ำท่วมโดยวิธีการตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมรูปแบบที่สามารถ ยกตั้งขึ้นและพับเก็บได้ ป้องกันรอบเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสของวัด แนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาวประมาณ ๓๐๘ เมตร สูงจากพื้นประมาณ ๑.๗๐ เมตร
          ๓. วัดธรรมมาราม ใช้วิธีการป้องกันน้ำท่วมโดยวิธีการตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมรูปแบบที่สามารถยก ตั้งขึ้นและพับเก็บได้ป้องกันบริเวณด้านตะวันออกของวัด ริมแม่น้ำ แนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาวประมาณ ๑๓๐ เมตร สูงจากพื้นประมาณ ๑.๗๐ เมตร
          ๔. พื้นที่ด้านตะวันตกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา (บริเวณเจดีย์พระสุริโยทัย) ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ เจ้าพระยามีความแคบ ในช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปีระดับน้ำมักขึ้นสูง จนล้นระดับ แนวตลิ่ง ลักษณะของการป้องกันน้ำท่วมโดยตั้งแผงป้องกันรูปแบบที่สามารถยกตั้งขึ้นและพับเก็บได้ ป้องกัน บริเวณด้านตะวันตกของเกาะเมืองพระนครศรี อยุธยา แนวป้องกันน้ำท่วมมีความยาวประมาณ ๕๖๐ เมตร สูงจากพื้นประมาณ ๑.๗๐ เมตร
          ๕. วัดเชิงท่า ตั้งอยู่ด้านเหนือนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาริมคลองเมือง (แม่น้ำลพบุรี) ในช่วงฤดู น้ำหลากของทุกปีระดับน้ำมักขึ้นสูงจนล้นระดับแนวตลิ่ง ลักษณะของการป้องกันน้ำท่วมใช้วิธีการการตั้งแนวกระสอบทราย ป้องกันบริเวณด้านใต้และด้านตะวันตกของวัด
          ๖. พื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา (บริเวณหัวรอ) เป็นพื้นที่ชุมชนและ ย่านการค้าสำคัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก (คูขื่อหน้า) ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่น้ำล้นเข้าเมือง อีกทั้งยังเคยเป็นจุดแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่น้ำล้นเข้ามาพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ลักษณะของการป้องกันน้ำท่วมโดยการก่อสร้างแนวตลิ่งคอนกรีตยกสูงบริเวณริมตลิ่ง ป้องกันบริเวณด้านตะวันออกของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
          ๗. โบราณสถานป้อมเพชร เป็นจุดที่แม่น้ำป่าสักบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงฤดูน้ำหลากของทุก ปีระดับน้ำมักขึ้นสูงจนล้นระดับแนวตลิ่ง ลักษณะของการป้องกันน้ำท่วมใช้วิธีการตั้งแนวกระสอบทราย ป้องกันบริเวณด้านใต้ของพื้นที่
          ๘. โบราณสถานบ้านฮอลันดา อยู่ด้านใต้นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ลักษณะของการป้องกันน้ำ ท่วมใช้วิธีการตั้งแนวแผ่นป้องกันน้ำท่วมที่สามารถยกเก็บได้โดยรอบอาคารศูนย์ข้อมูล
          ๙. โบราณสถานบ้านโปรตุเกส อยู่ด้านใต้นอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ลักษณะของการป้องกัน น้ำท่วมใช้วิธีการตั้งแนวแผ่นคอนกรีตที่สามารถยกเก็บได้ ป้องกันบริเวณด้านตะวันออกของพื้นที่ แนวป้องกันน้ำท่วม มีความยาวประมาณ ๓๓ เมตร สูงจากพื้นประมาณ ๒ เมตร
          ทั้งนี้ หากพื้นที่โบราณสถานได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรี อยุธยา กรมศิลปากรมีมาตรการรองรับตามขั้นตอนและตามหลักการอนุรักษ์ต่อไป



ภาพ : โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม







ภาพ : โบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกส







ภาพ : วัดธรรมมาราม









ภาพ : โบราณสถานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร















ภาพ : โบราณสถานป้อมเพชร

(จำนวนผู้เข้าชม 1000 ครั้ง)


Messenger