...

กรมศิลปากรปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งสำคัญในรอบ ๔๐ ปี
          อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าโครงการปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องในวาระครบ ๔๐ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ซึ่งจะครบ ๔๐ ปี ในพุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้
          นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า นับแต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา เปิดให้บริการตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๕ ยังไม่เคยมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ ทำให้สภาพปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับลักษณะกายภาพของเมืองไชยา เปลี่ยนไปจากเดิม มีการปรับพื้นที่ขยายถนนด้านหน้า ทำให้พื้นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา มีสภาพเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมขังเป็นประจำเกือบทุกปี ส่งผลกระทบต่อโบราณวัตถุที่จัดแสดงและตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างมาก จึงได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรี ธรรมราช ศึกษาและจัดทำโครงการปรับปรุงพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ระยะเวลา ๓ ปี (ระหว่างปีงบประมาณ ๒๕๖๔ - ๒๕๖๖) งบประมาณทั้งสิ้น ๘๐ ล้านบาท เป้าหมายสำคัญคือจะดำเนินการซ่อมปรับปรุงพัฒนาอาคารหลังเดิม และสร้างอาคารจัดแสดงเพิ่ม ๑ หลัง พัฒนาการจัดแสดงนิทรรศการภายใน รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับพื้นที่ใช้สอยส่วนต่าง ๆ ตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ในระดับสากล สร้างความภาคภูมิใจแก่คนในชาติ และเป็นแหล่งศึกษามรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักท่องเที่ยวต่อไป โดยการจัดแสดงนิทรรศการ นอกจากจะจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และข้อมูลทางวิชาการ ที่แสดงถึงพัฒนาการทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในช่วงสมัยศรีวิชัยที่ปรากฏหลักฐานว่าเมืองไชยามีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางศาสนาและการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่กรมศิลปากรให้ความสำคัญและจะเพิ่มเติมในการจัดแสดงครั้งนี้คือเรื่องราวเกี่ยวกับท่านพุทธทาส ที่มีคุณูปการต่องานโบราณคดีและการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมในฐานะผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ท่านแรกอีกด้วย
          อธิบดีกรมศิลปากร ยังได้มอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ภัณฑารักษ์ และนักโบราณคดี ผู้รับผิดชอบการจัดทำบทจัดแสดงนิทรรศการ ให้นำองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและใกล้เคียง มานำเสนอเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ รวมทั้งสำรวจ รวบรวม โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงหรือเก็บรักษาในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่าง ๆ มาจัดแสดงประกอบในนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ซึ่งอาจเป็นลักษณะการขออนุมัติเคลื่อนย้ายกลับมาจัดแสดงถาวร หรือการยืมระหว่างพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสมต่อไป
          ทั้งนี้ ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารหลังใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ยังคงเปิดให้บริการผู้เข้าชมในอาคารจัดแสดงหลังที่ ๑ ได้ตามปกติ โดยงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๗๗๔๓ ๑๐๖๖ หรือ Facebook : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา
//การก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา เริ่มขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๗๘ โดยพระครูโสภณ เจตสิการาม อดีตเจ้าคณะอำเภอไชยา ได้รวบรวมศิลปโบราณวัตถุมาเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ พระวิหารหลวง และพระระเบียง ของวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ต่อมากรมศิลปากรได้พิจารณารับเป็นสาขาพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ เรียกชื่อในขนาดนั้นว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ครั้นต่อมา พุทธศักราช ๒๔๙๓ ท่านพระครูอินทปัญญาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยา ได้เริ่มสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้น โดยเงินส่วนหนึ่งได้จากการจำหน่ายหนังสือเรื่อง "แนวสังเขปโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน" ที่ท่านเป็นผู้เขียน มาใช้สำหรับสร้างอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบไทยประยุกต์แล้วเสร็จเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๙๕ ต่อมา พุทธศักราช ๒๔๙๙ กรมศิลปากรได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เพิ่มอีกหลังทางด้านทิศเหนือ เมื่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับพระวิหารหลวงของวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ชำรุดทรุดโทรม และทางวัดจะรื้อสร้างใหม่ จึงได้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งหมดจากวิหารหลวงนำไปเก็บและตั้งแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สร้างใหม่ ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ในปัจจุบัน โดยการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ครั้งนั้น ท่านพุทธทาสได้รับความช่วยเหลือดำเนินการจาก มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมศิลปากรอีกหลายท่าน
          ต่อมา ในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ กรมศิลปากรได้กราบบังคม ทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ในการนี้ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสิน ทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๕



ภาพ : จารึกพระนามาภิไธยเนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงยกฉัตรยอดพระบรมธาตุไชยาและทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา วันเสาร์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๒๕





ภาพ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ในปัจจุบัน





แบบทัศนียภาพอาคารจัดแสดงหลังใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา ซึ่งสถาปนิกได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบอุโบสถวัดจำปา ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของเมืองไชยา




ภาพ : นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจรับพัสดุโครงการปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้คำแนะนำการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา แก่ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช และข้าราชการ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔


--------------------------------------------------------------
ข่าว/ภาพ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 977 ครั้ง)


Messenger