...

จดหมายเหตุว่าด้วยเรื่อง"สายทางสามล้อไทย"
           เอกสารจดหมายเหตุมีความหลากหลายสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ลายลักษณ์ โสตทัศนจดหมายเหตุ แบบแปลน แผนผัง และสื่อวัสดุคอมพิวเตอร์
          "ปฏิทิน"นับเป็นเอกสารจดหมายเหตุชนิดหนึ่งที่ถูกจัดอยู่ในประเภทโสตทัศนจดหมายเหตุ นอกจากภาพ ฟิล์ม ส.ค.ส. โปสเตอร์ ฯลฯ
          "ปฏิทิน"บอกอะไรเราได้บ้าง? อาจมีใครบางคนสงสัย สำหรับผู้เขียนเองที่ได้มีโอกาสปฏิบัติงานหลากหลายหน้างาน จึงขอเปรียบเทียบปฏิทินว่าเหมือนบทคัดย่อหรือสาระสังเขป ที่บริษัทจัดทำปฏิทินได้นำเสนอในรูปแบบชุดความรู้แบบย่อที่ผ่านการวิเคราะห์จากเอกสารชั้นต้นและชั้นลอง แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการอ้างอิงให้ไปค้นคว้าต่อ
          "สายทางสามล้อไทย"เป็นปฏิทินขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ประจำปีพ.ศ.2537 ได้จัดทำไว้อย่างน่าสนใจว่า...
          บนสายทางของการเดินทาง หลากหลายพาหนะที่นำไปสู่จุดหมาย"สามล้อ"เป็นวิถีหนึ่งของสายทาง ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป หากสายทางของสามล้อก็ยังคงผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในสังคมไทยเป็นภาพลักษณ์ของความภูมิใจในความสามารถแห่งการประดิษฐ์ของคนไทย ที่นำไปประยุกต์เข้ากับการประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างกลมกลืน ได้เล่าถึงการกำเนิดสามล้อว่า...
          พ.ศ.2476 รถสามล้อได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมาโดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำ"รถลาก" หรือ"รถเจ๊ก"มาดัดแปลงร่วมกับรถจักรยาน รถสามล้อแบบนี้ถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อที่ใช้รับส่งผู้โดยสารแพร่หลายไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน           ในระยะเวลาต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นพาหนะอย่างอื่นให้สะดวกและรวดเร็วขึ้นตามประโยชน์ใช้สอย เช่นสามล้อเครื่อง ซาเล้ง ตุ๊ก-ตุ๊ก ทั้งแบบเดอลุกซ์และแบบสองแถว สามล้อเครื่องรถยนต์(ยังมีให้เห็นที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี)สกายแล็บ ไก่นา และอื่นๆ
          นอกจากปฏิทินชุดนี้ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีปฏิทินชุดอื่นๆอีกมากที่น่าสนใจ เพื่อนๆลองกลับไปค้นในกล่องเก็บหนังสือเก่าๆที่วางทิ้งไว้บนชั้น อาจพบเรื่องราวของปฏิทินเก่ามากมาย หรือเมื่อได้ชมจนเบื่อแล้ว อยากส่งต่อ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ยินดีรับมอบด้วยความเต็มใจยิ่งค่ะ





















------------------------------------------------------
ผู้เขียน : นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี นักจดหมายเหตุชำนาญการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
------------------------------------------------------
อ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี.ปท หจช จบ 148 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เรื่อง สายทางสามล้อไทย.พ.ศ.2537

(จำนวนผู้เข้าชม 944 ครั้ง)