...

ภาพสลักทับหลังโบราณสถานปราสาทนางบัวตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

          หากเอ่ยชื่อ "ปราสาทนางบัวตูม" หลายคนคงไม่คุ้นชื่อ เเต่สำหรับชาวอำเภอท่าตูม เเละผู้สนใจศึกษาปราสาทในวัฒนธรรมเขมรโบราณเเล้ว ปราสาทนางบัวตูมเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ปรากฏร่องรอยภาพสลักบนทับหลังที่น่าสนใจเเละควรได้รับการศึกษา
          แผนผังของโบราณสถานปราสาทนางบัวตูม เป็นปราสาทสามหลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน วางตัวตามแนวทิศเหนือ – ทิศใต้ หันด้านหน้าไปทางตะวันออก ก่อสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย สภาพโดยรวมของปราสาททั้งสามหลังนั้น มีประตูทางเข้าหลักด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนอีกสามด้านก่อปิดทึบเป็นรูปประตูหลอก ประตูทางเข้าของปราสาททั้งสามหลัง ยังคงเหลือกรอบประตูที่ทำจากหินทรายครบทั้งสามหลัง แต่ส่วนอื่นๆ อาทิ ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู หน้าบัน ได้พังทลายลงมาหมดแล้ว บนฐานของปราสาทสามหลังทางด้านทิศตะวันออก พบหลักฐานหินทรายที่เป็นส่วนประกอบ สถาปัตยกรรมที่สำคัญวางอยู่ ได้แก่ ชิ้นส่วนเสาประดับกรอบประตู จำนวน 8 ชิ้น ชิ้นส่วนแท่นรองประติมากรรมรูปเคารพ 1 ชิ้น และชิ้นส่วนทับหลัง 4 ชิ้น ทับหลังที่พบทั้ง 4 ชิ้น ที่ปราสาทนางบัวตูม สามารถศึกษากำหนดอายุได้ชัดเจน โดยพิจารณาจากลวดลายที่สลัก ดังนี้
          ทับหลังชิ้นที่1 สลักลวดลายเป็นรูปพระกฤษณะประลองกำลังหรือพระกฤษณะปราบช้างกุวัลยปิยะและสิงห์ ที่บริเวณกลางแผ่นทับหลัง สลักภาพเป็นพระกฤษณะยืนในท่ากำลังต่อสู้ พระหัตถ์ขวา จับช้าง พระหัตถ์ซ้ายจับสิงห์ เหนือหน้ากาลซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกจากด้านล่างของทับหลัง มือสองข้างของหน้ากาลจับปลายท่อนพวงมาลัยไว้ ท่อนพวงมาลัยวกขึ้นด้านบนและโค้งลงที่ปลายทับหลังทั้งสองข้าง เหนือท่อนพวงมาลัยมีลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมตั้งขึ้นด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นลายใบไม้ม้วนห้อยตกลงมา เป็นรูปแบบของศิลปะเขมรแบบบาปวน (พ.ศ.1560 – พ.ศ.1630)

         ทับหลังชิ้นที่ 2 ทับหลังชิ้นนี้ภาพสลักค่อนข้างชำรุดและลบเลือนไปมาก จนไม่สามารถศึกษาได้ชัดเจนว่าเป็นภาพสลักของเทพองค์ใดหรือเรื่องราวอะไร บริเวณกลางแผ่นทับหลังสลักลวดลายเป็นรูปบุคคลประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาภายในซุ้มเรือนแก้วเหนือสัตว์พาหนะคล้ายโค และมีบุคคลนั่งประกบอยู่ด้านข้างทั้งสองข้าง ด้านล่างต่อจากสัตว์พาหนะเป็นหน้ากาลซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกจากด้านล่างของ ทับหลัง มือสองข้างของหน้ากาลจับปลายท่อนพวงมาลัยไว้ และมีสัตว์คล้ายสิงห์ยืนอยู่ใกล้กับมือของหน้ากาลทั้งสองข้าง สัตว์คล้ายสิงห์อยู่ในท่ายืนหันหน้าออกด้านข้าง ตัวหนึ่งหันออกไปทางด้านซ้าย ตัวหนึ่งหันออกไปทางด้านขวา ทั้งสองตัวยกขาหน้าชูประคองท่อนพวงมาลัยเอาไว้ ท่อนพวงมาลัยวกขึ้นด้านบนและโค้งลง ที่ปลายทับหลังทั้งสองข้าง เหนือท่อนพวงมาลัยมีลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมตั้งขึ้นด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นลายใบไม้ม้วนห้อยตกลงมา เป็นรูปแบบของศิลปะเขมรแบบบาปวน (พ.ศ.1560 – พ.ศ.1630)

          ทับหลังชิ้นที่3 ทับหลังชิ้นนี้ ยังไม่สามารถศึกษาได้ชัดเจนว่าเป็นภาพสลักของเทพองค์ใดหรือเรื่องราวอะไร บริเวณกลางแผ่นทับหลังสลักลวดลายเป็นรูปบุคคลสองคนยืนคู่กันภายในซุ้มเรือนแก้วเหนือสัตว์พาหนะคล้ายโค บุคคลสองคนยืนคู่กัน อยู่ในท่ายืนเอาข้างลำตัวชิดกัน มือประคองกอดเอวกันไว้ ทั้งสองคนยกแขนชูมือที่เหลืออีกข้างหนึ่งขึ้น คนที่อยู่ด้านขวามือยกแขนขวา คนที่อยู่ด้านซ้ายมือยกแขนซ้าย ด้านข้างของสัตว์พาหนะมีสัตว์คล้ายสิงห์ยืนอยู่ สัตว์คล้ายสิงห์อยู่ในท่ายืนหันหน้าออกด้านข้าง ตัวหนึ่ง หันออกไปทางด้านซ้าย ตัวหนึ่งหันออกไปทางด้านขวา ทั้งสองตัวยกขาหน้าชูประคองท่อนพวงมาลัยเอาไว้ ท่อนพวงมาลัยวกขึ้นด้านบนและโค้งลงที่ปลายทับหลังทั้งสองข้าง เหนือท่อนพวงมาลัยมีลายใบไม้ รูปสามเหลี่ยมตั้งขึ้นด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นลายใบไม้ม้วนห้อยตกลงมา เป็นรูปแบบของศิลปะเขมรแบบ บาปวน (พ.ศ.1560 – พ.ศ.1630) ภาพสลักของทับหลังชิ้นนี้ สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า อาจเป็นพระกฤษณะยืนคู่กับพระพลราม หรืออาจเป็นพระกฤษณะต่อสู้กับกับนักมวยปล้ำชื่อจาณูระ ในเรื่องมหาภารตะ

          ทับหลังชิ้นที่4 ทับหลังชิ้นนี้แตกหักออกเป็น 2 ท่อน ภาพสลักค่อนข้างชำรุดและลบเลือนไปมาก จนไม่สามารถศึกษาได้ชัดเจนว่าเป็นภาพสลักของเทพองค์ใดหรือเรื่องราวอะไร ภาพสลักที่พบบริเวณกลางแผ่นทับหลังสลักลวดลายเป็นรูปบุคคลอย่างน้อย 3 คน นั่งอยู่แท่นเหนือหน้ากาล ซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกจากด้านล่างของทับหลัง มือสองข้างของหน้ากาลจับปลายท่อนพวงมาลัยไว้ ท่อนพวงมาลัยวกขึ้นด้านบนและโค้งลงที่ปลายทับหลังทั้งสองข้าง เหนือท่อนพวงมาลัยมีลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมตั้งขึ้นด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นลายใบไม้ม้วนห้อยตกลงมา เป็นรูปแบบของศิลปะเขมรแบบบาปวน (พ.ศ.1560– พ.ศ.1630)

          จากรูปแบบแผนผังของปราสาทนางบัวตูม ประกอบกับรูปแบบทางศิลปกรรมของทับหลังที่พบ สามารถกำหนดอายุเบื้องต้นปราสาทนางบัวตูมได้ว่า มีการสร้างและใช้ประโยชน์ใน ช่วงพุทธศตวรรษที่16ถึง17 ตามรูปแบบของศิลปะเขมรแบบบาปวน ในวัฒนธรรมเขมร ส่วนคติความเชื่อด้านศาสนาที่สัมพันธ์กับปราสาทนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากยังค้นพบหลักฐานไม่ครบถ้วนที่จะศึกษาได้ ถึงแม้ว่าจากสภาพปัจจุบัน ปราสาทนางบัวตูมจะมีปราสาทสามหลังตั้งอยู่ แต่โดยปกติแล้วปราสาทหินในวัฒนธรรมเขมรจะมีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีก เช่น โคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้า วิหารหรือบรรณาลัย แนวกำแพงล้อมรอบปราสาท และอาจจะมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก

          สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำแผนงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานปราสาทนางบัวตูม ต่อไปในอนาคต การดำเนินงานขุดค้น – ขุดแต่งโบราณสถาน เพื่อเป็นการศึกษาข้อมูลของโบราณสถาน ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน และนำไปสู่การบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ของโบราณสถาน จะทำให้ปราสาทนางบัวตูม มีคุณค่า เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและแหล่งศึกษาหาความรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์


-----------------------------------------------------------
ข้อมูลโดย นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา
-----------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=251314596362928&id=106684024159320¬if_id=1611711849488567¬if_t=page_post_reaction&ref=notif

(จำนวนผู้เข้าชม 637 ครั้ง)


Messenger