...

พิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาส ๑๑๐ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร

          วันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ครบรอบ ๑๑๐ ปี (๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔) และมอบรางวัลให้แก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น และผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในสังกัดกรมศิลปากร โดยมี นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าร่วมในพิธี ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร






          นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ เพื่ออนุรักษ์ คุ้มครอง สร้างสรรค์ และสืบทอดงานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบมาจนบัดนี้ นับเป็นเวลา ๑๑๐ ปี ที่กรมศิลปากร ได้ดำรงหน้าที่ในการบริหารจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งในด้านการอนุรักษ์ คุ้มครอง สืบทอด ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สร้างสรรค์ และเผยแพร่งานที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เอกสารโบราณ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม จารีตประเพณี ศิลปกรรมแขนงต่างๆ ตลอดจนงานด้านนาฏศิลป์และดนตรีอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด มีเป้าหมายในการขับเคลื่อน งานด้านมรดกวัฒนธรรมของชาติ ได้รับการพัฒนาสร้างสรรค์บนหลักความถูกต้องทางวิชาการ มีคุณภาพและมาตรฐาน สังคมและประเทศชาติได้ประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษา การเรียนรู้ และด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สำคัญให้กับชุมชนและประเทศชาติ







          ปัจจุบันกรมศิลปากร เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจหลัก ๔ ด้าน ได้แก่ ด้าน โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ ด้านนาฏดุริยางคศิลป์ ด้านภาษา เอกสารและหนังสือ ด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม แบ่งส่วนราชการเป็น สำนักบริหารกลาง สำนักการสังคีต กองโบราณคดี กองโบราณคดีใต้น้ำ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักช่างสิบหมู่ สำนักสถาปัตยกรรม สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม สำนักศิลปากรที่ ๑ – ๑๒ และหน่วยงานขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมศิลปากร ๒ หน่วยงาน คือ กลุ่มตรวจสอบภายใน และกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
          กรมศิลปากร ตระหนักถึงภาระหน้าที่ในการทำนุบำรุง สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ และ การสนองงานรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานในการธำรงรักษาจารีตประเพณี การอนุรักษ์ บำรุงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยี และสร้างสรรค์ต่อยอด เพิ่มคุณค่ามรดกศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนถ่ายทอดเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชน อันจะส่งผลให้มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป




(จำนวนผู้เข้าชม 4500 ครั้ง)