...

เปิดศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี สร้างมาตรฐานระดับสากล
          วันศุกร์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วย รัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี โดยมีนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ร่วมในพิธี












          กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อเพิ่มศักยภาพ อำนวยความสะดวกในการให้บริการ และเตรียมความพร้อมสู่การยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานในระดับสากล ในฐานะแหล่งมรดกโลกในอนาคต ภายในอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจัดแสดงเนื้อหาพัฒนาการด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อและศาสนาของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาทและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งมีห้องให้บริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอีกด้วย สำหรับห้องจัดแสดงแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน ประกอบด้วย
          ๑. ส่วนจัดแสดง ธรรมชาติบนภูพระบาท ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่พบในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจในด้านธรรมชาติบนภูพระบาทคือ การค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลก ซึ่งปรากฏบนภูพระบาทแห่งเดียวเท่านั้นคือ “ต้นครามอุดร” และ “ต้นมุกอุดร”
          ๒. ส่วนจัดแสดง ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรณีสัณฐานของเทือกเขา ภูพานซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้เข้าใจลักษณะภูมิลักษณ์อันน่าอัศจรรย์ของโขดหิน เพิงหินที่ปรากฏบน ภูพระบาท
          ๓. ห้องจัดแสดง ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนับถือพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏ หลักฐานทางโบราณคดีบนภูเขาภูพระบาท เช่น การสกัดเพิงหินธรรมชาติเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา โดยภายใน ศาสนสถานนั้นยังปรากฏการสกัดเพิงหินให้เป็นพระพุทธรูปมีพุทธลักษณะเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะทวารวดีและศิลปะเขมรโบราณ
          ๔. ส่วนจัดแสดง ห้อง MIXED REALITY ROOM แสดงข้อมูลทางด้านโบราณคดีของภูพระบาท ผ่านสื่อผสมผสาน ด้วยเทคโนโลยี VR (Virtual reality) หรือเทคโนโลยีความจริงเสมือน AR (Augmented reality) หรือเทคโนโลยีความจริงเสริม และ MR (Mixed reality) หรือเทคโนโลยีความจริงผสม ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำเสนอข้อมูลได้น่าตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง
          ๕. ส่วนจัดแสดง ห้องพระเกจิอาจารย์สำคัญของภาคอีสาน ให้ข้อมูลประวัติหลักธรรมคำสอน ของพระเกจิสำคัญๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของภาคอีสาน
          ๖. ส่วนจัดแสดง ห้องชาติพันธุ์ไทพวน ให้ข้อมูลด้านชาติพันธุ์ไทพวน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ของอำเภอบ้านผือ อันเป็นที่ตั้งของภูพระบาท ทั้งนี้ ชาวไทพวนเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากฝากฝั่งของลาวยังสยาม และอยู่อาศัยทำมาหากินจนกระทั่งปัจจุบัน














          อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาพบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุได้ราว ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า ๕๔ แห่งบนภูเขาลูกนี้ พบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๔ จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๕ ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น ๗๘ แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ เช่น หอนางอุสา วัดพ่อตา ถ้ำพระ








(จำนวนผู้เข้าชม 1456 ครั้ง)


Messenger